มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urinary bladder cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วย ไต กรวยไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งกระเพาะปัสสาวะนั้นอยู่หลังกระดูกหัวหน่าวภายในอุ้งเชิงกราน และอยู่หน้าต่อมดลูกในผู้หญิง อยู่หน้าต่อทวารหนักในผู้ชาย ทำหน้าที่เป็นที่เก็บสะสมน้ำปัสสาวะและขับถ่ายออกมาเมื่อปริมาณปัสสาวะมีปริมาณ 300-350 ซีซี (cc, Cubic centrimetre)

ในบทความนี้ จะกล่าวถึง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่เรียกในภาษาแพทย์ว่า Urinary bladder cancer หรือ Urinary bladder carcinoma หรือ Bladder cancer หรือ Bladder carcinoma

อนึ่ง ในประเทศไทย พบโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้บ่อยเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบมากในเพศชาย โดยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขพ.ศ. 2558(ผู้ป่วยช่วงพ.ศ. 2553-2555) พบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในชายไทย 4.2 รายต่อประชากรชายไทย1แสนคน และในหญิงไทย 1.0 รายต่อประชากรหญิงไทย1แสนคน

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะคืออะไร?

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมักเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะปัสสาวะมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อขึ้นมา และก้อนเนื้อนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆจนอาจเต็มกระเพาะปัสสาวะ ลุกลามออกไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะข้างเคียง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต(เลือด)ได้

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมักพบในใคร?

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงได้ถึงประมาณ 3 เท่า สำหรับประเทศไทยนั้น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ พบได้สูงในผู้ชายช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และในผู้หญิงช่วงอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ?

ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ คือ

  • การสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและขับ ถ่ายออกทางปัสสาวะโดยตรง ทำให้เยื่อเมือกบุกระเพาะปัสสาวะสัมผัสสารก่อมะเร็งได้โดยตรง
  • สารเคมีที่มีส่วนประกอบของสารอะนิลีน (Aniline) หรือสารพวกไฮโดรคาร์บอน (Hy drocarbon) ซึ่งพบได้มากใน สีย้อมผ้า สีย้อมผม และอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ยาง และสายไฟฟ้า
  • การติดเชื้อพยาธิใบไม้ชนิดอาศัยในเลือด (Schistosomiasis) เป็นพยาธิที่มักพบในแถบประเทศตะวันออกกลาง โดยพยาธิชนิดนี้มักจะวางไข่ที่ผนังของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้
  • อาจจากได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่น ยา Cyclophosphamide
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมบางชนิด

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่

  • ปัสสาวะเป็นเลือดโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ 75% ของผู้ป่วยมะ เร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือในบางรายอาจมีเพียงเลือดหยดออกมาเมื่อปัสสาวะสุด หรือ เมื่อตรวจปัสสาวะแล้วพบว่ามีเม็ดเลือดแดงปนมากับปัสสาวะมากผิดปกติก็ได้
  • มีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบ หรือขัด
  • มีอาการปวดหลัง หรือ เกิดโรคไตเรื้อรัง หรือภาวะไตวายได้ ซึ่งเกิดจากการลุกลามของโรคมะเร็งไปอุดตันท่อไต
  • นอกจากนั้น อาจมีอาการที่เกิดจากการที่โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ เช่น
    • คลำต่อมน้ำเหลืองได้ที่ขาหนีบ หรือที่เหนือไหปลาร้า เมื่อมีโรคกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองนั้นๆ
    • อาจมีอาการไอ หายใจลำบาก หากมีโรคกระจายไปปอด หรือ
    • มีอาการปวดกระดูก หากโรคกระจายไปกระดูก

