มะเร็งลำไส้ใหญ่ หายได้ถ้าพบเร็ว (ตอนที่ 8 และตอนจบ)

นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบลำไส้ใหญ่ ทวารหนักและมะเร็งวิทยา กล่าวว่า กากใยจะช่วยดูดซึมสารก่อมะเร็งและขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว จนโอกาสสัมผัสเยื่อบุน้อยลง การรักษามะเร็งในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง สามารถทำด้วยการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว

จากสถิติ วิธีนี้สามารถให้ผลหายขาดได้ประมาณร้อยละ 95 ซึ่งทำให้เกิดความคุ้มค่าในการตรวจหาระยะก่อนเป็นมะเร็ง เพราะนอกจากให้ผลหายขาดสูง ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายของประเทศ เพราะในมะเร็งที่ลุกลามไปแล้วต้องให้การรักษาเสริมด้วยการฉายรังสีและยาเคมีบำบัด

นพ.ปริญญา กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ต้องกังวลใจมากนัก เพราะผลการรักษามะเร็งชนิดนี้ค่อนข้างดีมาก ผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษาไปแล้วจำนวนมากมีชีวิตเช่นคนปกติ หลายคนอยู่มาเกือบ 20 ปีแล้ว และอยู่มาเกิน 10 ปี แทบ ทั้งๆ ที่บางคนลุกลามไปที่ตับ แพทย์ได้ตัดส่วนตับที่ลุกลามออกไปอีกก็ยังอยู่มาเกินกว่า 5 ปี แถมยังแข็งแรงดี ทำงานได้

สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง คนที่มีความเสี่ยงปกติควรเริ่มทำการตรวจลำไส้ที่อายุ 50 ปี แต่คนที่มีความเสี่ยงในการเป็นสูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็น ควรเริ่มทำการตรวจลำไส้เร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นการเริ่มตรวจที่อายุ 45 ปี โดยทำได้หลายวิธีอย่าง

  • การตรวจหาเลือดในอุจจาระทุกปี (Fecal occult blood testing)
  • การส่องกล้องบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
  • การตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) ทุก 10 ปี
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ด้วยภาพเสมือน (Virtual Colonoscopy หรือ CT Colonography) ทุก 5 ปี
  • การตรวจหาดีเอนเอ (Stool DNA testing) ซึ่งเป็นวิธีใหม่และยังไม่มีความชัดเจนว่าควรตรวจซ้ำทุกกี่ปี

นอกจากนี้ควรทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ดังนี้

  • กินผัก ผลไม้ และธัญพืช ให้หลากหลายชนิด เพราะอาหารเหล่านี้มีวิตามิน เกลือแร่ กากใยอาหาร (Fiber) และสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ซึ่งช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งได้
  • เลิกดื่มแอลกอฮอล์ หรือถ้าดื่มให้จำกัดปริมาณที่ดื่ม โดยผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว และผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 แก้ว
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

สำหรับการป้องกันในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นนั้น อาจมีการใช้ยาแอสไพริน หรือยาแก้ปวดอื่นๆ เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) และนาโปรเซน (Naproxen) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดติ่งเนื้อ อย่างไรก็ดีการใช้ยานี้ต้องใช้ในปริมาณมากและเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ กล่าวคือ อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกและเป็นแผลในทางเดินอาหารและกระเพาะ หรือยาแก้ปวดอื่นๆ ก็อาจมีผลต่อหัวใจได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงของการใช้ยาป้องกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. มะเร็งลำไส้ใหญ่ เสี่ยง ! ทั้งหญิง-ชาย - http://www.webmd.com/colorectal-cancer/guide/understanding-colorectal-cancer-detection-and-treatment [2013, April 22].
  2. Prevention. - http://www.mayoclinic.com/health/colon-cancer/DS00035/DSECTION=prevention [2013, April 22].