มองโรค(โลก)แบบหมอสมศักดิ์ ตอน: สมองฝ่อ VS/กับ ใจฝ่อ

“คุณหมอครับ ช่วยลุงด้วย เมื่อวานนี้ลุงไปตรวจสุขภาพประจำปีและได้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ผลการตรวจพบว่ามีภาวะสมองฝ่อ ช่วยผมด้วยครับ”

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในยุคประชาชนรักษาสุขภาพครับ หมั่นตรวจสุขภาพ (แต่อาจไม่ได้ดูแลสุขภาพ) มั่นทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (แต่ไม่ได้ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ) ผมต้องพบคนสุขภาพดี แต่ไปตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่ามีสมองฝ่อจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองมาหาผมบ่อยมากๆ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเหมือนกัน คือ สบายดีแต่มีโปรโมชั่นการตรวจสุขภาพประจำปี จึงไปตรวจ แล้วผลการตรวจก็รายงานว่าพบ brain atrophy แปลเป็นไทย คือ สมองฝ่อ จึงตกใจว่าเราจะเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์หรือเปล่า ยิ่งหลงๆ ลืมๆ อยู่ด้วยช่วงนี้ คือ จากสบายดีก็เริ่มมีหลงลืมเกิดขึ้น ยิ่งกังวลก็ยิ่งลืมมากขึ้น จึงต้องมาปรึกษาหมอสมองกันใหญ่

ผมก็จะสอบถามอาการและตรวจระบบประสาท ตรวจความจำทุกอย่างก็ปกติดี พบอย่างเดียว คือ ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่บอกว่าสมองฝ่อ ความจริงก็คือ ผลการตรวจนั้นไม่ผิดพลาดครับ แต่เป็นผลการตรวจทางเอกซเรย์ครับ พบอย่างไรก็ต้องรายงานผลแบบนั้น

ดังนั้น เราต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องกับสมองมนุษย์เราครับ สมองของเรานั้นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์และพัฒนาอย่างรวดเร็วช่วงวัยทารก วัยเด็กเล็ก และสมองเองจะค่อยๆ ลดขนาดของเนื้อสมองลงช่วงวัยยี่สิบต้นๆ แต่ไม่หยุดการพัฒนานะครับ สมองเราสามารถพัฒนาการได้ตลอดชีวิต เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอด เมื่อไปตรวจเอกซเรย์สมองช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เราก็จะพบว่ามีสมองฝ่อบางส่วน ซึ่งก็คือภาวะปกติของมนุษย์เราครับ เหมือนผิวหน้าก็มีเหี่ยวย่นเป็นปกติ หรือตีนกาที่เราพบก็เป็นภาวะปกติ ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคผิวหนังซะหน่อย ผมสังเกตพบว่าทุกคนก่อนตรวจปกติ พอผลตรวจพบว่ามีสมองฝ่อ ใจก็เลยฝ่อไปด้วย การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี ที่เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันก่อนเป็นโรค แต่ไม่ควรตะหนกตกใจจนก่อให้เกิดภาวะใจฝ่อตามมา