มะเร็งของหนูน้อย (ตอนที่ 2)

มะเร็งของหนูน้อย

เซลล์มะเร็งจะแตกต่างกับเซลล์ธรรมดาตรงที่ ในเซลล์ปกติเมื่อมีดีเอ็นเอเสียหาย (Damaged DNA) เซลล์จะทำการซ่อมแซมตัวเองหรือตายไป ในทางตรงข้ามเซลล์มะเร็งจะไม่ซ่อมดีเอ็นเอที่เสียหายหรือตายไป แต่เซลล์มะเร็งจะสร้างเซลล์ใหม่ที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายซึ่งมีลักษณะดีเอ็นเอที่เสียหายเหมือนเดิม

มะเร็งในเด็กมักจะแตกต่างกับมะเร็งในผู้ใหญ่ กล่าวคือ มะเร็งในเด็กมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอในเซลล์ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม การเป็นตั้งแต่เกิด หรืออาจเป็นตั้งแต่ก่อนคลอดก็ได้ ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่มะเร็งเป็นผลจากการใช้ชีวิตและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยง

ทั้งนี้สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมะเร็งในเด็กยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด บางกรณีอาจเกิดจากจากปัจจัยภายนอก เช่น การสัมผัสกับรังสี (Radiation exposure) หรือบางกรณีอาจเกิดจากปัจจัยภายในเซลล์เอง

มะเร็งในเด็กมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่า เช่น การใช้เคมีบำบัด แต่ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงในระยะยาวได้ ดังนั้นเด็กที่เป็นมะเร็งจำเป็นต้องคอยติดตามผล (Follow-up) ไปตลอดชีวิต

มะเร็งในเด็กเป็นสาเหตุให้เด็กเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ โดยในแต่ละปีมีการตรวจพบมะเร็งในเด็กไม่เกินร้อยละ 1 ของมะเร็งทั้งหมด อย่างไรก็ดีอัตราการเกิดมะเร็งในเด็กก็มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น มีการประมาณว่าในปี พ.ศ.2558 มีเด็กอเมริกันที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 10,380 คน ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และในจำนวนนี้มีเด็ก 1,250 คน ที่จะเสียชีวิต

ด้วยวิวัฒนาการในการรักษาที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน มากกว่าร้อยละ 80 ของเด็กที่เป็นมะเร็งจะมีอัตราการรอด (Survival rates) 5 ปีขึ้นไป โดยอัตราการรอดนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่เป็นและปัจจัยอื่นๆ

มะเร็งในเด็กมักตรวจพบโดยกุมารแพทย์ พ่อแม่ หรือญาติของเด็ก การวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในเด็กทำได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้เพราะอาการแรกเริ่มนั้นจะคล้ายกับอาการไม่สบายธรรมดาของเด็ก ดังนั้น พ่อแม่ควรพาลูกไปตรวจร่างกาย (Regular medical check-ups) และคอยสังเกตุอาการผิดปกติของลูก เช่น

  • มีก้อนบวมผิดปกติ
  • อาการซีดโดยไม่มีสาเหตุ หรือไม่มีแรง
  • มีจ้ำเขียวได้ง่าย (Easy bruising)
  • ปวดบริเวณร่างกายเรื่อยๆ
  • เดินเขยก (Limping)
  • มีไข้หรือเจ็บป่วยไม่หาย
  • สายตาเปลี่ยน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

แหล่งข้อมูล

  1. Cancer in Children. http://www.cancer.org/cancer/cancerinchildren/ [2015, May 14].
  2. Signs of Childhood Cancer. http://www.ped-onc.org/diseases/SOCC.html [2015, May 14].