มะเร็งปากมดลูก ถูกโฉลกกับหญิงมาก “กิ๊ก” (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

น.พ.ก้องศาสด์ ดีนิรันทร์ สูตินรีแพทย์ คลินิกเครือ ร.พ.กล้วยน้ำไท กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกลดความเสี่ยงได้ โดยการรักเดียว ใจเดียว หรือไม่ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนที่มีคู่นอนหลายคน แต่ถ้าไม่แน่ใจ ควรรีบเข้าพบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจภายในเพื่อหาเซลล์มะเร็ง ถ้าตรวจพบก่อนในระยะที่เซลล์เริ่มมีการผิดปกติ ก็สามารถรักษาได้"

สมาพันธ์นรีเวชวิทยาและสูติศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Federation of Gynecology and Obstetrics – FIGO System) ได้แบ่งระยะของมะเร็งปากมดลูกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 0 ตรวจพบเซลล์ผิดปกติแต่ไม่ใช่มะเร็ง (Carcinoma in situ) มีการตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณผิวนอกสุดของปากมดลูกแต่ยังไม่ใช่เซลล์มะเร็ง

ระยะที่ 1 ตรวจพบมะเร็งอยู่ในปากมดลูกเท่านั้น

ระยะที่ 2 ตรวจพบมะเร็งลุกลามออกไปจากปากมดลูกแล้วแต่ยังไม่ถึงเนื้อเยื่อของผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน (Pelvic wall) หรือมีการลุกลามไปยังช่องคลอดแล้วแต่ยังไม่เลยสองในสามส่วนบนของช่องคลอด

ระยะที่ 3 ตรวจพบมะเร็งลุกลามออกไปยังหนึ่งในสามส่วนล่างของช่องคลอด หรือมีการลุกลามไปยังผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน และก่อการปิดกั้นทางเดินของปัสสาวะจากไตถึงกระเพาะปัสสาวะ

ระยะที่ 4 ตรวจพบมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย

การรักษามะเร็งระยะต้น ซึ่งมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 4 เซนติเมตรสามารถรักษาโดยใช้วิธีผ่าตัดมดลูก (Radical hysterectomy) และเลาะต่อมน้ำเหลืองออก หรือการใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) ด้วยการฉายรังสีไปที่บริเวณอุ้งเชิงกรานและการฝังแร่เพื่อรักษามะเร็ง (Brachytherapy) ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดและมีความเสี่ยงในการกลับเป็นโรคเดิมอีก (Recurrence) จะได้รับการรักษาเพิ่มเติมด้วยรังสีรักษา หรืออาจเพิ่มการรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมอีกก็ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกลับเป็นโรคเดิมอีก

การรักษามะเร็งระยะถัดมา ซึ่งมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 4 เซนติเมตร อาจรักษาโดยใช้รังสีรักษาพร้อมยาเคมีบำบัดประเภทซิสแพลทิน (Cisplatin-based chemotherapy) การผ่าตัดมดลูกพร้อมรังสีรักษา หรือการให้ยาเคมีบำบัด ประเภทซิสแพลทินตามด้วยการผ่าตัดมดลูก

การรักษามะเร็งระยะขั้นรุนแรง จะรักษาโดยใช้รังสีรักษาพร้อมยาเคมีบำบัดประเภทซิสแพลทิน เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 คณะกรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) สหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้ยาเคมีนบำบัดร่วมกันระหว่างซิสแพลทินและไฮแคมทิน (Hycamtin) แต่อาจมีผลข้างเคียงสูงขึ้นจากมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia) ภาวะโลหิตจาง (Anemia) และจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)

มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของผู้หญิงทั่วโลก ในแต่ละปีจากจำนวนผู้หญิง 100,000 คน มี 16 คนที่ป่วย และ 9 คน ที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ประมาณร้อยละ 80 เกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา จากสถิติทั่วโลกของปี พ.ศ. 2551 มีการประมาณว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ 473,000 คน และเสียชีวิตถึง 253,500 คนในแต่ละปี

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนผู้หญิงมี "กิ๊ก" เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1332476952 [2012, March 28].
  2. Cervical cancer. http://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_cancer [2012, March 28].
  3. Staging of Cervical Cancer. http://ehealthmd.com/content/staging-cervical-cancer [2012, March 28].