มะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวของช่องคลอด ณ ตำแหน่งใดก็ได้ เกิดกลายพันธ์เจริญแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติ โดยที่ร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ กลายเป็นเซลล์มะเร็ง/ก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งที่มีการรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อช่องคลอดเอง ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียงช่องคลอด เข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และ/หรือที่ขาหนีบ และในที่สุดแพร่กระจายตามกระแสโลหิต/เลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ ปอด และ/หรือ แพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองที่ไกลช่องคลอด เช่น ในช่องท้อง หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า

มะเร็งช่องคลอด เป็นโรคพบได้น้อยมากๆ เพียงประมาณ 1-3%ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธ์สตรีทั้งหมด หรือประมาณ 0.4-0.6 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน สำหรับประเทศไทย รายงานโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2553 พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 พบโรคนี้ 0.2 รายต่อประชากรหญิง 1แสนคน แต่รายงานในปี 2558 ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งช่วงปี 2553-2555 รายงานว่า ‘ไม่พบโรคนี้’

มะเร็งช่องคลอดเป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ พบได้สูงขึ้นตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่อายุต่ำกว่านี้ก็พบได้ แต่น้อยมากๆๆ

อนึ่ง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม กายวิภาคและสรีรวิทยาของช่องคลอด ได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘อวัยวะเพศภายในสตรี’

 

โรคมะเร็งช่องคลอดมีกี่ชนิด?

มะเร็งช่องคลอด

มะเร็งช่องคลอด มีหลากหลายชนิดทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา แต่ที่พบบ่อยและเป็นเกือบทั้งหมดของมะเร็งช่องคลอดคือ มะเร็งคาร์ซิโนมาชนิดย่อยที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ

  • ชนิดสะความัส (Squamous cell carcinoma ย่อว่า SCC) ที่พบบ่อย/เป็นเกือบทั้งหมด และ
  • ชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ซึ่งชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมานี้ พบได้น้อยกว่าชนิดแรกมาก และยังพบในอายุที่น้อยกว่าชนิดสะความัส คือในอายุต่ำกว่า 20-30 ปี โดยไม่ค่อยพบในอายุมากกว่า 40 ปี

ทั้งนี้ ทั่วไป เมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งช่องคลอด’ จะหมายถึง ‘มะเร็งช่องคลอดชนิดคาร์ซิโนมา(Vaginal carcinoma)’ ซึ่งรวมถึงบทความนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมักตรวจพบเซลล์ผิดปกติของช่องคลอดในระยะที่เซลล์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งแต่ยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง (Pre invasive) ที่เรียกว่าย่อ เวน/ VAIN (Vaginal intraepithelial neoplasia) โดยพบโรคระยะVAINนี้ได้สูงกว่าการพบเมื่อเป็นมะเร็งแล้ว

VAIN แบ่งย่อยตามลักษณะเซลล์ที่จะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้เป็น3ระดับ/เกรด/Grade ตามลักษณะทางพยาธิวิทยา และจากการตรวจที่เรียกว่า ‘การส่องกล้องปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป’ คือ

  • VAIN 1 เป็นเซลล์ระดับมีการเปลี่ยนแปลงต่ำ มักหายได้เองโดยธรรมชาติของร่างกาย ไม่ต้องมีการรักษา
  • VAIN 2 เซลล์ผิดปกติระดับปานกลาง และไม่หายไปเอง มีโอกาสเจริญเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีรักษา คือ การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ และ/หรือป้ายรอยโรคด้วยยาเคมีบำบัด เช่น ยา 5FU, ยา Imiquimod
  • VAIN 3 คือเซลล์มีลักษณะเป็นเซลล์มะเร็งชัดเจน แต่ยังไม่มีการรุกรานออกนอกเยื่อบุผิว ซึ่งก็คือ โรคระยะ0 ที่การรักษา อาจเป็นการผ่าตัด และ/หรือ รังสีรักษา

 

โรคมะเร็งช่องคลอดเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งช่องคลอด ยังไม่ทราบ แต่พบปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกับโรคมะเร็งปากมดลูก คือ

