มะเร็งหู (Ear cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งหู(Ear cancer) คือโรคที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อหูในตำแหน่งใดของหูก็ได้ เกิด กลายพันธ์ เจริญเติบโตผิดปกติและรวดเร็ว โดยที่ร่างกายควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จนส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อหูได้ในทุกส่วน จนหูสูญเสียการทำงาน และยังรุกราน/ลุกลามเข้าทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงหู ต่อมน้ำเหลืองหน้ารูหูและที่ลำคอ และในที่สุด รุกรานเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด, และ/หรือแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น รักแร้ ช่องอก ขาหนีบ

อนึ่ง หู (Ear) เป็นอวัยวะมีหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน และช่วยในการทรงตัวของร่างกาย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • หูชั้นนอก
  • หูชั้นกลาง
  • และหูชั้นใน

ก. หูชั้นนอก: ประกอบด้วย ใบหู ช่องหูชั้นนอก และแก้วหู ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่นำคลื่นเสียงเพื่อผ่านไปยัง หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ตามลำดับ

  • ใบหูประกอบด้วย เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเนื้อเยื่อผิวหนัง และกระดูกอ่อน
  • ท่อหู/ช่องหู/รูหูชั้นนอกประกอบด้วย เนื้อเยื่อบุผิวชนิดเดียวกับผิวหนังเช่นกัน กระดูก และแก้วหู ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อชนิดเดียวกับผิวหนังเช่นกัน เป็นเนื้อเยื่อบางๆที่มีหน้าที่แบ่งระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง ช่วยรับ และขยายคลื่นเสียง เพื่อส่งต่อไปยังกระดูกหูชั้นกลาง

ข. หูชั้นกลาง: ประกอบด้วยกระดูกหูเล็กๆ 3 ท่อน มีหน้าที่นำส่ง และขยายคลื่นเสียงจากหูชั้นนอกเข้าสู่หูชั้นใน

ค. หูชั้นใน: ประกอบด้วยเนื้อเยื่อประสาท 2 ชนิด

  • ชนิดหนึ่งรับคลื่นเสียงจากหูชั้นกลาง นำส่งสมองใหญ่ส่วนขมับ (Temporal lobe) เพื่อแปลงเป็นเสียงให้เราได้ยิน
  • อีกส่วนซึ่งเป็นของเหลวอยู่ในอวัยวะมีรูปเป็นท่อครึ่งวงกลมเล็กๆ 3 ท่อ มีหน้าที่เพื่อการทรงตัวของร่างกาย

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง หู: กายวิภาคของหู)

โรคมะเร็งหู (Ear cancer) เป็นโรคพบน้อยมากไม่ถึง 1% ของโรคมะเร็งทั้งหมดทุกชนิด ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น มักเกิดกับเนื้อเยื่อหูชั้นนอก ไม่ค่อยพบโรคมะเร็งของหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งของหู จึงหมายถึง “โรคมะเร็งของหูชั้นนอก” ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย

เนื้อเยื่อสำคัญของหูชั้นนอกที่เกิดโรคมะเร็ง เกือบทั้งหมดเกิดจากเนื้อเยื่อบุผิว ซึ่งเนื้อเยื่อบุผิวของหูชั้นนอก คือเนื้อเยื่อชนิดเดียวกับเนื้อเยื่อผิวหนัง ดังนั้นโรคมะเร็งของหูชั้นนอกจึงมี ธรรมชาติของโรค, สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, วิธีวินิจฉัย, และระยะโรค, เช่น เดียวกับ ‘โรคมะเร็งผิวหนัง’

โรคมะเร็งของหูชั้นนอก เกิดได้ทั้งกับ ใบหู และเนื้อเยื่อบุผิวในท่อหู เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่พบในอายุน้อยกว่านี้ได้ โดยผู้หญิงและผู้ชายพบโรคใกล้เคียงกัน รวมทั้งการเกิดในหูด้านซ้ายและหูด้านขวาก็ใกล้เคียงกัน และมักพบเกิดกับหูเพียงข้างเดียว

ทั้งนี้จากที่เป็นโรคพบได้น้อยมาก จึงยังไม่มีสถิติการเกิดมะเร็งหูที่ชัดเจนทั่วโลก โดยในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ. 2558(ผู้ป่วยช่วง 2553-2555) ไม่พบรายงานมะเร็งหูทั้งในหญิงและชายไทย

โรคมะเร็งหูมีกี่ชนิด?

