มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute Lymphoblastic Leukemia: ALL)

สารบัญ

บทนำ

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia หรือ ลิวคีเมีย) เป็นมะเร็งของไขกระดูก มีหลายชนิด แต่แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟซิติค (Lymphocytic leukemia) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มมัยอีโลจีนัส (Myelogenous leukemia) ซึ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มยังแบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน (Acute) และชนิดเรื้อรัง (Chronic)

ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดเท่านั้น ซึ่ง คือ มะ เร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟซิติคชนิดเฉียบพลัน ที่เรียกทางแพทย์ว่า Acute Lymphoblastic Leu kemia แต่นิยมเรียกชื่อย่อของโรค คือ โรคเอแอลแอล(ALL) ซึ่งในบทนี้ต่อไป ขอเรียกโรคนี้ว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลคืออะไร?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลเป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนจากไขกระดูก มากกว่าปกติอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติได้ และยังลดการสร้างเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดลงอีกด้วย ดังนั้น อาการของโรคจึงเกิดจากความผิดปกติของทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลมักพบในใคร?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลเป็นมะเร็งที่พบมากในเด็ก (เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของเด็ก ประมาณ 70%ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กทั้งหมด) โดยพบในเด็กชายมากกว่าในเด็ก หญิง ทั้งนี้ โรคนี้พบได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่พบได้บ่อยที่สุด คือ ช่วงอายุ 2-5 ปี

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล?

สาเหตุเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล ยังไม่ทราบ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลในเด็ก ที่สำคัญ แบ่งได้เป็น 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ

  • ปัจจัยทางกรรมพันธุ์
    • ในฝาแฝดที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล โดยเฉพาะเป็นโรคตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้อีกคนหนึ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ 25%
    • ครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าเด็กทั่วๆไป 2-4 เท่า
    • เด็กที่มีความผิดปกติของโครโมโซม (ลักษณะทางพันธุกรรม) เช่น เด็กที่เป็นโรคปัญญาอ่อนดาวน์ ( Down’s syndrome) มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลสูงกว่าเด็กทั่วๆไป 15 เท่า
  • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม
    • ได้รับรังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation เป็นรังสีใช้ในการตรวจและรักษาโรค)ปริมาณสูง เช่น เด็กที่ได้รับรังสีนี้ขณะอยู่ในครรภ์ จากการตรวจโรคของมารดา
    • รังสีจากสารกัมมันตรังสีที่ได้รับในปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ไขกระดูก เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี ความเสียหายบางอย่างอาจขยายตัวขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นมะ เร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ได้ เช่น ได้รับรังสีจากระเบิดปรมาณูในขณะที่อยู่ในครรภ์ เพราะพบผู้ป่วยมากขึ้นหลัง จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการใช้ระเบิดปรมาณู
    • อาจจากได้รับสารเคมีต่างๆที่เป็นพิษจากสิ่งแวดล้อม ถึงแม้การศึกษายังระบุชนิดไม่ได้ชัดเจน รวมทั้งอาจจากควันบุหรี่
    • เด็กที่เป็นมะเร็งและได้รับยาเคมีบำบัด และรอดชีวิตเกินกว่า 2 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลได้สูงกว่าเด็กทั่วๆไป 14 เท่า
  • ปัจจัยจากภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
    • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องแต่กำเนิด มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลได้สูงกว่าเด็กทั่วๆไป
    • ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคมีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันได้สูงกว่าเด็กทั่วๆไป
    • ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) หรือ ไว รัส เอชไอวี(HIV) มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลได้สูงกว่า
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลมีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการที่พบได้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลนั้น สามารถแบ่งกลุ่มอาการออก เป็น 4 กลุ่มอาการ คือ

