เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งเต้านม ตอนที่ 4

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม มีวิธีการใดบ้าง?

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม มีอยู่ 3 วิธีที่นิยมใช้กัน ได้แก่

  1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
  2. การตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ (เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข)
  3. การเอกซเรย์เต้านม (การถ่ายภาพรังสีเต้านม) ใช้เมื่อต้องการตรวจหาก้อนเนื้อในเต้านมที่ยังมีขนาดเล็กเกินกว่าจะคลำพบได้ ความสามารถของวิธีการตรวจนี้ในการตรวจหาก้อนเนื้องอก ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้องอก ความหนาแน่นของเนื้อเต้านม และทักษะของรังสีแพทย์ผู้ให้การวินิจฉัย

    หากพบว่ามีก้อนในเต้านมแล้วจากวิธีการตรวจใดก็ตาม จึงอาจมีการใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) มาตรวจเต้านมอีกเพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติม แต่เฉพาะตัววิธีนี้เองนั้น (การใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง) ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการตรวจคัดกรองนะครับ

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองทำอย่างไร?

ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพราะไม่ทราบว่าจะตรวจหาอะไร และอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจนั้นคือ การตรวจหาความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละเดือน พบว่า 90% ของเนื้องอกที่เต้านมในผู้หญิงนั้นถูกตรวจพบครั้งแรกด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้นมีความสำคัญมาก เพราะโดยทั่วไปแพทย์จะทำการตรวจเต้านมให้ผู้หญิงเพียงปีละครั้งเท่านั้นเมื่อมีการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งไม่เป็นการเพียงพอ การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรทำทุกเดือนตั้งแต่เข้าสู่วัยสาวจนถึงวัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) เวลาที่ดีที่สุดที่ควรจะทำการตรวจก็คือหลังระดู/ประจำเดือนหมดไปแล้ว 7-10 วัน ทั้งนี้เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและยังนิ่มอีกด้วย ทำให้สามารถตรวจได้ง่าย ส่วนผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองหรือได้รับการตัดมดลูกไปแล้ว ควรทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองในวันที่กำหนดขึ้นมาเองในแต่ละเดือน (เดือนละครั้ง) เพื่อให้จำได้ง่าย โดยอาจทำตามขั้นตอนต่างๆดังต่อไปนี้

  1. เริ่มตรวจในท่ายืนขณะอาบน้ำ โดยถูสบู่ให้ทั่วหน้าอกเสียก่อน เพื่อให้มือเคลื่อนไปบนผิวได้ง่ายขึ้น ยกแขนซ้ายขึ้นเหนือศีรษะและเริ่มตรวจเต้านมข้างซ้ายด้วยมือข้างขวา เวลาตรวจให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางวางชิดให้เสมอกันเป็นพื้นเรียบ อย่าใช้ปลายนิ้ว เพราะปลายนิ้วจะดันก้อนเนื้อออกห่างทำให้ตรวจไม่พบ ใช้มือลูบไปเบาๆ จะช่วยตรวจหาก้อนเนื้อที่ยังเล็กมากๆและอาจเคลื่อนที่หนีได้ แล้วจึงกดให้แรงขึ้นโดยใช้นิ้วดังกล่าวเพื่อตรวจหาก้อนที่อาจอยู่ลึกลงไป และกดให้ทั่วถึงกระดูกซี่โครง แล้วตรวจดูบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้าและใต้วงแขน/รักแร้ด้วย เนื่องจากเซลล์มะเร็งเต้านมอาจแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้าและใต้วงแขน/รักแร้ได้ จึงควรตรวจบริเวณดังกล่าวไปด้วย บริเวณที่มักตรวจพบเนื้องอกและก้อนของมะเร็งเต้านมมักจะพบที่บริเวณต่างๆดังนี้ คือ ประมาณ 50% พบที่บริเวณซีกบนด้านนอกของเต้านม ประมาณ15%พบที่บริเวณซีกบนด้านใน ประมาณ 6% พบที่บริเวณซีกล่างด้านใน ประมาณ 11% พบที่บริเวณซีกล่างด้านนอก และประมาณ 18% พบที่บริเวณหัวนมและรอบๆหัวนม

