มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล หรือ เอเอ็นแอลแอล (Acute Myelogenous Leukemia : AML หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia : ANLL)

สารบัญ

บทนำ

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia หรือ ลิวคีเมีย) เป็นมะเร็งของไขกระดูก มีหลายชนิด แต่แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่ม ลิมโฟซิติค (Lymphocytic leukemia) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มมัยอีโลจีนัส (Myelogenous leukemia) ซึ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งสองกลุ่ม แต่ละกลุ่มยังแบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน (Acute) และชนิดเรื้อรัง (Chronic)

ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลจีนัสชนิดเฉียบพลัน ที่เรียกทางแพทย์ว่า Acute Myelogenous Leukemia หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia แต่นิยมเรียกชื่อย่อของโรค คือ โรคเอเอ็มแอล หรือ โรคเอเอ็นแอลแอล (AML or ANLL) ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดพบบ่อยอีกชนิดหนึ่ง แต่พบได้น้อยกว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(ALL) มาก และในบทนี้ต่อไป ขอเรียกโรคนี้ว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาว เอเอ็มแอล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลคืออะไร ?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันอีกกลุ่ม ที่เกิดจากตัวอ่อนของไขกระดูก ชนิดเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ที่ต่างจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (ALL) โดยมีการเจริญเติบโต รวดเร็วผิดปกติของเซลล์ตัวอ่อนเหล่านี้ จนเข้าไปแทน ที่เซลล์สร้างเม็ดเลือดปกติอื่นๆของไขกระดูก จึงส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติได้ และยังลดการสร้างเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดลงอีกด้วย อาการของโรคจึงเกิดจากความผิดปกติของทั้ง เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลมักพบในใคร ?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล พบได้ประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยเด็กทั้งหมดที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งในช่วงอายุ 4 สัปดาห์แรกหลังคลอด ถ้าพบเด็กเป็นมะเร็งเม็ดเลือด มักจะพบเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ และจะพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น เอเอ็มแอล จึงจัดเป็นโรคพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก (ในเด็กมักเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล) โดยพบสูงในอายุตั้ง แต่ 60 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง ทั้งนี้มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในผู้ใหญ่ 80-90% จะเป็นชนิดเอเอ็มแอล

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล ?

ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม
    • เด็กที่เป็นโรคปัญญาอ่อนดาวน์ (Down’s syndrome) ซึ่งเป็นโรคผิดปกติทางพันธุกรรม โดยเมื่อแรกเกิด เด็กอาจมีเซลล์ไขกระดูกเจริญผิดปกติ ทำให้ลักษณะทางคลินิกและโลหิตวิทยาเหมือนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่แรกเกิด (Congenital leukemia) แต่ภาวะนี้สามารถหายได้เองในระยะเวลา 1-2 เดือนเท่านั้น ยกเว้นในบางรายจะกลายไปเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล ในช่วงเวลาไม่เกิน 1 ปีต่อมา
    • เด็กที่มีความผิดปกติของโครโมโซม (สารทางพันธุกรรม) บางชนิด โดยเฉพาะ โรคทางพันธุกรรมชนิด Bloom's syndrome และชนิด Fanconi's anemia มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลได้สูงกว่าเด็กปกติ
    • ในฝาแฝดที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเอเอ็มแอล จะพบว่าพี่น้องของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไปเช่นกัน
  • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม
    • ได้รับรังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation เป็นรังสีใช้ในการตรวจและรักษาโรค) ปริมาณสูง เช่น เด็กที่ได้รับรังสีนี้ขณะอยู่ในครรภ์ จากการตรวจโรคของมารดา
    • รังสีจากสารกัมมันตรังสีที่ได้รับในปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสียหายกับหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ไขกระดูก เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี ความเสียหายบางอย่าง อาจขยายตัว ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ได้
    • การสัมผัสสารเคมีที่เป็นพิษ โดยเฉพาะกลุ่มของเบนซีน (Benzene)
    • เด็กที่เป็นมะเร็งและได้รับยาเคมีบำบัด เมื่อรอดชีวิตเกิน 4-5 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ได้ แต่หลังจากได้รับยาเกิน 10-12 ปี แล้วจะพบว่ามีอัตราเสี่ยงน้อยลง
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้ในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอาการ คือ

