มะเร็งตับ (Liver cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งตับ (Liver cancer) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อตับเกิดเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเกินปกติ จึงส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งในตับ ที่รุกราน/ลุกลามเนื้อเยื่อตับจนตับทำงานได้น้อยลง รวมถึงลุกลามออกนอกตับเข้าสู่เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้กับตับ เช่นที่ขั้วตับ และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตเข้าสู่อวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ที่ตับส่วนอื่นๆ ปอด และกระดูก และก่ออาการต่างๆ เช่น ตับโตจนคลำได้(ก้อนที่ชายโครงขวา) เจ็บ/ปวดตับ แน่นอึดอัดท้อง ท้องมาน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผอมลง และ ตัวเหลืองตาเหลือง

มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งพบบ่อยของชายและหญิงไทย และของทั่วโลก เป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่อาจพบในเด็กได้บ้าง โดยทั่วโลกในปีพ.ศ. 2555 ในผู้หญิงพบโรคได้ 8-60 รายต่อประชากรหญิง100,000ราย ในผู้ชายพบโรคได้ 18-98 รายต่อประชากรชาย100,000คน ส่วนประเทศไทย ช่วงปีพ.ศ. 2552-2555 มีรายงานโรคนี้ ในผู้หญิง 12.9 ราย ต่อประชากรหญิง100,000 คน และในผู้ชาย 33.9 ราย ต่อประชากรชาย 100,000 คน ซึ่งโรคมะเร็งตับจัดเป็นโรคที่รุนแรง ในปีพ.ศ. 2551 มีรายงานการเสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วโลก 700,000 ราย เป็นการตายอันดับ 3 จากโรคมะเร็งทั้งหมด อันดับ 1 คือ โรคมะเร็งปอด (1.4 ล้านราย) ส่วนอันดับสอง คือ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (740,000 ราย)

โรคมะเร็งตับ มีได้ทั้งชนิดเกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อของตับเอง เรียกว่า ‘มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ(Primary liver cancer)’ และชนิดแพร่กระจายมาจากโรคมะเร็งอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเรียกว่า ‘มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิ (Secondary liver cancer)’ซึ่งจะแพร่กระจายจากโรคมะเร็งอื่นๆได้ทุกชนิด ที่พบบ่อย จะแพร่มาจาก โรคมะเร็งปอด และ โรคมะเร็งเต้านม

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึง ’มะเร็งตับ’ ทั่วไปจะหมายถึง ‘มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ’ และบทความนี้จะกล่าวถึงโรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากเซลล์ตับ/มะเร็งตับปฐมภูมิเท่านั้น โดยขอเรียกว่า ‘มะเร็งตับ’

ส่วนมะเร็งตับทุติยภูมิ คือ โรคมะเร็งอื่นๆที่เป็นระยะที่4ที่โรคแพร่กระจายมาตับ จะมีธรรมชาติของโรคและวิธีรักษาแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของมะเร็งอวัยวะต้นกำเนิด แนะนำอ่านเพิ่มเติมมะเร็งต่างๆเหล่านั้นได้ในเว็บ haamor.com เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งตับ/มะเร็งชนิดเกิดจากเซลล์ตับ/มะเร็งตับปฐมภูมิ มีหลากหลายชนิดทั้งมะเร็งในกลุ่มคาร์ซิโนมา และซาร์โคมา แต่ที่พบบ่อยคือ กลุ่ม ‘คาร์ซิโนมา’ ที่มักเป็นชนิด

  • Hepatocellular carcinoma /เฮปาโตเซลลูลาคาร์ซิโนมา หรือ เฮปาโตมา/Hepatoma ย่อว่า ‘เอชซีซี/HCC’, และชนิด
  • Intrahepatic cholangiocarcinoma /โคแลงจิโอคาร์ซิโนมาตับ หรือมะเร็งท่อน้ำดีตับ ย่อว่า ‘CCA/ซีซีเอ หรือ CCC/ซีซีซี’/ชื่อทั่วไปคือ Bile duct carcinoma)

ก. มะเร็งเอชซีซี/มะเร็งเซลล์ตับ เป็นโรคพบบ่อยของคนไทย และของทั่วโลก เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อตับ โดยพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า จะเป็นมะเร็งตับที่กล่าวถึงในบทความนี้

