มองโรค(โลก)แบบหมอสมศักดิ์ ตอน: ภาวะเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นสิ่งที่ทุกคนกลัวมาก เพราะอาจส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง เหมาะสมและทันเวลา ภาวะเลือดออกในสมองมีได้หลายรูปแบบ เช่น เลือดออกในเนื้อสมองจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี หรือจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมองตั้งแต่เกิด หลอดเลือดสมองโป่งพอง เลือดออกในชั้นใต้ซับอะราชนอยด์ (Subarachnoid hemorrhage) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่กำเนิด หลอดเลือดสมองโป่งพองหรือจากพยาธิไช อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยและมีอันตรายมาก เพราะให้การวินิจฉัยได้ยากจากอาการคือ เลือดออกใต้ชั้นดูราเยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma) เนื่องจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือเกิดขึ้นเองโดยไม่มีประวัติได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ

เลือดออกใต้ชั้นดูราเยื่อหุ้มสมอง คือ ภาวะที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดออกใต้ชั้นดูราที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มสมอง ส่งผลให้มีเลือดออกและเลือดที่ออกนั้นกดเนื้อสมองปกติ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหลและกดทับของสมองส่วนปกติ สมองบวมและเสียชีวิตได้

ภาวะดังกล่าวมีหลายระดับความรุนแรงและหลายรูปแบบการดำเนินโรค กรณีที่มีประวัติชัดเจนว่าได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุนแรง สลบ หมดสติ สูญเสียความทรงจำหรือมีแขนขาอ่อนแรง ก็ไม่ยากในการวินิจฉัย เพราะประวัติและอาการผิดปกติชัดเจน แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ก็พบความผิดปกติดังกล่าว และสามารถให้การรักษาได้อย่างทันเวลา ผลการรักษาได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่

แต่กรณีที่ประวัติอุบัติเหตุไม่ชัดเจน ไม่รุนแรง เหมือนที่เราพบตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ เช่น ชายหนุ่มขี่มอเตอร์ไซด์ล้ม ไม่มีอาการหมดสติ ไม่มีอาการลืมเหตุการณ์ต่างๆ ไปโรงพยาบาลตรวจไม่พบความผิดปกติ แพทย์ให้กลับมาสังเกตอาการที่บ้าน และต่อมาเสียชีวิตที่บ้าน จากการตรวจพบว่ามีเลือดออกในใต้ชั้นดูราดังกล่าว ก็มีเรื่องฟ้องร้องกัน ซึ่งต้องบอกว่าน่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ป่วย ญาติและแพทย์ผู้ดูแลรักษา การที่แพทย์จะให้ผู้ป่วยที่มีประวัติอุบัติเหตุทุกคนต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ก็เป็นไปไม่ได้

แพทย์มีข้อบ่งชี้ว่าต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเมื่อไหร่ เช่น อุบัติเหตุรุนแรง มีกะโหลกศีรษะแตก สลบ สูญเสียความทรงจำหรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท เป็นต้น

ดังนั้น กรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้การส่งตรวจ แพทย์ก็น่าจะแนะนำให้สังเกตอาการ ถ้ามีอาการปวดศีรษะมากขึ้น หรือมีอาเจียน ตาพร่ามัว มีความผิดปกติอื่นๆ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินผู้ป่วยใหม่และให้การรักษาที่เหมาะสม

แพทย์ทุกคนตั้งใจรักษาผู้ป่วยเต็มที่ครับ แต่ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจของผู้ป่วย และญาติ ต่อแพทย์ด้วยครับ