  • อาการทั่วๆไปที่พบบ่อย คือ
    • มีไข้ โดยไม่รู้สาเหตุ มักเป็นไข้สูง
    • อ่อนเพลีย
    • ซีด
    • เบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลด
    • ปวดข้อ ปวดกระดูก
  • อาการเกิดจากการทำงานของไขกระดูกผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์มะเร็งเบียดบังและขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดปกติอื่นๆภายในไขกระดูก (เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด) คือ
    • ภาวะซีด ทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลีย ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว ในบางรายที่มีภาวะซีดมากอาจมีอาการหอบเหนื่อยและหัวใจวายได้
    • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ ติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย เพราะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
    • มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกผิดปกติที่ผิวหนังเป็นจุดแดงเล็กๆคล้ายในไข้เลือดออก กระจายได้ทั่วตัว หรือเป็นจ้ำเลือด/ห้อเลือด ซึ่งเกิดได้ง่ายกว่าปกติ หรือมีเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดาไหลบ่อย ทั้งนี้เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ป้องกันภาวะเลือดออกง่าย
  • อาการเกิดจากมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแพร่กระจายสะสมในระบบน้ำเหลืองของร่างกาย เช่น
    • ตับและม้ามโต คลำได้ (ปกติจะคลำไม่ได้) พบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วย
    • ต่อมน้ำเหลืองโตตามบริเวณต่างๆในร่างกาย พบได้ประมาณ 25% ของผู้ป่วย
  • อาการจากการมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแพร่กระจายสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่น
    • บริเวณเนื้อเยื่อหุ้มสมอง ในเบ้าตา และที่เหงือก ทำให้เกิดก้อนคล้ายก้อนเนื้องอก พบได้ในทุกอายุ แต่มักพบในผู้ป่วยเด็กเล็ก
    • ในสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตากลัวแสง ตาพร่ามัว และอาจมีความผิดปกติของประสาทสมอง เช่น หน้าเบี้ยว หรือ ตาเหล่ได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี และมีเม็ดเลือดขาวในปริมาณสูงมาก
    • ในผิวหนัง ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ผิวหนัง มักเกิดได้หลายๆจุด และมีขนาดต่างๆ กัน ก้อนเนื้ออาจไม่มีสี หรือมีสีม่วงเล็กน้อย พบได้ในทุกอายุ แต่มักพบในเด็กแรกเกิด
 

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลได้อย่างไร ?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล ได้จาก

  • อาการผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีภาวะติดเชื้อ และมีเลือดออกผิดปกติ การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ซึ่งมักพบว่า ผู้ป่วยมีจำ นวนเม็ดเลือดขาวสูง หรือต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้ ประมาณ 25% ของผู้ป่วย มักมีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติมาก มีภาวะโลหิตจาง นอกจากนั้น ผู้ป่วยประมาณ 50% จะมีเกล็ดเลือดต่ำมาก
  • การตรวจไขกระดูก ด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งมีความสำคัญ และจำเป็น เพราะนอกจากเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคแล้ว ยังเป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค (การพยากรณ์โรค) และใช้เป็นข้อบ่งชี้เลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น
    • ดูการทำงานของไต เพราะผู้ป่วยอาจมีการทำงานของไตผิดปกติ ซึ่งจะเป็นอุป สรรคต่อการให้ยาเคมีบำบัด
    • ดูการทำงานของตับ อาจมีการทำงานของตับผิดปกติได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการให้ยาเคมีบำบัดเช่นกัน
    • ดูระดับสารมะเร็งของโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เช่น แอลดีเอช (LDH) ซึ่งเป็นตัวบอกความรุนแรงของโรค
    • ดูระดับกรดยูริค (Uric acid) เพราะอาจมีระดับกรดยูริคสูงขึ้นได้มาก ซึ่งจะส่ง ผลต่อการทำงานของไตได้
    • ดูระดับเกลือแร่ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม อาจมีระดับของสารเหล่านี้สูงขึ้น ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ เป็นอุปสรรคต่อการรัก ษาได้เช่นกัน
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและปอด
  • เจาะน้ำไขสันหลัง ในผู้ป่วยที่สงสัยการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเข้าสู่สมอง และ/หรือ ไขสันหลัง
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูสภาพร่างกายทั่วไปก่อนรับการรักษา เพราะยาเคมีบำ บัดบางชนิดมีผลข้างเคียงต่อหัวใจได้
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลมีกี่ระยะ ?

ไม่มีการจัดระยะโรคในมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด รวมทั้งชนิดเอเอ็มแอล เพราะเป็นโรคเกิดในไขกระดูกทั้งตัว ดังนั้นเมื่อเกิดโรค โรคจึงเกิดทั่วตัว แต่แบ่งโรคเป็นกลุ่มมีความรุนแรงโรคปานกลาง และกลุ่มมีความรุนแรงโรคสูง โดยดูจากปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะของไขกระดูก และปริมาณเม็ดเลือดจากการตรวจซีบีซีในครั้งแรก

รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลอย่างไร ?

ในการดูแลรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลนั้น ต้องพิจารณาจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน เช่น สภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วย ปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค ความร่วมมือของผู้ดูแลในการนำผู้ป่วยมาตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ การดูแลรักษาผู้ป่วยแบ่งได้เป็น 2 หลักสำคัญ คือ

  • การรักษาประคับประคอง เป็นการรักษาที่มีความสำคัญอย่างมากตั้งแต่ระยะแรก เพราะช่วงแรกที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยนั้น ผู้ป่วยมักมีความผิดปกติหลายอย่างในร่างกาย เช่น ซีด อ่อนเพลีย อาจมีเลือดออก มีไข้สูง มีอาการของโรคติดเชื้อ หาย ใจลำบาก ขาดน้ำ และ/หรือมีการทำงานของไตผิดปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการรักษาภาวะวิกฤตต่างๆเหล่านี้ให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร้อมก่อนการส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมที่จะให้การรักษาจำเพาะต่อไป เพราะการให้ยาเคมีบำบัดในระยะแรกนี้ ทำให้เกิดผลกระทบจากฤทธิ์ของยาเคมีบำ บัดได้หลายอย่างและอาจรุนแรง
  • การรักษาจำเพาะ เป็นการรักษาที่ใช้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก โดยมีการให้ยาเคมีบำ บัดที่ประกอบด้วยยาหลายชนิดให้ในขนาดและเวลาต่างๆกัน ซึ่งแบ่งการรักษาได้เป็น 3 ระยะ คือ
    • ระยะชักนำให้โรคสงบ (Induction of Remission) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้มากที่สุดในเวลาอันรวดเร็วที่สุด และทำให้ไขกระดูกสามารถกลับมาสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติได้เหมือนเดิมโดยเร็ว โดยมีหลักสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
      • การใช้ยาต้านมะเร็งหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งได้ผลดีกว่าใช้ยาอย่างเดียว
      • ขนาดของยาที่ใช้ต้องสูงพอที่จะทำลายเซลล์มะเร็งในไขกระดูกได้ดี แต่ขณะเดียวกัน ต้องลดโอกาสทำลายเซลล์ไขกระดูกปกติให้น้อยที่สุด
    • ระยะรักษาหลังจากโรคสงบ (Postremission or Continuation therapy) เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังจากโรคสงบ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคย้อนคืนกลับมาอีก ดัง นั้นจึงต้องให้การรักษาต่อไปอีก 2.5-3 ปี ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นกับตารางการรักษาของแต่ละโรงพยาบาล เช่น
      • การรักษาเพื่อคงให้ไขกระดูกอยู่ในภาวะปลอดโรค (Maintenance The rapy) เป็นการให้ยาเคมีชนิดเดียวกับระยะชักนำให้โรคสงบ แต่ใช้ปริมาณยาน้อยกว่าแต่ให้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
      • การรักษาเพื่อควบคุมให้โรคทุกจุดสงบ (Consolidation Therapy) เป็นการให้ยาเคมีชนิดและปริมาณเหมือนกับระยะชักนำให้โรคสงบ แต่ให้ซ้ำๆในระยะเวลาสั้นๆ
      • การรักษาเข้มข้น (Intensification Therapy) เป็นการให้ยาเคมีบำบัดชนิดเดียวกับระยะชักนำให้โรคสงบแต่ใช้ปริมาณยามากกว่า หรือการให้ยาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยไม่เคยได้มาก่อน
    • ระยะป้องกันการเกิดโรคในสมอง (CNS Prophylaxis) เพื่อป้องกันการเกิดโรคในตำแหน่งที่ยาเคมีบำบัดเข้าถึงได้ยาก คือ สมองนั่นเอง ซึ่งอาจให้ยาเคมีบำ บัดเข้าทางน้ำไขสันหลัง หรืออาจฉายรังสีบริเวณสมอง ขึ้นกับวิธีการรักษาของแต่ละโรงพยาบาล

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่รักษาจนโรคสงบแล้ว อาจมีโอกาสที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดธรรมดา มักได้ผลน้อย เพียงประมาณ 30-40% ดังนั้น จึงอาจมีการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow Transplantation) ให้กับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงโรคสูง เพื่อลดโอกาสการคืนกลับมาของโรค โดยอาจใช้ไขกระดูกของคนในครอบครัว หรือ ของคนอื่นๆที่มีสารพันธุกรรมที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย (HLA compatible) ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “Allogeneic bone marrow transplantation” หรืออาจใช้ไขกระดูกของตัวผู้ป่วยเองหากไม่สามารถหาไขกระดูกจากผู้อื่นได้ ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “Autologous bone marrow transplantation”

การปลูกถ่ายไขกระดูก นอกจากใช้เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่โรครุนแรงแล้ว ยังอาจใช้เป็นวิธีรักษาในผู้ป่วยที่มีโรคย้อนกลับคืนมา ที่ยังไม่เคยได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาก่อนก็ได้ แต่ทั้งนี้การปลูกถ่ายไขกระดูกไม่สามารถใช้รักษาได้ในผู้ป่วยทุกราย เพราะผู้ป่วยบางราย การรักษาอาจไม่ได้ผล และอาจก่อการติดเชื้อรุนแรง หรือ เลือดออกรุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตจากการรักษาได้ ดังนั้น การรักษาโดยการปลูกถ่ายไขกระดูกจึงขึ้นอยู่กับ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ความรุนแรงของโรค การดื้อต่อยาเคมีบำบัด อายุ สุขภาพผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลมีผลข้างเคียงอย่างไร ?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน)จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ ป่วยได้รับรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

  • ผลข้างเคียงเฉียบพลัน ได้แก่ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในช่วงรักษา คือ
    • ผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง การทำงานของตับผิดปกติ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
    • ผลข้างเคียงจากการให้รังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณสมอง(ผลข้าง เคียงและวิธีการปฏิบัติตัวในการฉายรังสีบริเวณสมอง)
    • ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายไขกระดูก เช่น มีเม็ดเลือดขาวต่ำมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย และภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีโอกาสเลือดออกผิดปกติได้ง่าย
  • ผลข้างเคียงระยะยาว ได้แก่ ผลข้างเคียงที่เกิดภายหลังครบการรักษาต่างๆแล้ว ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ไม่สามารถทราบได้ว่า จะเกิดเมื่อไร และจะเกิดกับผู้ ป่วยคนใดบ้าง ได้แก่
    • ผลต่อระบบประสาท ที่เกิดจากการฉายรังสีที่สมองและให้ยาเคมีบำบัดทางน้ำไขสันหลังพบได้บ่อยที่สุด คือ พบว่า อาจมีระดับสติปัญญาต่ำลง มีอารมณ์แปรปรวนง่าย
    • อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบฮอร์โมนต่างๆ ที่พบบ่อย คือมีตัวเตี้ยกว่าปกติ หรืออาจเกิดโรคอ้วนได้ง่าย
    • มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดที่ 2 (มะเร็งชนิดใหม่อีกชนิดหนึ่ง) หรือ เนื้องอกของสมองได้ประมาณ 5-15% เมื่ออยู่รอดได้นานเกิน 10 ปีขึ้นไป
 

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลเป็นโรครุนแรงไหม ?

ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดโลหิตขาวเอเอ็มแอล ที่ไม่ได้รับการรักษามักจะถึงแก่กรรมอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ เนื่องจากเกิดภาวะไขกระดูกล้มเหลวทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงหรือเลือดออกในอวัยวะที่สำคัญ

ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มความรุนแรงโรคปานกลาง พบว่าประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรอดชีวิตและปลอดจากโรคได้นานถึง 5 ปี แต่หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มความรุนแรงโรคสูง พบว่า น้อยกว่า 45% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรอดชีวิต หรือปลอดจากโรคได้นานถึง 5 ปี

ทั้งนี้แพทย์ประเมินความรุนแรงของโรคจากหลายๆปัจจัย เช่น อายุ (สูงอายุ ความรุนแรงโรคสูง) ไขกระดูกผิดปกติมาก (ความรุนแรงโรคสูง) และ มีปริมาณเม็ดเลือดขาวผิดปกติสูงมาก (ความรุนแรงโรคสูง)

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลไหม ? ควรพบแพทย์เมื่อไร ?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด รวม ทั้งชนิด เอเอ็มแอลให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าว จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอลได้อย่างไร ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับกัมมันตรังสี และสารเคมีเป็นพิษต่างๆ

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งรวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด อ่านเพิ่มเติมในบทความ การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในบทความการดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

Updated 2013, July 15