ข. มะเร็งซีซีเอ หรือ มะเร็งท่อน้ำดีตับ เป็นโรคพบสูงมากในบ้านเรา มักพบในคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย และมักพบในคนสูงอายุ ตั้งแต่อายุ 50-60 ปีขึ้นไปบ่อยกว่าในอายุอื่น โดยเป็นมะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดีภายในตับซึ่งจะไม่เขียนถึงในบทความนี้ แต่แยกเขียนเป็นอีกบทความ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งท่อน้ำดีตับ’

โรคมะเร็งตับเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งตับ

สาเหตุที่แน่อนของโรคมะเร็งตับ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ

ก. ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเอชซีซี/มะเร็งเซลล์ตับ ได้แก่

  • ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
  • ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
  • เป็นโรคตับแข็ง
  • กินเชื้อราชนิดอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่ปนเปื้อนในอาหารเป็นประจำ เช่น จาก ธัญพืชที่เปียกชื้น

ข. ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งซีซีเอ/มะเร็งท่อน้ำดีตับ ได้แก่

  • ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จากกินปลาน้ำจืดดิบ หรือ ดิบๆสุกๆ เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า
  • ท่อน้ำดีในตับอักเสบเรื้อรัง อาจจากพันธุกรรมผิดปกติ โดยมักพบร่วมกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

โรคมะเร็งตับมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคมะเร็งตับทุกชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค

    อย่างไรก็ตาม เมื่อโรคลุกลาม อาการที่พบบ่อย คือ

  • แน่นอึดอัดท้อง
  • ปวดท้องด้านขวาตอนบน(ตำแหน่งของตับ) ปวด/เจ็บที่ตับ
  • อาจคลำตับได้จากตับโต (ปกติคลำไม่ได้)
  • เบื่ออาหาร กินไม่ได้ (จากน้ำในท้องกด/เบียดทับกระเพาะอาหาร) ผอมลง -มีน้ำในท้อง/ท้องมาน
  • หายใจเหนื่อยหอบจากน้ำในท้องดัน/กด/เบียดทับปอด และ
  • มีตัวเหลือง ตาเหลือง และคันตามตัวมาก(จากการระคายเคืองผิวหนังจากสารสีเหลือง/น้ำดี ในเลือดที่เป็นสาเหตุให้ตัว/ตาเหลือง) ซึ่งมักเป็นอาการจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งตับได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งตับทุกชนิดได้จาก อาการ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติดื่มสุรา ถิ่นที่พักอาศัย ตรวจร่างกาย ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อาจตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง (สารทูเมอร์มากเกอร์/Tumor marker)ชนิดที่เซลล์มะเร็งตับสร้าง ซึ่งสารมะเร็งสำคัญคือ AFP (Alfa feto protein) และจากตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพก้อนเนื้อในตับด้วยการฉีดสี /สารทึบแสงเข้าหลอดเลือดแดงตับ(Angiography)

โรคมะเร็งตับมีกี่ระยะ?

ปัจจุบันมีการแบ่งระยะโรคมะเร็งเอชซีซี/มะเร็งเซลล์ตับได้หลากหลายระบบขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาล แต่ในภาพรวม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้แก่

ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลามเข้าหลอดเลือดในตับ และมีเพียงก้อนเนื้อเดียว

ระยะที่ 2: มีการลุกลามของก้อนเนื้อเข้าหลอดเลือดในตับ และ/หรือ มีก้อนเนื้อหลายก้อน แต่ยังเป็นก้อนเล็กๆขนาดไม่เกิน5ซม.

ระยะที่ 3: ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก มีหลายก้อน แต่ละก้อนโตมากกว่า 5 ซม. จัดเป็น’ระยะ3A’, และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ และ/หรือ เข้าหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง จัดเป็น ‘ระยะ3B’, และ/หรือ ลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้อง จัดเป็น ’ระยะ3C’

ระยะที่ 4: โรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ติดกับตับ จัดเป็น ‘ระยะ4A’, ถ้าแพร่กระจายทางกระแสโลหิตเข้าสู่ ตับส่วนอื่นๆ และ/หรือ เข้าสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง กระดูก หรือ แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากตับ เช่น ในช่องท้อง หรือ บริเวณไหปลาร้า จัดเป็น ‘ระยะ4B’