  • อาการทั่วๆไป ที่พบบ่อย คือ
    • ไข้ โดยไม่รู้สาเหตุ เป็นได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ แต่มักเป็นไข้สูง
    • อ่อนเพลีย
    • ซีด
    • เบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลด
    • ปวดข้อ, ปวดกระดูก
  • อาการที่เกิดจากการทำงานของไขกระดูกผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์มะเร็งไปเบียดบังและขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดปกติอื่นๆภายในไขกระดูก (เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ และเกล็ดเลือด)
    • มีภาวะซีด ทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว
    • มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ ติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย เพราะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
    • มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกผิดปกติ ที่ผิวหนังเป็นจุดแดงเล็ก ๆคล้ายในไข้เลือดออก กระจายได้ทั่วตัว หรือเป็นจ้ำเลือด/ห้อเลือด ซึ่งมักเกิดง่ายกว่าปกติ มีเลือดออกตามไรฟัน บางรายอาจมีเลือดออกตามเยื่อบุต่างๆ หรือในอวัยวะภายใน หรือ เกิดเลือดกำเดาบ่อย ทั้งนี้เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยการแข็งตัวของเลือด และป้องกันเลือดออกง่ายผิดปกติ
  • อาการเกิดจากมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว แพร่กระจายไปสะสมในระบบน้ำ เหลืองของร่างกาย เช่น
    • ต่อมน้ำเหลืองโตตามบริเวณต่างๆในร่างกาย
    • ตับและม้ามโต คลำได้ (ปกติจะคลำไม่ได้)
  • อาการที่เกิดจากมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว แพร่กระจายไปสะสมในอวัยวะต่างๆอื่นๆนอกเหนือจากในระบบน้ำเหลือง เช่น
    • สมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ชักกระตุก เดินเซ แขนขาอ่อนแรง หรือในบางรายอาจมีอาการกินมากขึ้น อ้วนและเกิดโรคเบาจืด (ปัสสาวะมากผิดปกติ)ได้
    • ลูกอัณฑะ ทำให้ลูกอัณฑะโต ใหญ่ผิดปกติ แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวด
    • เนื้อเยื่อในช่องอก ทำให้เกิดก้อนเนื้อในช่องอกซึ่งอาจพบได้จากเอกซเรย์ปอด หรือในบางรายที่มีอาการ อาจมีอาการหายใจแน่น หายใจลำบาก จากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ จนเบียดปอดทำให้มีปัญหาต่อการหายใจ
    • ไต ทำให้ไตมีขนาดใหญ่ขึ้น และอาจส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง
    • ปอด อาจทำให้มีลักษณะคล้ายกับการอักเสบติดเชื้อของปอด (มีไข้ ไอ หอบ เหนื่อย)
    • ลำไส้ โดยมักพบในลำไส้ใหญ่มากกว่าลำไส้ส่วนอื่นๆ ทำให้ผนังของลำไส้ทะ ลุ ผู้ป่วยจึงอาจมีเลือดออกในช่องท้องได้ (ปวดท้องมาก และซีดอย่างรวดเร็ว)

อนึ่ง อาการสำคัญที่พบได้บ่อยและทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือ อาการซีด มีไข้สูง เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น เหงือก และมีเลือดกำเดา ปวดข้อ ปวดกระดูกจนเดินไม่สะดวก มีก้อนที่คอหรือในท้อง อาการเหล่านี้จะมีมาเป็นสัปดาห์ หรือ อาจเป็นเดือน และอาจพบอาการอื่นๆร่วมด้วยได้ คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง และท้องโตขึ้นจากมี ตับ และม้ามโต

