มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ตอนที่ 5)

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินขึ้นอยู่กับชนิด ระยะที่เป็น และสุขภาพโดยรวม ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำลายเซลล์มะเร็งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และทำให้โรคสงบลง (Remission) ซึ่งการรักษาอาจทำได้ด้วยวิธี

  • เคมีบำบัด (Chemotherapy) โดยการให้สารเคมีทางเส้นเลือดหรือการกินยาเม็ดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่แตกต่างชนิดกันไป เช่น มีอาการคลื่นไส้ ผมร่วง ส่วนอาการแทรกซ้อนระยะยาวอาจได้แก่ หัวใจถูกทำลาย ปอดถูกทำลาย มีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ (Ffertility problems) และเป็นมะเร็งชนิดอื่นอย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
  • รังสีบำบัด (Radiation therapy) โดยใช้รังสีในการฆ่าเซลล์มะเร็ง หากเป็นระยะแรกอาจให้รังสีบำบัดเพียงอย่างเดียว แต่โดยปกติทั่วไปมักให้รังสีบำบัดหลังการให้เคมีบำบัดแล้ว รังสีบำบัดอาจเป็นสาเหตุให้ผิวแดงและผมร่วงในด้านที่ให้รังสี หลายคนมีอาการอ่อนเพลีย ส่วนความเสี่ยงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ปัญหาไทรอยด์ การเจริญพันธุ์ และการเกิดมะเร็งชนิดอื่นอย่างมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งปอด
  • การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem cell transplant) เพื่อทดแทนไขกระดูกที่เป็นโรคหลังจากที่ผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีบำบัดแล้ว สามารถทำได้ 2 แบบ คือ
    • Autologous transplant โดยใช้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเอง ด้วยการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Blood stem cells) ของผู้ป่วยออกไปแช่แข็งก่อนรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีบำบัด แล้วนำมาฉีดกลับอีกครั้งหลังการรักษา
    • Allogeneic transplant โดยใช้สเต็มเซลล์ของผู้บริจาค

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma) พบได้มากกว่าชนิดฮอดจ์กิน โดยนับเป็นสาเหตุของการตายด้วยโรคมะเร็งอันดับที่ 7 ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเขตอเมริกาเหนือ

มะเร็งชนิดนี้เกิดจากความผิดปกติของลิมโฟไซต์ที่ไม่เป็นไปตามวงจรชีวิต (Life cycle) กล่าวคือ ปกติเมื่อลิมโฟไซต์เก่าตาย ร่างกายจะสร้างลิมโฟไซต์ใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่การเกิดมะเร็งชนิดนี้ลิมโฟไซต์ไม่ตาย ตรงกันข้ามกลับโตขึ้นและมีการแบ่งเซลล์ เมื่อมีลิมโฟไซต์เป็นจำนวนมากอยู่ในต่อมน้ำเหลืองจึงทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีลักษณะบวมโต มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน แบ่งย่อยออกได้หลายชนิดขึ้นกับจุดกำเนิด (B-cell หรือ T-cell) และลักษณะของเซลล์

  • B-cell เป็นเซลล์ที่ต่อสู้กับเชื้อโรคด้วยการสร้างสารภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อทำให้สิ่งแปลกปลอมเกิดสภาวะที่เป็นกลาง (Neutralize foreign invader) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินที่เกี่ยวกับ B-cell ยังแบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้อีก เช่น Diffuse large B-cell lymphoma, Follicular lymphoma, Mantle cell lymphoma และ Burkitt lymphoma
  • T-cell เป็นเซลล์ที่ฆ่าสิ่งแปลกปลอมโดยตรง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินที่เกี่ยวกับ T-cell พบได้น้อยกว่า B-cell และยังแบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้อีก เช่น Peripheral T-cell lymphoma และ Cutaneous T-cell lymphoma

แหล่งข้อมูล

  1. What Is Lymphoma?. http://www.webmd.com/cancer/lymphoma/lymphoma-cancer [2015, July 25].
  2. Understanding Non-Hodgkin Lymphoma -- the Basics. http://www.webmd.com/cancer/lymphoma/understanding-non-hodgkins-lymphoma-basics [2015, July 26].
  3. Hodgkin's lymphoma. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hodgkins-lymphoma/basics/definition/con-20030667 [2015, July 26].
  4. Non-Hodgkin's lymphoma. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/non-hodgkins-lymphoma/basics/definition/con-20027792 [2015, July 26].