  • ผู้หญิงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ เนื่องจากหญิงกลุ่มนี้ อาจมีสุขภาพอนามัยที่ไม่สมบูรณ์ หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้สูงกว่า
  • มีคู่นอนหลายคน มักตั้งแต่ 5คนขึ้นไป
  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ มักก่อนอายุ 17 ปี
  • มีการติดเชื้อไวรัสทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริมอวัยวะเพศ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (HPV, Human papilloma virus) และ/หรือ หูดอวัยวะเพศ
  • มีประวัติเคยเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่รักษาหายแล้ว
  • มารดามีประวัติใช้ฮอร์โมนเพศหญิงบางชนิดขณะตั้งครรภ์ ซึ่งการใช้ฮอร์โมนนี้ มักสัมพันธ์กับเซลล์มะเร็งชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา
  • มีประวัติตัดมดลูก/ปากมดลูกจากโรคมะเร็งปากมดลูก ระยะ0
  • สูบบุหรี่

 

โรคมะเร็งช่องคลอดมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคมะเร็งช่องคลอด จะเช่นเดียวกับอาการของโรคมะเร็งปากมดลูก กล่าวคือ

  • มีตกขาวมากกว่าปกติ มีตกขาวเรื้อรัง และมักมีกลิ่นเหม็น
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อาจออกกระปริดกระปรอย หรือออกภายหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือออกภายหลังหมดประจำเดือนแล้ว
  • มีประจำเดือนผิดปกติ มักมาบ่อย หรือ มามาก
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น เข้าอุ้งเชิงกราน (ช่องท้องน้อย) ก้อนเนื้ออาจกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ติดด้านหน้าของช่องคลอด จึงก่อให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะขัด หรือกดเบียดทับลำไส้ตรง หรือทวารหนักที่อยู่ติดด้านหลังของช่องคลอด จะทำให้มีอาการท้องผูก หรือเมื่อลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นๆในอุ้งเชิงกราน จะก่ออาการปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรังได้

 

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งช่องคลอดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งช่องคลอดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจดู/คลำอวัยวะเพศภายนอก
  • การตรวจภายใน
  • และการตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบทั้งซ้ายขวา
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผลในช่องคลอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ภายหลังผลชิ้นเนื้อระบุเป็นมะเร็ง การตรวจสืบค้นเพิ่มเติม คือ การตรวจเพื่อประเมินระยะโรค และเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไปมักเป็น

  • การตรวจภาพช่องท้อง หรือช่องท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน) ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง และในช่องท้องน้อย
  • การตรวจเลือด ซีบีซี
  • การตรวจเลือดดู ค่าน้ำตาล ดูการทำงานของตับและของไต
  • การตรวจปัสสาวะดู การทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • และตรวจเอกซเรย์ภาพปอดเพื่อดู โรคปอด โรคหัวใจ และดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ปอด

 

โรคมะเร็งช่องคลอดมีกี่ระยะ?

มะเร็งช่องคลอดมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ และบางระยะอาจแบ่งย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นแนวทางในการรักษาโรค การพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา ซึ่งระยะโรคที่แพทย์มะเร็งนรีเวชนานาชาตินิยมใช้คือ FIGO staging (the International Federation of Gynecology and Obstetrics) โดยแบ่งเป็น 4 ระยะหลัก คือ

  • ระยะที่1 โรคมะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในช่องคลอด
  • ระยะที่2 โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานแต่อยู่รอบๆช่องคลอด
  • ระยะที่3 โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกรานจนถึงระดับกระดูกอุ้งเชิงกราน, และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ ด้านใดด้านหนึ่ง หรือ ทั้งสองด้าน และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน
  • ระยะที่4 แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ4A โรคมะเร็งลุกลามทะลุกระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ตรง
    • ระยะ4B โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองทำลายต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า, และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด)ไปทำลายอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไปได้ทั่วร่างกาย โดยเมื่อแพร่กระจายมักเข้าสู่ ปอด

อนึ่ง: เมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิวของช่องคลอด เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งระยะนี้เรียกอีกชื่อว่า ‘Vaginal carcinoma insitu’ หรือ ‘VAIN 3’

 

โรคมะเร็งช่องคลอดรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษามะเร็งช่องคลอด เช่นเดียวกับในโรคมะเร็งปากมดลูก คือ

  • ในโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง(ระยะ0) และในโรคมะเร็งระยะที่ 1 อาจเป็นการผ่าตัด หรือรังสีรักษา วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับขนาด และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง อายุ สุขภาพของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์
  • แต่ในโรคระยะที่มีการลุกลามมากขึ้น การรักษามักเป็น รังสีรักษาวิธีการเดียว หรือร่วมกับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับอายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

 

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งช่องคลอดอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งช่องคลอดขึ้นกับ วิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงขึ้น เมื่อ

  • ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่ และ/หรือ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

ตัวอย่าง ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งช่องคลอดตามวิธีรักษา เช่น

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อที่ได้รับรังสีรักษา แนะนำอ่านเพิ่มเติมใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา, และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง
  • ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

 

โรคมะเร็งช่องคลอดรุนแรงไหม?

มะเร็งช่องคลอด เป็นโรคมีความรุนแรงโรค/การพยากรณ์โรคดีระดับปานกลาง สามารถรักษาหายได้ ทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

โดยทั่วไป อัตรารอดที่ห้าปีภายหลังการรักษา ใน

  • โรคระยะที่1 ประมาณ 75-90%
  • โรคระยะที่ 2 ประมาณ 50-70%
  • โรคระยะที่ 3 ประมาณ 30-40%
  • โรคระยะที่ 4
    • เมื่อโรคยังไม่แพร่กระจาย(ระยะ4A) ประมาณ 0-15% และ
    • เมื่อมีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว(ระยะ4B) ประมาณ 0-5%

 

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งช่องคลอดไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งช่องคลอด จะทำไปพร้อมๆกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก เพราะเมื่อมีการตรวจปากมดลูก แพทย์จะตรวจช่องคลอดร่วมไปด้วยเสมอ ดังนั้นจึงควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)สม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยคัดกรองได้ทั้ง มะเร็งช่องคลอด และ มะเร็งปากมดลูก

นอกจากนั้น คือ การสังเกตอาการผิดปกติต่างๆของตนเอง เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ ‘อาการฯ’ ควรรีบพบสูตินรีแพทย์ ภายใน 1-2 สัปดาห์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

อนึ่ง ในผู้ที่ตัดมดลูกที่รวมถึงตัดปากมดลูกออกไปหมดแล้วจากโรคทั่วๆไปที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น โรคเนื้องอกมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ยังไม่มีการแนะนำการตรวจคัดกรองที่เป็นทางการจากองค์กรสูตินรีแพทย์นานาชาติ แต่แพทย์ผู้ให้การรักษาจะนัดผู้ป่วยเพื่อการตรวจภายใน/ตรวจแป็บสเมียร์เป็นกรณีผู้ป่วย ขึ้นกับว่าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องคลอด หรือ มะเร็งปากมดลูกมากน้อยเพียงใด เช่น ทุก 1-3ปี หรือ ทุก 5 ปี

 

ป้องกันโรคมะเร็งช่องคลอดอย่างไร?

การป้องกันมะเร็งช่องคลอด คือ

  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่หลีกเลี่ยงได้
  • รวมถึง การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่จะครอบคลุมป้องกันมะเร็งช่องคลอดได้ เมื่อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี

 

 

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดซึ่งรวมถึง มะเร็งช่องคลอดจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา /ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด ไม่หยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น มีอาการปวดมากขึ้น กินไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียนมาก
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับอาการท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกมาก วิงเวียนศีรษะมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual. 8th edition
  2. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  3. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. Khuhaprema, T. et al. (2010). Cancer in Thailand. Volume. V, 2001-2003. Thai National Cancer Institute.
  5. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  6. Di Donato,V.et al. Critical Review in Oncology/Hematology.(2012);81:286-295
  7. http://emedicine.medscape.com/article/269188-overview#showall [2019,Jan5]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Vaginal_cancer [2019,Jan5]
  9. https://www.cancer.org/cancer/vaginal-cancer/treating/by-stage.html [2019,Jan5]
  10. https://www.cancer.org/cancer/vaginal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,Jan5]
  11. https://www.cancer.org/cancer/vaginal-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2019,Jan5]