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล ได้จาก

  • ประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบ มีไข้ ซีด ต่อมน้ำเหลือง ไต ตับ หรือม้ามโต อัณฑะบวม ปวดกระดูกหรือข้อ มีเลือดออกผิดปกติ มีจุดเลือดออก หรือ ห้อเลือดตามตัว
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ซึ่งมักพบว่า ผู้ป่วยประมาณ 80% มีภาวะโลหิตจาง และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำกว่ากว่าปกติ นอกจากนั้นผู้ป่วยประมาณ 90% จะมีเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ
  • การตรวจไขกระดูก ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลให้แน่นอนนั้น จำเป็นต้องเจาะไขกระดูก และนำเนื้อเยื่อไขกระดูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยา ซึ่งการตรวจนี้ มีความสำคัญและจำเป็นต้องทำเนื่องจากทำให้สามารถบอกความรุนแรงโรคได้ และเพื่อใช้เลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
    • ดูการทำงานของไต เพราะอาจมีการทำงานของไตผิดปกติ
    • ดูการทำงานของตับ เพราะอาจมีการทำงานของตับผิดปกติ
    • ดูระดับสารมะเร็ง ของโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เช่น แอลดีเอช(LDH) ซึ่งช่วยบอกความรุนแรงของโรค
    • ดูระดับกรดยูริค (Uric acid) เพราะอาจมีระดับกรดยูริคสูงขึ้นได้มาก ซึ่งจะส่ง ผลต่อการทำงานของไตได้
    • ดูระดับเกลือแร่ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม ซึ่งอาจมีระดับของสารต่างๆสูงขึ้น ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายได้
  • เอกซเรย์ปอด ประมาณ 5-10% ของผู้ป่วยอาจพบว่ามีก้อนเนื้อในช่องอกได้
  • เจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจเพิ่มเติม ในผู้ป่วยที่สงสัยการแพร่กระจายของเซลล์มะ เร็งเข้าสู่สมอง และ/หรือ ไขสันหลัง
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูสภาพร่างกายทั่วไปก่อนรับการรักษา
  • ตรวจพันธุกรรม (จีน หรือ ยีน หรือ gene ต่อไปใช้คำว่า จีน) ซึ่งสามารถช่วยแยกชนิดย่อยของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล และบอกความรุนแรงของโรคได้ และยังมีประโยชน์ในการตรวจติดตามผู้ป่วยหลังการรักษาได้อีกด้วย ซึ่งกรณีนี้สามารถใช้ติดตามโรคได้เฉพาะผู้ป่วยมีความผิดปกติของจีนนี้เท่านั้น
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลมีกี่ระยะ?

ไม่มีการจัดระยะโรคในมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด รวมทั้งชนิดเอแอลแอล เพราะเป็นโรคเกิดในไขกระดูกทั่วตัว ดังนั้น เมื่อเกิดโรค โรคจึงเกิดทั่วตัว แต่แบ่งโรคเป็นกลุ่มมีความรุน แรงโรคปานกลาง และกลุ่มมีความรุนแรงโรคสูง โดยดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ เพศ ปริมาณเม็ดเลือดต่างๆที่ตรวจพบในครั้งแรก และการมีความผิดปกติทางพันธุกรรม

รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลอย่างไร?

ในการดูแลรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลนั้นต้องพิจารณาจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน เช่น สภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วย ปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค ความร่วมมือของผู้ดูแลในการนำผู้ป่วยมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้น แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • การรักษาประคับประคอง เป็นการรักษาที่มีความสำคัญอย่างมากตั้งแต่ระยะแรก เพราะช่วงแรกที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยนั้น ผู้ป่วยมักมีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ซีด อ่อนเพลีย อาจมีเลือดออก มีไข้สูง มีอาการของโรคติดเชื้อ หายใจลำบาก ขาดน้ำ และ/หรือ มีการทำงานของไตผิดปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการรักษาภาวะวิกฤตต่างๆเหล่า นี้ให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร้อมก่อนการส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมที่จะให้การรักษาโรคนี้ต่อไป เพราะการให้ยาเคมีบำบัดในระยะแรกนี้ ทำให้เกิดผลกระทบจากฤทธิ์ของยาได้หลายอย่างและอาจรุนแรง
  • การรักษาจำเพาะ เป็นการรักษาที่ใช้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก โดยมีการให้ยาเคมีบำบัดที่ประกอบด้วยยาหลายชนิด ให้ในขนาดและเวลาต่างๆกัน ซึ่งการรักษาโรคนี้ แบ่งได้เป็น 4 ระยะ (ทุกระยะเป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดต่างๆ มีทั้งฉีดเข้าหลอดเลือดดำ กิน และฉีดเข้าทางน้ำไขสันหลัง) คือ
    • ระยะชักนำให้โรคสงบ (Induction of Remission) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้มากที่สุดในเวลาอันรวดเร็วที่สุด เพื่อให้ไขกระดูกสามารถกลับมาสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติได้เหมือนเดิม
    • ระยะรักษาเข้มข้น (Intensification or Consolidation Therapy) เป็นการให้ยาเคมีบำบัดอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด
    • ระยะป้องกันเกิดโรคในสมอง (CNS Prophylaxis or Pre symptomatic CNS Therapy) เพื่อป้องกันการเกิดโรคในตำแหน่งที่ยาเคมีบำบัดเข้าถึงได้ยาก คือ สมองนั่นเอง ซึ่ง อาจเป็นการฉายรังสีบริเวณสมอง และ/หรือ ยาเคมีบำบัด ร่วมกับให้ยาเคมีบำบัดทางน้ำไขสันหลัง ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาล
    • ระยะรักษาเพื่อควบคุมให้โรคสงบตลอดไป (Maintenance Therapy) ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ให้สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง (ที่อาจยังหลงเหลืออยู่) ให้มากที่สุด หลังจากที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโรคสงบแล้ว

