มะเร็งต่อมน้ำลาย (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ต่อมน้ำลายอุดตัน

การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำลายขึ้นกับชนิด ขนาด และระยะที่เป็น รวมทั้งสุขภาพโดยรวม ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้การผ่าตัด ซึ่งทำโดย

  • ผ่าตัดเอาส่วนที่มีเชื้อมะเร็งและบริเวณรอบๆ ออก กรณีที่มะเร็งยังมีขนาดเล็กและอยู่บริเวณที่เอาออกง่าย
  • ตัดต่อมน้ำลายทิ้ง กรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดโต และอาจมีการตัดบริเวณข้างเคียงที่เชื้อแพร่กระจายไป เช่น ประสาทที่ใบหน้า ท่อต่อมน้ำลาย กระดูกหน้า และผิวหนัง
  • ตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ กรณีที่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอ
  • ทำศัลยกรรมเสริมสร้าง (Reconstructive surgery) ส่วนที่ถูกตัดออก เช่น กระดูก ผิวหนัง หรือเส้นประสาท เพื่อให้สามารถเคี้ยว กลืน พูด หรือหายใจได้ตามปกติ โดยอาจใช้ผิวหนัง เซลล์ หรือประสาทจากส่วนอื่นมาปะบริเวณปาก คอ หรือ ขากรรไกร

การผ่าตัดต่อมน้ำลายเป็นงานที่ยาก เนื่องจากมีเส้นประสาทสำคัญอยู่เป็นจำนวนมากบริเวณต่อม เช่น เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของหน้า เป็นต้น

ส่วนรังสีบำบัด/รังสีรักษา (Radiation therapy) ใช้เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด หรือที่เรียกว่า เป็นการรักษาเสริม (Adjuvant therapy) เพื่อลดโอกาสของการกลับมาเป็นซ้ำภายหลังการรักษา หรือในกรณีที่การผ่าตัดไม่สามารถทำได้ เนื่องจากก้อนเนื้อใหญ่หรืออยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการผ่าออก ก็อาจใช้การฉายแสงอย่างเดียว

ทั้งนี้ การให้เคมีบำบัดอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง กรณีที่เชื้อกระจายไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย แต่จะไม่ใช้เป็นการรักษาตามมาตราฐาน (Standard treatment) ของการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย

จากผลการศึกษาระหว่างปี พ.ศ.2541-2542 ของ National Cancer Database สหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการอยู่รอดหลัง 5 ปี (5-year Relative Survival Rate) มีดังนี้ ระยะที่ 1 ร้อยละ 91, ระยะที่ 2 ร้อยละ 75, ระยะที่ 3 ร้อยละ 65 และระยะที่ 4 ร้อยละ 39

และเนื่องจากการใช้รังสีบำบัด/รังสีรักษาจะทำให้รู้สึกไม่สบาย เกิดภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย (Xerostomia) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในช่องปาก มีปัญหาเรื่องฟันผุ กิน กลืน และพูดลำบาก ดังนั้นจึงควรดูแลตนดังนี้

  • แปรงฟันบ่อยๆ ในแต่ละวัน โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มและค่อยๆ แปรง
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ หลังมื้ออาหาร
  • พยายามทำให้ปากชุ่มชื้นด้วยการดื่มน้ำ หรืออมลูกอมที่ปราศจากน้ำตาล (Sugarless candies) เพื่อกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำลาย
  • กินอาหารที่เป็นน้ำๆ เช่น ซุป นม ฯลฯ หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นกรด รสจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์

แหล่งข้อมูล

  1. Salivary gland cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/salivary-gland-cancer/basics/definition/con-20029305 [2015, September 14].
  2. Salivary Gland Cancer Treatment. http://www.cancer.gov/types/head-and-neck/patient/salivary-gland-treatment-pdq [2015, September 14].
  3. What is salivary gland cancer?. http://www.cancer.org/cancer/salivaryglandcancer/detailedguide/salivary-gland-cancer-what-is-salivary-gland-cancer [2015, September 14].
  4. Salivary Gland Cancer. http://www.medicinenet.com/salivary_gland_cancer/article.htm [2015, September 14].