เรื่องเฉพาะสตรี...มะเร็งปากมดลูก ตอนที่ 12 (ตอนจบ)

การตรวจแพปสเมียร์ คืออะไร?

การตรวจแพปสเมียร์ (Pap smear) นั้นทำเพื่อหาดูว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ในปากมดลูกหรือไม่ การตรวจนี้สามารถค้นพบสิ่งผิดปกติต่างๆที่อาจทำการรักษาได้ตั้งแต่ก่อนที่เซลล์จะกลายเป็นมะเร็ง นอกจากนี้มันยังอาจพบโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ด้วย และหากได้พบโรคมะเร็งเสียตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาให้หายขาดก็เป็นไปได้ง่าย

การตรวจแพปสเมียร์ มีวิธีการอย่างไร?

การตรวจแพปสเมียร์นั้น จะทำในระหว่างการตรวจภายใน คุณผู้หญิงจะต้องนอนอยู่บนเตียงตรวจภายในโดยมีผ้าห่มคลุมอยู่บนต้นขาและหน้าท้อง ชันเข่าขึ้นโดยอาจมีขาหยั่งรองรับหรือมีเพียงที่วางเท้าก็ได้ แล้วแพทย์หรือพยาบาลก็จะใช้คีมปากเป็ดสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อมองผ่านช่องคลอดเข้าไปดูปากมดลูก หลังจากนั้นก็จะใช้ไม้แผ่นหรือแปรงเล็กๆ เก็บรวบรวมเซลล์จากปากมดลูกออกมาป้ายลงบนแผ่นกระจกเล็กๆ หรือใส่ลงในหลอดน้ำเลี้ยงเซลล์อีกทีหนึ่ง กระบวนการนี้ใช้เวลาเพียงประมาณ 2-3 นาทีเท่านั้น แล้วแผ่นกระจกหรือหลอดเก็บเซลล์ที่มีน้ำเลี้ยงอยู่นั้น ก็จะถูกส่งไปที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการย้อมสีหรือผ่านกรรมวิธี เพื่อให้ตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้โดยนักเซลล์วิทยาหรือพยาธิแพทย์อีกทีหนึ่ง ก่อนที่จะรายงานผลออกมา แล้วแจ้งไปให้คุณผู้หญิงทราบ ในระหว่างนี้แพทย์อาจนำสิ่งคัดหลั่งในช่องคลอดและปากมดลูกไปทำการตรวจหาเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ด้วยก็ได้ ก่อนที่คุณผู้หญิงจะมารับการตรวจ ไม่ควรทาครีมในช่องคลอดหรือสวนล้างช่องคลอดมาเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงนะครับ เพราะอาจส่งผลให้ผลตรวจผิดพลาดได้

การตรวจปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วดูด้วยตาเปล่า คืออะไร?

การตรวจปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วดูด้วยตาเปล่านั้น (VIA, Visual inspection with acetic acid) ก็ทำเพื่อหาดูว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ในปากมดลูกหรือไม่ โดยมีหลักการว่าเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสีขาวชั่วคราวเมื่อถูกป้ายด้วยน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 3-5% (เท่ากับที่ใช้รับประทาน) การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถค้นพบสิ่งผิดปกติต่างๆที่อาจทำการรักษาได้ตั้งแต่ก่อนที่มันจะกลายเป็นมะเร็ง เช่นเดียวกันกับการตรวจแพปสเมียร์ นอกจากนี้มันยังอาจพบโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้เช่นเดียวกัน

การตรวจปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วดูด้วยตาเปล่า มีวิธีการอย่างไร?

การตรวจปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วดูด้วยตาเปล่านั้นจะทำในระหว่างการตรวจภายใน คุณผู้หญิงจะต้องนอนอยู่บนเตียงตรวจภายในโดยมีผ้าห่มคลุมอยู่บนต้นขาและหน้าท้อง ชันเข่าขึ้นโดยอาจมีขาหยั่งรองรับหรือมีเพียงที่วางเท้าก็ได้ แล้วแพทย์หรือพยาบาลก็จะใช้คีมปากเป็ดสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อมองผ่านช่องคลอดเข้าไปดูปากมดลูก หลังจากนั้นก็จะใช้น้ำส้มสายชูความเข้มข้น 3-5% ป้ายที่ปากมดลูกหรือชโลมด้วยวิธีการอื่นๆก็ได้ แล้วรอดู 1 นาทีก็อ่านผลได้เลย (โดยแพทย์หรือพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมมาด้วยหลักสูตรมาตรฐาน ซึ่งนานาชาติให้การยอมรับ) กระบวนการนี้ใช้เวลาเพียงประมาณ 3-4 นาทีเท่านั้น ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ สามารถแจ้งให้คุณผู้หญิงทราบถึงผลการตรวจ และวิธีการดูแลรักษาขั้นต่อไปหลังการตรวจภายในได้เลย ก่อนที่คุณผู้หญิงจะมารับการตรวจ ก็ไม่ควรทาครีมในช่องคลอดหรือสวนล้างช่องคลอดมาเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงเช่นเดียวกันกับวิธีแพปสเมียร์นะครับ

ในระหว่างการตรวจภายใน จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?

แพทย์หรือพยาบาลจะตรวจดูช่องคลอดและปากมดลูกด้วยตาเปล่าว่ามี การติดเชื้อ การอักเสบ หรือมีปัญหาอื่นๆหรือไม่ หลังจากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเสร็จสิ้นลงแล้ว แพทย์หรือพยาบาลก็จะใช้มือและนิ้วคลำ มดลูก ท่อนำไข่และรังไข่ (ปีกมดลูก) ดู โดยการใส่นิ้วที่ใช้คลำไว้ในช่องคลอด ๒ นิ้ว และใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำจากทางหน้าท้องไปพร้อมกัน เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อหรือจุดที่กดเจ็บผิดปกติ กระบวนการนี้ก็ใช้เวลาเพียงประมาณ 3-4 นาทีเท่านั้น เมื่อเสร็จแล้วคุณผู้หญิงก็สามารถไปแต่งตัวแล้วมานั่งคุยเกี่ยวกับผลการตรวจเบื้องต้นได้ หากระหว่างการตรวจรู้สึกเขินอาย ก็สามารถขอผ้าปิดตาหรือใช้วิธีการหายใจเข้าออกลึกๆสัก 2-3 ครั้งก็คงพอจะช่วยได้บ้างครับ

จะไปรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ได้ที่ใดบ้าง?

สามารถไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ที่

  1. คลินิกสูตินรีแพทย์
  2. สถานีอนามัย
  3. หน่วยให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ
  4. โรงพยาบาลชุมชน (อำเภอ)
  5. โรงพยาบาลทั่วไป (จังหวัด)
  6. โรงพยาบาลศูนย์ (เขต)
  7. โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย (โรงเรียนแพทย์)

สรุปเรื่องมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูกจัดเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดของโรคมะเร็งทั้งหมดในสตรี โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 6,000 ราย พบมากในภาคเหนือของประเทศไทย สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหูดหงอนไก่ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ ที่เป็นผู้ชายมักไม่มีอาการ ตรวจก็มักจะไม่พบ แต่โชคดีที่โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะเริ่มแรกก่อนมีอาการ โดยการทำแพปสเมียร์ (Pap smear) หรือการป้ายปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชูแล้วตรวจดูด้วยตาเปล่า (VIA) ซึ่งการรักษายังได้ผลดีมาก อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามไปแล้วก็คือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด วิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก ความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลามสามารถรักษาได้หลายวิธี โดยไม่จำเป็นต้องตัดมดลูกออก โรคในระยะลุกลามสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัด การให้รังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และการไปรับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย (อย่างห่างที่สุด) ทุกๆ 5 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.