*อนึ่ง ระยะโรคของมะเร็งท่อน้ำดีตับ/ซีซีเอ อ่านเพิ่มเติมในอีกบทความในเว็บhaamor คือบทความเรื่อง ‘มะเร็งท่อน้ำดีตับ’

โรคมะเร็งตับรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับที่สำคัญ คือ

  • ผ่าตัด และ รังสีร่วมรักษา
  • การปลูกถ่ายตับ
  • ส่วน รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ยารักษาตรงเป้า (ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง) ยังอยู่ในการศึกษา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งตับอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งตับทุกชนิดขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้น เมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน และ/หรือ
  • เมื่อผู้ป่วยสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • มีโรคเรื้อรังประจำ ตัว โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง และ
  • ในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากวิธีรักษาต่างๆ ได้แก่

ก. การผ่าตัด: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การสูญเสียตับ จนอาจต้องทำการปลูกถ่ายตับ แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ

ข. รังสีร่วมรักษา: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ตับติดเชื้อจนอาจเกิดฝีตับ เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อตับ ตับวาย และไตวาย

ค. รังสีรักษา: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ผลข้างเคียงต่อ ผิวหนังตรงส่วนที่ฉายรังสี และต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)

ง. ยาเคมีบำบัด: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)

จ. ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

โรคมะเร็งตับรักษาหายไหม? เป็นโรครุนแรงไหม?

โรคมะเร็งตับทุกชนิดเป็นโรครุนแรงมาก และมักพบโรคในระยะรุนแรงเนื่องจากเมื่อเริ่มเกิดโรค มักไม่มีอาการ จึงเป็นสาเหตุให้พบแพทย์ล่าช้า

ทั่วไป อัตรารอดที่5ปีของมะเร็งเอชซีซี/มะเร็งเซลล์ตับ ได้แก่

  • ระยะที่1-2 ที่ผ่าตัดก้อนมะเร็งได้หมด: ประมาณ 30%
  • โรคระยะ3: ประมาณ 10%
  • โรคระยะ4: ประมาณ 0-3%

*อนึ่ง อัตรารอดที่5ปีของมะเร็งท่อน้ำดีตับ อ่านเพิ่มเติมในอีกบทความในเว็บhaamor คือบทความเรื่อง ‘มะเร็งท่อน้ำดีตับ’

โรคมะเร็งตับตรวจคัดกรองได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อตรวจให้พบโรคมะเร็งตับทุกชนิดตั้งแต่ระยะเริ่มแรกยังไม่มีอาการ ยกเว้นในคนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง(ดังกล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ที่มีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะรับการรักษาแบบหายขาดได้) ทั้งนี้อาจโดย

  • การตรวจหาค่า สารมะเร็งเฉพาะของตับ(ค่าสารAFP) และ
  • ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์

ซึ่งทั้ง 2วิธีการ แพทย์จะให้การตรวจติดตามเป็นระยะๆ โดยความถี่ของการตรวจ จะขึ้น กับ อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วยไป

ป้องกันโรคมะเร็งตับได้อย่างไร?

การป้องกันโรคมะเร็งตับ คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ และที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบ ซี และ
  • ไม่ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็ง

นอกจากนั้น คนในถิ่นระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรพบแพทย์/พยาบาลขอรับการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาไข่ของพยาธิใบไม้ตับ โดยความถี่ในการตรวจขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล เพื่อการรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนเกิดอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดีซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อท่อน้ำดีไปเป็น’มะเร็งท่อน้ำดีตับ’ได้

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์ตรวจมะเร็งตับ?

ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าว และเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับทั้งสองชนิด

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกอวัยวะ รวมถึงมะเร็งตับ จะคล้ายกัน นำมาปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำ อ่านเพิ่มเติมใน

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. Bosch, F. et al. (2004). Primary liver cancer: worldwide incidence and trend. Gastroenterology. 127 (5 suppl 1),s5-s16.
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles & practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer.
  4. Gunderson, L., and Tepper, J. (2007). Clinical Radiation Oncology (second edition). Philadelphia: Elsevier Churchill Livingstone.
  5. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Liver_cancer [2018,Sept1]
  7. https://www.wcrf.org/int/cancer-facts-figures/data-specific-cancers/liver-cancer-statistics [2018,Sept1]
  8. https://www.cancer.org/cancer/liver-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Sept1]