    วิธีการตรวจด้วยมือมีอยู่ 2 วิธีคือ การตรวจแบบวนเป็นก้นหอย และการตรวจแบบแบ่งเป็นตาราง คุณผู้หญิงสามารถใช้วิธีใดก็ได้ตามความถนัดในการตรวจตนเองนะครับ การตรวจแบบวนเป็นก้นหอยเริ่มตรวจจากด้านบนของเต้านม โดยใช้มือวนเป็นวงใหญ่ไปให้ทั่วรอบเต้านม เพื่อตรวจหาดูว่ามีก้อนผิดปกติหรือเนื้อแข็งๆหรือไม่ จากนั้นวนมือให้เป็นวงเล็กลงไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 3 วงจนถึงหัวนม ทำเช่นนี้ 2 รอบ โดยรอบแรกลูกเบาๆ และรอบที่สองกดให้แรงขึ้น การตรวจแบบแบ่งเป็นตาราง เป็นการตรวจเต้านมโดยแบ่งพื้นที่จากบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าไปจนถึงบริเวณใต้เต้านม และจากบริเวณรักแร้ไปยังบริเวณกระดูกกลางอกออกเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในแต่ละช่องเล็กๆก็ใช้มือวนตรวจไปเป็นวงแบบก้นหอย โดยลูบเบาๆก่อน และกดให้แรงขึ้นอีกรอบ เลื่อนมือทำเช่นเดิมในช่องถัดไป ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตรวจได้จนทั่วเต้านม

    ถ้าคุณผู้หญิงมีเต้านมที่ใหญ่และห้อย ก็สามารถใช้มือหนึ่งพยุงเต้านมไว้ในขณะที่ใช้อีกมือหนึ่งตรวจหาสิ่งผิดปกติ เช่น จุด ก้อน หรือไตแข็งๆ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงผิดไปจากเดือนก่อนๆ อย่าลืมตรวจ เต้านมอีกข้างโดยวิธีเดียวกัน แต่สลับมือกันเท่านั้นนะครับ

  2. การตรวจในท่ายืนส่องดูกระจก หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว ให้ยืนหน้ากระจกและมองหาการเปลี่ยนแปลงของเต้านมซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เช่น ขนาดของเต้านมทั้งสองข้าง ลักษณะรูปทรง สีผิวหรือรอยบุ๋ม จากนั้นมองหา ความเปลี่ยนแปลงของเต้านมในท่ายกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะและท่าประสานมือไว้ใต้คาง และผ่อนกล้ามเนื้อหน้าอก เมื่อเสร็จแล้วให้ยกไหล่ขึ้นโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อดูว่าเต้านมทั้งสองข้าง ห้อยลงอยู่ในลักษณะเดียวกันหรือไม่ สุดท้ายก็ค่อยๆ บีบหัวนมเพื่อดูว่ามีน้ำ/ของเหลวหรือเลือดออกมาหรือไม่ โดยตรวจทั้งสองข้าง ถ้าพบว่ามีน้ำหรือเลือดไหลออกมาจากหัวนมให้ไปพบแพทย์ทันที
  3. การตรวจในท่านอน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ให้นอนราบลงวางหมอนไว้กลางหลัง ทาโลชันบนหน้าอกเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ทำการตรวจได้ง่ายขึ้น และยังช่วยบำรุงผิวอีกด้วย ทำการตรวจซ้ำด้วยวิธีการตรวจด้วยมือแบบเดิม อาจใช้วิธีแบบวนเป็นวง หรือแบบแบ่งเป็นตาราง ตรวจให้ทั่วหมดทั้งเต้านมและบริเวณรอบๆ อย่าลืมตรวจบริเวณรักแร้และกระดูกไหปลาร้าด้วยนะครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.