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่โรคอยู่ในภาวะสงบแล้วหลังให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจนครบ จะพบ ว่ามีประมาณ 30-35% ของผู้ป่วยมีโอกาสย้อนกลับเป็นโรคอีก โดยส่วนใหญ่(85%)เกิดขึ้นที่ไขกระดูก (บางรายเกิดขึ้นที่สมองร่วมด้วย) ประมาณ 15% เกิดในสมอง และประมาณ 5% เกิดในอัณฑะ ซึ่งการรักษาจะแตกต่างกัน ดังนี้

  • โรคกลับเป็นใหม่ในไขกระดูก อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดอีกครั้ง ร่วมกับอาจพิจารณาทำการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • โรคกลับเป็นใหม่ในสมอง อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดเข้าทางน้ำไขสันหลังร่วม กับการพิจาณาให้การฉายรังสีที่ศีรษะ และอาจครอบคลุมไขสันหลัง ในผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีมาก่อน
  • โรคกลับเป็นใหม่ที่ลูกอัณฑะ อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีบริเวณลูกอัณฑะทั้ง 2 ข้าง
 

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

  • ผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง การทำงานของตับผิดปกติ เม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา) เป็นหมัน มีแผลในกระเพาะอาหาร หน้าอ้วนมากขึ้น (จากยารัก ษาชนิดสเตียรอยด์) และกระดูกพรุน(จากยารักษาชนิดสเตียรอยด์)
  • ผลข้างเคียงจากการให้รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณสมอง (ผล ข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง)
  • ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายไขกระดูก คือ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ มีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีโอกาสเลือดออกผิดปกติได้ง่าย
  • อื่นๆ นอกจากนั้น ยังอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาวได้ หากผู้ป่วยรอดชีวิตและอยู่ได้นานมากขึ้นหลายๆปี คือ
    • ผลต่อระบบประสาท ที่เกิดจากการฉายรังสีที่ศีรษะและให้ยาเคมีบำบัดทางน้ำไขสันหลัง ที่อาจพบได้ คือ ระดับสติปัญญาอาจต่ำลง อาจมีอารมณ์แปรปรวน
    • อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบฮอร์โมนต่างๆ ที่พบบ่อย คือ อาจตัวเตี้ยกว่าปกติ หรือ อาจเกิดโรคอ้วน
    • มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดที่ 2 (มะเร็งชนิดใหม่อีกชนิดหนึ่ง) เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกชนิด หรือ เนื้องอกของสมอง
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลเป็นโรครุนแรงไหม?

ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล ที่ไม่ได้รับการรักษามักจะถึงแก่กรรมอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากเกิดภาวะไขกระดูกล้มเหลวทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง และ/หรือมีเลือดออกรุนแรงในอวัยวะที่สำคัญ

ส่วนผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม มีโอกาสเข้าสู่ภาวะโรคสงบ (อัตรารอดที่ 5 ปี) ประมาณ 70-85% แต่ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ อัตรารอดที่ 5 ปี ประมาณ 20-50% (ผู้ใหญ่ โรครุน แรงกว่าในเด็ก) ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ขึ้นกับ อายุของผู้ป่วย (เด็กทารก และผู้ใหญ่ ความรุนแรงโรคสูง) จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดเมื่อแรกวินิจฉัย(เมื่อผิดปกติมาก ความรุนแรงโรคสูง) และความผิดปกติทางพันธุกรรม (ความรุนแรงโรคสูง เมื่อมีความผิดปกติ)

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอลไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด รวมทั้งชนิด เอแอลแอลให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าว จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย และรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอแอลแอลได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ควันบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในบทความการดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

Updated 2013, July 15