มะเร็งหู

ดังกล่าวแล้วว่ โรคมะเร็งของหูชั้นนอกเป็นโรคมะเร็งชนิดเดียวกับโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นชนิดของโรคมะเร็งจึงเช่นเดียวกับของโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมีได้หลากหลายชนิดทั้งชนิดมะเร็งคาร์ซิโนมา (Carcinoma) และชนิดมะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma) แต่ที่พบบ่อยเกือบทั้งหมด และจะกล่าวถึง ‘ในบทความนี้’ คือชนิดคาร์ซิโนมาของหูชั้นนอกซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • โรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer)
  • และโรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดเมลาโนมา (Melanoma หรือ Malignant melanoma)

ก. โรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer): ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ ชนิด เบซาลเซลล์ หรือเรียกย่อว่า บีซีซี (Basal cell Carcinoma หรือ BCC), และชนิดสะความัส หรือเรียกย่อว่า เอสซีซี (Squamous cell carcinoma หรือ SCC)

  • โรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดเบซาลเซลล์ (Basal cell Carcinoma): มักพบในอายุ 50-60 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย มักพบเกิดในบริเวณใบหู มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีคล้ำ เมื่อเป็นน้อยๆอาจมองดูคล้าย ’กระ’ แต่จะโตเร็ว และแตกเป็นแผลเรื้อรังได้ เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำ มักไม่ แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงมักไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต แต่อาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอได้
  • โรงมะเร็งหูชั้นนอกชนิดสะความัส (Squamous cell carcinoma): มักพบในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (แต่อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้) ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดเท่ากัน เป็นมะเร็งที่รุนแรงกว่าชนิด เบซาลเซลล์ เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ และแพร่กระจายเข้ากระแสหิตได้สูงกว่าชนิดเบซาลเซลล์เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อเป็นเซลล์มะเร็งที่เซลล์มีการแบ่งตัวสูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ปอด

ข.โรคมะเร็งหูชั้นนอกชนิดเมลาโนมา (Melanoma หรือ Malignant melanoma): เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีของเนื้อเยื่อบุผิวที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (Melanocyte) เป็นมะเร็งพบได้ตั้งแต่ในเด็กโตขึ้นไป ในคนอายุต่ำกว่า 20 ปีพบมะเร็งชนิดนี้ได้ประมาณ 1 % ของมะเร็งชนิดนี้ทั้งหมด และจะพบสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น จนพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 45-65 ปี ต่อจากนั้นจะพบได้น้อยลง ผู้ชายพบสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้สูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักไปยัง ปอด กระดูก และสมอง(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งไฝ’)

อนึ่ง โรคมะเร็งหูชนิดอื่นๆ รวมทั้งของ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เป็นโรคมะเร็งหูที่พบได้น้อยมากๆๆ จึงไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้

โรคมะเร็งหูเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งหูชั้นนอก แต่อาจมีบางสาเหตุเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ คือ

  • การอักเสบเรื้อรังของหูชั้นนอก และ/หรือของหูชั้นกลาง เช่น หูติดเชื้อ (หูน้ำ หนวก)
  • การที่บริเวณหูได้รับแสงแดดสูง ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกับของโรคมะเร็งผิวหนัง
  • อาจจากโรคเรื้อรังของผิวหนังของหู เช่น โรคผื่นคันเรื้อรัง

โรคมะเร็งหูมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคมะเร็งหูชั้นนอก คือ

  • มีของเหลวออกจากหูเรื้อรัง คล้ายหูน้ำหนวก มีกลิ่น อาจมีเลือดปน
  • หูด้านเกิดโรค มีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง เพราะมีก้อนเนื้ออุดตันในช่องหู
  • มีก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรังที่หู
  • เมื่อโรคลุกลามอาจมีอาการปวดหูด้านเกิดโรค
  • เมื่อโรคลุกลาม อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหู หรือที่ลำคอด้านเดียวกับโรค มักไม่เจ็บ

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหูได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งหูชั้นนอกได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจหู
  • การคลำต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูและลำคอ
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผล เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การ
    • ตรวจภาพหูด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอมอาร์ไอ
  • นอกจากนั้น คือ การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อจัดระยะโรค และประเมินสุขภาพผู้ป่วย เช่น
    • การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดู โรคของปอด โรคของหัวใจ และดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ปอด
    • และการตรวจเลือดต่างๆ เพื่อดูการทำงานของ ไขกระดูก (ตรวจซีบีซี/CBC) ไต และของตับ

โรคมะเร็งหูมีกี่ระยะ?

ดังกล่าวแล้วว่า ‘โรคมะเร็งหูชั้นนอก’ เป็นโรคมะเร็งชนิดเดียวกับโรคมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นระยะโรคมะเร็งจึงเช่นเดียวกับของโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ และยังขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่

ก. ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา:

  • ระยะที่ 1: ก้อนหรือแผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร (ซม.)
  • ระยะที่ 2: ก้อนหรือแผลมะเร็งโตเกิน 2 ซม.แต่ไม่เกิน4ซม.
  • ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 4ซม., และ/หรือก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามกินลึก เช่น เข้าสู่ส่วนผิวๆของเนื้อเยื่อกระดูก และ/หรือ เส้นประสาท, และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง/ต่อมน้ำเหลืองลำคอเพียงต่อมเดียวและต่อมมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.
  • ระยะที่ 4: ก้อนหรือแผลมะเร็งลุกลามเข้าส่วนลึกกระดูกชิ้นต่างๆรอบๆหู กระดูกฐานสมอง และ/หรือเข้าไขกระดูก, และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองฯมากกว่า 1 ต่อม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองฯโตมากกว่า 3 ซม. และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองคอด้านตรงข้ามรอยโรค และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองฯทั้ง2ข้างลำคอ, และ/หรือ เข้าระบบน้ำเหลืองเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ไกลจากลำคอ เช่น รักแร้, และ/หรือโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต/เลือด ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักกระจายเข้าสู่ปอด

