เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งเต้านม ตอนที่ 8

การให้รังสีรักษา

การให้รังสีรักษา เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูง หรือรังสีชนิดอื่นๆในการกำจัดเซลล์มะเร็ง มีวิธีการให้รังสีรักษาอยู่ 2 วิธีคือ รังสีรักษาจากภายนอก จะใช้เครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกายแผ่รังสีเข้าไปยังก้อนมะเร็ง และรังสีรักษาจากภายใน จะใช้สารกัมมันตรังสีซึ่งบรรจุอยู่ในเข็ม เปลือกปลอก เส้นลวด หรือสายสวนที่ได้ถูกจัดวางไว้ใกล้ๆ หรือในก้อนมะเร็งโดยตรง เป็นตัวแผ่รังสี วิธีใดที่จะนำมาใช้ในการให้รังสีรักษาในการรักษาโรคมะเร็งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทั้งชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่จะทำการรักษานั่นเอง

การให้ยาเคมีบำบัด

การให้ยาเคมีบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่จะใช้ยาต่างๆ เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะโดยการฆ่าเซลล์หรือโดยการไปหยุดกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ก็ตาม เมื่อมีการให้ยาเคมีบำบัด ไม่ว่าจะโดยการรับประทาน การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็ตาม ยาเหล่านั้นก็จะเข้าไปสู่กระแสเลือดและไปถึงเซลล์มะเร็งที่อยู่ทั่วร่างกายในที่สุด (การให้ยาเคมีบำบัดทั้งระบบ) เมื่อให้ยาเคมีบำบัดโดยตรงเข้าสู่ช่องไขสันหลัง อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือในช่องว่างของร่างกายเช่น ช่องท้อง ยาก็จะออกฤทธิ์เฉพาะกับเซลล์มะเร็งที่อยู่ในบริเวณนั้นๆเป็นหลัก (การให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะส่วน) วิธีใดที่จะนำมาใช้ในการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทั้งชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่จะทำการรักษานั่นเอง

การให้ยาฮอร์โมน

การให้ยาฮอร์โมน เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้หลักการกำจัดฮอร์โมนบางชนิด หรือขัดขวางการออกฤทธิ์ของมัน ซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหยุดลง ฮอร์โมนก็คือสารที่ถูกผลิตออกมาโดยต่อมต่างๆในร่างกายและไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด การมีอยู่ของฮอร์โมนบางชนิดสามารถทำให้ก้อนมะเร็งบางชนิดเจริญเติบโต หากจากการตรวจพิเศษพบว่าที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนอยู่ วิธีการให้ยาต่างๆ การผ่าตัด หรือการให้รังสีรักษา ก็อาจนำมาใช้ได้เพื่อลดการผลิตฮอร์โมน หรือขัดขวางพวกมันไม่ให้ออกฤทธิ์หรือทำงานได้

การให้ยาฮอร์โมนทามอกซิเฟน (Tamoxifen) มักนำมาใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ หรือผู้ที่พบว่ามีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว การให้ยาฮอร์โมนทามอกซีเฟนหรือเอสโตรเจนก็ตาม สามารถออกฤทธิ์ได้กับทุกเซลล์ทั่วร่างกาย และอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ สตรีที่รับประทานทามอกซีเฟนจึงควรได้รับการตรวจภายในทุกปี เพื่อมองหาสัญญาณต่างๆของมะเร็ง การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดใดๆก็ตามที่ไม่ใช่ประจำเดือน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ปัจจุบัน นอกจากยาทามอกซิเฟนแล้ว ยาในกลุ่มฮอร์โมน หรือบางคนเรียกว่า ยาตานฮอร์โมน ยังมีอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ยาเอไอ (AI, Aromatase inhibitor) ซึ่งการจะเลือกใช้ยาฮอร์โมนกลุ่มใด นอกจากขึ้นกับตัวจับฮฮร์โมน (Hormone receptor) แล้วยังขึ้นกับภาวะขาดประจำเดือนของผู้ป่วย และโรคต่างๆของผู้ป่วยที่จะเป็นข้อจำกัด/ข้อห้ามในการใช้ยาด้วย ดังนั้นการใช้ยาเหล่านี้จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

การให้ยารักษาตรงเป้า

การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นตัวยารักษาเพิ่มเสริม เนื่องจากเฉพาะตัวยาเองเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรักษามะเร็งเต้านมให้หายได้ จำเป็นต้องให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาเสมอ และยากลุ่มนี้ ให้การรักษาได้เฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่เซลล์มะเร็งเป็นชนิดตอบสนองต่อยากลุ่มนี้เท่านั้น นอกจากนั้น ค่ายายังมีราคาแพงมหาศาลจนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่สามารถเข้าถึงยานี้ได้ทุกราย

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.