มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (ตอนที่ 1)

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน-1

งานแต่งที่เศร้าสะเทือนใจที่สุดนี้เกิดขึ้นในน็อกซ์วิลล์ (Knoxville) รัฐเทนเนนซี (Tennessee) สหรัฐอเมริกา เมื่อ รอนดา ไบเว้นซ์ (Ronda Bivens) วัย 28 ปี พยายามต่อสู้ 1 ปี เพื่อเอาชนะโรคมะเร็ง แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ และหมอบอกว่าเธอมีชีวิตอยู่ได้เพียงอีก 1 วัน

โดยปีที่ผ่านมา รอนดาตรวจสุขภาพประจำปี และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งชนิดหายากในเยื่อบุผิว ซึ่งเรียกว่า Epithelioid sarcoma บนข้อเท้าของเธอ และต้องถูกตัดขาทันที แต่โรคมะเร็งก็ยังคงแพร่กระจายไปทั่วร่างกายและเข้าไปในปอดของเธอ

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Epithelioid sarcoma = ES) เป็นโรคที่พบยาก เกิดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุ 20-39 ปี) โดยร้อยละ 60 เกิดที่บริเวณมือและแขน เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นช้าๆ แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ (Recurrence) และโอกาสในการแพร่กระจายตัว (Metastasis) ที่สูง

การวินิจฉัยโรคทำได้ยาก เนื่องจากในระยะแรกก้อนเนื้อจะมีรูปร่างไม่เหมือนเนื้อร้าย มีการโตที่ช้า และแสดงอาการเพียงเล็กน้อย ทั้งยังเป็นโรคที่ไม่ค่อยพบ

โดยมีอัตราการเกิดโรคปีละประมาณ 0.1 ราย ใน 1 ล้านคน อย่างไรก็ดี งานวิจัยล่าสุดพบว่า ในปี พ.ศ.2548 อัตราการเกิดโรคได้เพิ่มเป็น 0.4 ราย ใน 1 ล้านคน และมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (อัตราส่วน 1.8:1) ที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 27 ปี

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน มีลักษณะเป็นก้อน มักเป็นที่บริเวณมือและแขนท่อนปลาย ก้อนเนื้อส่วนใหญ่จะสัมผัสได้ทั้งในระดับเนื้อเยื่ออ่อนหรือระดับผิวหนัง มีรอยแผลเปื่อย จึงมักทำให้วินิจฉัยผิดว่าเป็นอาการบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาไม่ดีหรือเป็นหูด ก้อนเนื้อข้างในอาจจะดูคล้ายก้อนถุงน้ำที่มือ (Ganglion cysts) หรือติดกับปลอกเอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon sheath)

ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยจะปรากฏอาการปวดหรืออาการกดเจ็บ (Tenderness) และประมาณร้อยละ 13 จะมีก้อนเนื้อขึ้นในหลายจุด (Multifocal tumors)

หากเป็นก้อนเนื้อที่มือ (Hand tumors) จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการยึดหรือเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนล้าและชาไร้ความรู้สึก

จากการวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง จากผลไปหาเหตุ (Retrospective study) เปิดเผยว่า ระยะเวลาเฉลี่ยที่เป็นก่อนที่จะทำการผ่าตัดจะอยู่ที่ประมาณ 29 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก้อนเนื้อมีลักษณะการโตที่ช้า

และเนื่องจากมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนมีโอกาสในการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งที่ปอด (ประมาณร้อยละ 51) มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง (ประมาณร้อยละ 34) และมะเร็งที่หนังศีรษะ (ประมาณร้อยละ 22)

แหล่งข้อมูล:

  1. งานแต่งที่เศร้าสุดหัวใจ! เจ้าสาวเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มีชีวิตอีกแค่ 1 วัน. http://www.thairath.co.th/content/954320 [2017, July 31].
  2. Epithelioid Sarcoma. http://sarcomahelp.org/epithelioid-sarcoma.html [2017, July 31].
  3. pithelioid sarcoma. https://en.wikipedia.org/wiki/Epithelioid_sarcoma [2017, July 31].