มองโรค(โลก)แบบหมอสมศักดิ์ ตอน: พ่อผมหลงลืม

อาการหลงลืมพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป คนไทยเรามักยอมรับว่าผู้สูงอายุย่อมมีอาการหลงลืม ไม่คิดว่าเป็นโรค แต่จริงแล้วเราต้องแยกให้ได้ว่าเป็นการหลงลืมปกติของผู้สูงอายุ หรือเป็นโรคหลงลืม

หลักง่ายๆ คือ อาการหลงลืมที่พบในผู้สูงอายุนั้น ถ้าไม่ส่งผลต่อกิจวัตรประจำวัน ไม่ส่งผลต่อตัวผู้สูงอายุและญาติแล้ว ก็อาจเป็นภาวะปกติได้ แต่ถ้าอาการหลงลืมนั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อผู้อยู่ด้วย สิ่งนั้นน่าจะเป็นโรคมากกว่า

ผมมีผู้ป่วยเป็นชายสูงอายุประมาณ 65 ปี ลูกหลานพามาตรวจพบมีอาการหลงลืมมาประมาณหกเดือน อาการเป็นมากขึ้นช่วงสองเดือนหลัง มีการเดินลำบาก ล้มบ่อยๆ และปัสสาวะราดเองโดยไม่รู้ตัว

ความผิดปกติที่เล่ามาให้ฟังนั้นเป็นความผิดปกติแน่ๆ และน่าจะเป็นโพรงน้ำในสมองโต ซึ่งพบได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุ จึงส่งตรวจแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (เอมอาร์ไอ) ตรวจการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF) ผลการตรวจเข้าได้กับโรคโพรงน้ำในสมองโตชนิดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะปกติ (Normal Pressure Hydrocephalus) ผมได้ส่งผู้ป่วยพบหมอผ่าตัดสมองเพื่อวางสายระบายน้ำในสมอง หลังผ่าตัดอาการก็ค่อยๆ ดีขึ้นเป็นปกติ

ผมอยากฝากบอกถึงทุกคนว่าอาการลงลืมของผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่เรื่องปกติเสมอไป ต้องพยายามหมั่นสังเกตว่าผู้สูงอายุในบ้านเรามีอาการดังกล่าวหรือไม่ ถ้ามีก็ควรพามาพบแพทย์เพื่อให้ประเมินก่อนเสมอว่าอาการนั้นผิดปกติ หรือเป็นเพียงอาการปกติที่พบได้ในผู้สูงอายุเท่านั้น