มะเร็งของหนูน้อย (ตอนที่ 3)

มะเร็งของหนูน้อย

มะเร็งในเด็กจะแตกต่างจากมะเร็งในผู้ใหญ่ โดยมะเร็งส่วนใหญ่ที่พบในเด็ก ได้แก่

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
  • มะเร็งในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง (Brain and other central nervous system tumors)
  • มะเร็งต่อมหมวกไตในเด็ก (Neuroblastoma)
  • มะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma)
  • มะเร็งไตในเด็ก (Wilms tumor)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
  • มะเร็งกล้ามเนื้อลาย (Rhabdomyosarcoma)
  • มะเร็งกระดูก (Osteosarcoma และ Ewing sarcoma)

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) เป็นมะเร็งในไขกระดูกที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือด ร้อยละ 35 ของเด็กที่เป็นมะเร็งจะเป็นมะเร็งชนิดนี้ ประมาณ 1 ใน 1,000 คน จะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวก่อนอายุ 19 ปี ทั้งนี้มักจะพบเป็นจำนวนมากในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี และมีอัตราการมีชีวิตอยู่ได้เกิน 5 ปีที่ประมาณร้อยละ 70

สัญญาณและอาการที่แสดงออกของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ได้แก่

  • เซื่องซึม (Lethargy) อ่อนแอ ซีด
  • ปวดหลัง ขา และข้อต่อ ปวดศีรษะ ยืนหรือเดินลำบาก
  • เป็นจ้ำเขียวได้ง่าย (Easy bruising) เลือดไหลผิดปกติ มีเลือดกำเดาออกที่จมูก มีเลือดออกที่เหงือก มีจุดเลือดออกขนาดเล็กในชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุ (Petechiae)
  • ติดเชื้อบ่อย
  • เป็นไข้นานหลายวัน
  • ไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักลด
  • ต่อมน้ำเหลือง ตับ และม้ามโต ท้องอืด
  • เหงื่อออกกลางคืน (Night sweat)
  • หงุดหงิดโกรธง่าย (Irritability)

เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในระยะแรกมักมีอาการปรากฏตามข้างต้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายการเป็นไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงค่อนข้างลำบากในการวินิจฉัย การตรวจเลือดเป็นสิ่งสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้ เด็กที่เป็นโรคนี้มักจะมีผลเลือดดังนี้

  • เซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง (Low hemoglobin count)
  • มีเซลล์มะเร็งของลิมโฟซัยท์ (Lymphoblasts, leukemia cells)
  • มีเกล็ดเลือดต่ำ
  • มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ

ทั้งนี้ ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดนี้จะปรากฏผลเลือดปกติ ดังนั้นหากจะให้มั่นใจแนะนำให้ทำการตรวจไขกระดูกด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. Cancer in Children. http://www.cancer.org/cancer/cancerinchildren/ [2015, May 15].
  2. Signs of Childhood Cancer. http://www.ped-onc.org/diseases/SOCC.html [2015, May 15].