มะเร็งลำไส้ใหญ่ หายได้ถ้าพบเร็ว (ตอนที่ 4)

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง นั้น หากเป็นวิธีดั้งเดิม แพทย์จะทำการตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam) ปีละครั้ง และให้เก็บตัวอย่างอุจจาระไปทำการทดสอบ และทุก 3 - 5 ปี ให้ทำการตรวจด้วยการส่องกล้องบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) และ ตรวจทางรังสีของลำไส้ใหญ่ โดยการสวนแป้งแบเรี่ยมและลมเข้าทางทวารหนักประกอบการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Double-contrast Barium Enema)

หากพบสิ่งปกติแล้วอาจต้องทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งเป็นการตรวจลำไส้ทั้งหมด โดยระหว่างการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ อาจมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsies) เพื่อดูบริเวณที่น่าสงสัย

ปัจจุบันมีการตรวจชนิดใหม่ที่เรียกว่า การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการใช้ภาพเสมือน (Virtual Colonoscopy) ซึ่งเป็นการใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ตัดผ่านบริเวณช่องท้องของผู้ป่วย แล้วใช้ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพเสมือนจากภาพตัดขวางเหล่านั้น ทำให้เห็นรายละเอียดภายในของลำไส้ใหญ่ โดยไม่ต้องใช้กล้องสอดผ่านทวารหนัก เข้าไปยังลำไส้ใหญ่เพื่อดูพยาธิสภาพอีกต่อไป

ความแม่นยำของการตรวจจะขึ้นกับการเตรียมลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วย โดยจะต้องมีการจำกัดอาหาร และจำเป็นต้องให้ยาเพื่อขับอุจจาระออกจากลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดและง่ายต่อการแปลผล

ทั้งนี้สมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ว่า

  • ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระไปทำการทดสอบทุกปี
  • ทำการส่องกล้องบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
  • ทำการสวนแป้งแบเรี่ยมและลมเข้าทางทวารหนักประกอบการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ส่วนล่าง (Double-contrast barium enema) ทุก 5 ปี
  • ทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการใช้ภาพเสมือน (Virtual colonoscopy) ทุก 5 ปี
  • ทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 10 ปี

อย่างไรก็ดีผู้ที่มีความเสี่ยงสูงโดยมีประวัติครอบครัวเป็นก็ควรทำการตรวจแต่เนิ่นๆ และบ่อยกว่าคนทั่วไป

นอกจากการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อยืนยันแล้ว ควรมีการตรวจด้วยเอกซเรย์หน้าอก ทำซีทีสแกน (CT scans) ที่บริเวณช่องท้อง อุ้งเชิงกราน เพื่อดูว่ามะเร็งได้มีการกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายหรือไม่ การตรวจเพทสแกน (Positron Emission Tomography Scan : PET Scan) ก็เป็นการตรวจเพื่อดูการกระจายตัวของมะเร็งได้เป็นอย่างดี ซึ่งมักจะใช้ได้ดีกับการตรวจหาการกลับเป็นซ้ำ (Recurrence) มากกว่าการตรวจหาในระยะแรก

ส่วนการตรวจเลือดจะเป็นไปเพื่อการดูการทำงานของตับและไต ดูว่ามีภาวะโลหิตจาง และใช้วัดระดับเลือดเพื่อหาสารบ่งบอกมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Carcinoembryonic antigen : CEA) ซึ่งมักจะแสดงผลเมื่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ในระยะที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะระยะที่มีการแพร่กระจาย หรือตรวจหา CA 19-9 (Cancer antigen 19-9 หรือ Carbohydrate antigen 19-9) สำหรับตรวจหามะเร็งในระบบทางเดินอาหารต่างๆ

แหล่งข้อมูล:

  1. Understanding Colon Cancer -- Diagnosis and Treatment. - http://www.webmd.com/colorectal-cancer/guide/understanding-colorectal-cancer-detection-and-treatment [2013, April 18].
  2. Colon cancer. - http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001308/ [2013, April 18].