มะเร็งลำไส้ใหญ่ หายได้ถ้าพบเร็ว (ตอนที่ 5)

นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบลำไส้ใหญ่ ทวารหนักและมะเร็งวิทยา ให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันการผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาด จะตัดลำไส้ใหญ่ส่วนที่เป็นมะเร็งออกให้ห่างจากก้อนมะเร็งด้านละ 5 - 10 เซนติเมตร

หัตถการ (Procedure) หลังจากนั้น ก็จะเป็นการตัดดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็ง และตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้ได้มากที่สุดอย่างน้อย 12 ต่อมขึ้นไป กรณีที่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ก็ต้องให้ยาเคมีบำบัดช่วยหลังผ่าตัด อีกทางหนึ่ง จึงจะได้ประสิทธิผล

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ไม่เพียงแต่ใช้วิธีการรักษาและควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลสภาพทางร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย โดยหลักที่ใช่ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักก็คือ การผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีบำบัด (Radiation therapy) และการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะของการเป็นมะเร็ง

การผ่าตัดเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด เพราะสามารถนำก้อนเนื้องอกขนาดเล็กออกได้โดยใช้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscope) พร้อมทั้งการนำเอาไขมันและต่อมน้ำเหลืองในบริเวณรอบๆ ออก เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด การผ่าตัดอาจทำโดย การผ่าตัดผ่านทางกล้อง (Laparoscopic surgery) หรือการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open surgery) ที่ใช้กับการผ่าตัดใหญ่

[การผ่าตัดผ่านทางกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นการผ่านตัดผ่านรูเล็ก ๆ ที่เจาะผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง โดยใช้กล้องเรียวเล็ก ผ่านเข้าไปส่องดูอวัยวะใน ช่องท้อง ศัลยแพทย์จะดูภาพผ่านจอทีวีขณะที่ทำผ่าตัดด้วยเครื่องมือเรียวเล็กผ่านรู เล็กๆ เหล่านี้ แทนที่จะต้องผ่าตัดผ่านแผลใหญ่เช่นการผ่าตัดตามวิธีดั้งเดิม]

การผ่าตัดสามารถที่จะเชื่อมต่อระหว่างส่วนที่ดีของลำไส้ใหญ่ (Colon) และลำไส้ตรง (Rectum) หากไม่สามารถทำได้ ศัลยแพทย์ก็จะใช้วิธีสร้างทวารเทียม (Colostomy) ซึ่งมักเป็นการทำชั่วคราว เมื่อลำไส้ได้มีเวลารักษาตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 เพื่อเชื่อมระหว่างลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงอีกครั้ง การทำทวารเทียมแบบถาวรอาจใช้ในกรณีที่การคงไว้ซึ่งลำไส้ตรงเป็นไปยาก

[Colostomy หรือ ทวารเทียม หมายถึง การผ่าตัดให้เกิดช่องเปิดของลำไส้ใหญ่ออกมาภายนอกร่างกาย โดยผ่านผนังหน้าท้องเพื่อเป็นทางระบายออกของอุจจาระแทนตำแหน่งเดิม คือ ทวารหนัก บริเวณช่องเปิดลำไส้ส่วนที่โผล่ออกมาจากหน้าท้อง (Stoma) ทั้งนี้เพื่อมิให้อุจจาระผ่านไปยังบริเวณที่มีพยาธิสภาพหรือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ]

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถขอยาระงับปวด หรือยาอื่นที่ช่วยเรื่องอาการท้องเสียหรือท้องผูก และผู้ป่วยควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เท่านั้น

การรักษาด้วยรังสีบำบัด (Radiation therapy) เป็นการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็ง การใช้รังสีบำบัดมักทำหลังจากผ่าตัดแล้ว และตามด้วยการให้เคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด นอกจากนี้สามารถใช้รังสีบำบัดพร้อมเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้ก้อนเนื้อยุบลงเพื่อผ่าตัดได้ง่ายขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. มะเร็งลำไส้ใหญ่ เสี่ยง ! ทั้งหญิง-ชาย - http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/332932 [2013, April 19].
  2. Understanding Colon Cancer -- Diagnosis and Treatment. - http://www.webmd.com/colorectal-cancer/guide/understanding-colorectal-cancer-detection-and-treatment [2013, April 19].