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้จาก

  • ประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบอาการปัสสาวะเป็นเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาจพบว่ามี ภาวะซีด อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่ายจากมีเลือดออกเรื้อรังจากก้อนมะเร็งปนมาในปัสสาวะ
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ซึ่งอาจพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง หรือภาวะซีดได้
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
    • เพื่อดูการทำงานของไต อาจมีการทำงานของไตผิดปกติได้
    • เพื่อดูการทำงานของตับ อาจมีการทำงานของตับผิดปกติได้
    • เพื่อดูระดับเกลือแร่ต่างๆ อาจมีระดับของเกลือแร่ต่างๆผิดปกติซึ่งจะทำให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ได้
  • การตรวจปัสสาวะ อาจพบเม็ดเลือดแดงออกมาผิดปกติในปัสสาวะ หรือตรวจปัสสาวะด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา ซึ่งอาจพบเซลล์มะเร็งปนออกมากับปัสสาวะได้
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและในปอด รวมทั้งดูการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ปอด
  • การตรวจส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ โดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปดูในกระเพาะปัสสาวะ และตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือจากเนื้อเยื่อที่พบผิดปกติ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะเป็นการตรวจที่มีความแม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยโรคนี้
  • การตรวจเอกซเรย์ที่เรียกว่า ไอวีพี (IVP, Intravenous pyelography) เพื่อดูการทำ งานของไต และของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสามารถดูขนาดของก้อนมะเร็ง และดูว่ามีท่อไตอุดตันหรือไม่ ได้ด้วย
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan/ซีทีสะแกน) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI /เอมอาร์ไอ) บริเวณช่องท้องเพื่อดูภาพอวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะ และดูว่ามีโรคกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆในช่องท้องด้วยหรือไม่
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) ที่เรียกว่า โบนสะแกน/สะแกนกระดูก (Bone scan) เพื่อดูว่ามีโรคกระจายไปกระดูกหรือไม่

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมี 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็ง อยู่เฉพาะบริเวณเยื่อเมือกและเนื้อเยื่อใต้เยื่อเมือกบุกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็ง ลุกลามเข้าสู่บริเวณกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็ง ลุกลามออกมาที่เนื้อเยื่อรอบๆกระเพาะปัสสาวะหรือเข้าสู่อวัยวะข้างเคียง เช่น มะเร็งลุกลามเข้าต่อมลูกหมากในผู้ชาย หรือมะเร็งลุกลามเข้ามดลูกและช่องคลอดในผู้หญิง
  • ระยะที่ 4: ก้อนมะเร็ง ลุกลามเข้าผนังอุ้งเชิงกราน (ผนังช่องท้องน้อย) หรือผนังช่องท้อง, และ/หรือโรคมะเร็งกระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง ทั้งในอุ้งเชิงกราน และ/หรือไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นๆ, และ/หรือโรคมะเร็งแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด และกระดูก

อนึ่ง โรคระยะศูนย์ (Stage 0/ มะเร็งระยะศูนย์) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CISคือ โรคระยะที่เซลล์มะเร็งยังจำกัดอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อชั้นเยื่อบุผิว/เยื่อเมือกของผนังกระเพาะปัสสาวะ ยังไม่รุกรานออกนอกชั้นเยื่อบุผิว(Non invasive)

รักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอย่างไร?

ในการดูแลรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั้นจะให้การดูแลรักษาตามระยะของโรค โดยการดูแลรักษาแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

ก. การรักษามะเร็งที่ลุกลามอยู่เฉพาะบริเวณเยื่อเมือกบุกระเพาะปัสสาวะ ทำได้โดย

  • การสอดเครื่องมือเข้าทางท่อปัสสาวะแล้วใช้กระแสไฟฟ้าจี้ที่ก้อนมะเร็งให้หมดไป
  • ในผู้ป่วยบางราย แพทย์ที่ทำการรักษาอาจพิจารณาใส่ยาเคมีบำบัด หรือใส่สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง(ใส่วัคซีนบีซีจี/BCG)เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย หลังใส่ยาแล้วจะเก็บยาไว้ในกระเพาะปัสสาวะประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้น จึงค่อยให้ถ่ายปัสสาวะทิ้งยาออกมา