อนึ่ง มะเร็งกลุ่มนี้ ถ้าตรวจพบในระยะก่อนมีการรุกรานออกนอกเยื่อบุผิว(Non invasive cancer) จะเรียกว่า มะเร็งระยะศูนย์ (ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ (CIS) ดังนั้นแพทย์หลายท่านจึงยังไม่จัดให้เป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เป็นระยะที่รักษาโดยผ่าตัดเพียงวิธีการเดียว และรักษามีโอกาสหายสูงมากกว่า 90% แต่อย่างไรก็ตาม เป็นระยะโรคที่พบได้น้อยมาก

ข. ระยะโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา: ซึ่งบางระยะของโรคแบ่งย่อยได้อีกที่มักใช้สำหรับแพทย์โรคมะเร็งเพื่อใช้ช่วยใน การพิจารณาวิธีรักษา บอกการพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา

  • ระยะที่ 1: ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดโตไม่เกิน2มิลลิเมตร (มม)โดยก้อนยังไม่มีการแตกเป็นแผล, และ/หรือ ก้อนโตน้อยกว่า 0.8มม. แต่เกิดเป็นแผลแตก และระยะนี้แบ่งเป็น 2ระยะย่อยตามความรุนแรงโรคที่เพิ่มขึ้น คือ ระยะ1A และระยะ1B
  • ระยะที่ 2: ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดโตมากกว่า 1มม. แต่ไม่เกิน 2 มม.และก้อนเกิดเป็นแผล, และ/หรือ ก้อนโตมากกว่า2มม.และไม่เกิน4มม. อาจแตกเป็นแผลหรือไม่ก็ได้ ซึ่งระยะนี้แบ่งเป็น 3ระยะย่อยตามความรุนแรงโรคที่เพิ่มขึ้น คือ ระยะ2A, ระยะ2B, และระยะ2C
  • ระยะที่ 3: โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่คอ
  • ระยะที่ 4: โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักแพร่กระจายสู่ ปอด กระดูก และสมอง, และ/หรือ โรคลุกลามกินลึกมาก เช่นถึงชั้นลึกๆของ กล้ามเนื้อ กระดูก และ/หรือแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น ช่องอก รักแร้

โรคมะเร็งหูรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งหูชั้นนอก เช่นเดียวกับในการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังเพราะเป็นโรคมะเร็งชนิดเดียวกัน กล่าวคือ

  • การรักษาหลัก ได้แก่ การผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็ง และผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่มีโรคลุกลามแล้ว หลังจากนั้นจะมีการประเมินระยะโรค และการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองจากการผ่าตัดโดยการตรวจทางพยาธิวิทยา ซ้ำอีกครั้ง เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค
  • ซึ่งถ้าพบว่าโรคเป็นชนิดรุนแรง เช่น ลุกลามเข้าเส้นประสาท แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องด้วย การฉายรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด
  • ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา แต่ก็มีแพทย์หลายท่านได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วยทางคลินิกในโรคระยะรุนแรง แต่ยากลุ่มนี้ยังไม่สามารถรักษาให้โรคหายได้ เพียงแต่อาจช่วยบรรเทาอาการหรือลดอัตราการแพร่กระจายของโรคให้ช้าลงได้ อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ยังมีราคาแพงมากๆเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งหูอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งหู ขึ้นกับวิธีรักษา ตัวอย่าง เช่น

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา : การดูแลตนเอง)
  • ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: แนะนำอ่านรายละเอียดในผลข้างเคียงเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง

โรคมะเร็งหูรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งหู เป็นโรคมะเร็งมีความรุนแรงปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หาย ทั้งนี้โอกาสรักษาหายขึ้นกับ

  • ระยะโรค
  • ชนิดเซลล์มะเร็ง
  • การสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
  • อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย
  • แต่เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก จึงไม่มีสถิติโดยรวมใน อัตรารอดที่ห้าปีของโรคในแต่ละระยะ ทั้งนี้แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยและกับครอบครัวผู้ป่วยเป็นรายๆไป

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหูไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหูชั้นนอกให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุด คือ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆของตนเอง เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ’อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อการวินิจฉัยโรค และการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งหูอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งหูชั้นนอก แต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น

  • การหลีกเลี่ยงไม่ให้หูถูกแสงแดดจัดต่อเนื่อง
  • และการป้องกันหูติดเชื้อเรื้อรัง

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด รวมถึง มะเร็งหู จะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น เลือดออกจากหูมากขึ้น ปวดหูมากขึ้น
    • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีก้อน /ต่อมน้ำเหลืองที่คอในกรณีไม่เคยมีมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว คลื่นไส้อาเจียนมาก
    • กังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th Edition
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Ear [2019,March23]
  6. https://www.healthline.com/health/ear-cancer [2019,March23]