ข. การรักษามะเร็งในผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามออกนอกเยื่อเมือก แต่ยังไม่มีการกระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ มีวิธีการรักษาได้หลายวิธี คือ

  • การผ่าตัด ซึ่งอาจผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกเพียงอย่างเดียว โดยยังมีกระเพาะปัสสาวะเหลืออยู่บางส่วน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ หรืออาจผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะพร้อมกับอวัยวะข้างเคียงออกจนหมด แล้วแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะนำลำไส้บางส่วนมาทำเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่แทน ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถปัสสาวะได้ผ่านทางลำไส้นี้ ทั้งนี้การจะผ่าตัดชนิดใดขึ้นกับ ขนาด และตำแหน่งของก้อนมะ เร็ง
  • การให้ยาเคมีบำบัด โดยแพทย์ที่ทำการรักษา อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวก่อนผ่าตัด เพื่อมุ่งหวังให้ก้อนมะเร็งลดขนาดลง และเพื่อลดการแพร่กระ จายก่อนการผ่าตัด หรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสา มารถทำการผ่าตัดแบบเก็บกระเพาะปัสสาวะไว้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ
  • การฉายรังสีรักษา โดยแพทย์ที่ทำการรักษาอาจพิจารณาให้ฉายรังสีก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งยุบลงก่อนการผ่าตัด หรือฉายรังสีหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่โรคมีความรุน แรง หรือในผู้ป่วยบางรายที่ร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง แพทย์อาจพิจารณาให้การฉายรังสีเพียงอย่างเดียว

ค. การรักษามะเร็งที่มีการกระจายไปอวัยวะอื่นๆแล้ว มีการรักษาโดย

  • การใช้ยาเคมีบำบัดเป็นหลักในผู้ป่วยที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงพอ
  • และอาจพิจารณาให้ฉายรังสีเพื่อบรรเทาอาการต่างๆร่วมด้วยได้ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด มีภาวะอุดตันของท่อไตจากมะเร็ง ปวดกระดูกจากโรคกระจายไปกระดูกบริเวณต่างๆ

ง. แต่หากผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอ แพทย์ที่ทำการรักษา อาจให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ(การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ)ต่างๆให้ผู้ป่วยเท่านั้น เช่น

  • ให้เลือด เมื่อมีภาวะซีด หากเลือดออกทางปัสสาวะมากและเรื้อรัง
  • และให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด

จ. การรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์ ยังไม่มียาตัวใดที่ใช้เป็นมาตรฐาน

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

ก. ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น อาการปวดแผลผ่าตัด การมีเลือดออก การติดเชื้อ การบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง เช่น ลำไส้

ข. ผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง การทำงานของไตผิดปกติ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา) และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย

ค. ผลข้างเคียงจากการให้รังสีรักษา เช่น ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน (การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรครุนแรงไหม?

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีผลการรักษา/ความรุนแรง/การพยากรณ์โรค ที่แตกต่างกันตามระยะของโรค โดยอัตรารอดที่ห้าปีในแต่ระยะโรค ได้แก่

  • ระยะ0 อัตรารอดที่5ปี ประมาณ 90-98%
  • ระยะที่ 1 อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 70-85 %
  • ระยะที่ 2 อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 60-65 %
  • ระยะที่ 3 อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 40-45%
  • ระยะที่ 4 อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 0-15%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดัง นั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ จึงควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วที่หลีกเลี่ยงได้ในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น

  • การสูบบุหรี่ และ
  • การสัมผัสกับสารเคมีดังกล่าวที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปัสสาวะเป็นเลือดมากขึ้น ปวดอวัยวะต่างๆมาก ขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้/อาเจียนทุกครั้งที่กิน/ดื่ม ท้องผูกหรือท้องเสียรุนแรง
    • มีไข้โดยเฉพาะเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด