มอกซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

มอกซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin) คือ ยาปฏิชีวนะประเภท Fluoroquinolone รุ่นที่ 4 ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้หลากหลายโรค เช่น ปอดบวม ไซนัสอักเสบ ผิวหนังติดเชื้อ ฯลฯ ซึ่งบริษัทไบเออร์ (Bayer) เป็นผู้พัฒนายานี้และได้จดสิทธิบัตรตั้งแต่ ปี ค.ศ.1991 - 2009 (พ.ศ. 2534 - 2552)

ยามอกซิฟลอกซาซิน ถูกวางจำหน่ายในหลายประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า Avelox, Avalox, และ Avelon รูปแบบผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาเป็น ยาฉีด, ยาชนิดรับประทาน, แต่จะมีบ้างที่มีผู้ผลิตนำมอกซิฟลอกซาซินมาผลิตเป็นยาหยอดตาโดยใช้ชื่อการค้าว่า Vigamox และ Moseza เป็นต้น

ยามอกซิฟลอกซาซินเป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง (Broad spectrum) สามารถใช้ต่อต้าน แบคทีเรียได้หลายชนิดเช่น E.coli, Proteus species, Klebsiella species, Mycoplasma, Haemophi lus influenza, Chlamyolia, Legionella, Streptococcus pneumonia, และ Anaerobic bacteria

ยามอกซิฟลอกซาซิน ยังมีข้อดีเหนือกว่ายาปฏิชีวนะ Levofloxacin และ Ciprofloxacin ด้วยสามารถต่อต้านแบคทีเรียแกรมลบ อาจรวมถึงแกรมบวกบางชนิด ตลอดจนกลุ่มแบคทีเรียชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobes) จากคุณสมบัติดังกล่าวทางคลินิกจึงนำยามอกซิฟลอกซาซินมารักษาอาการติดเชื้อต่างๆ เช่น ไซนัสอักเสบ, ปอดบวม, หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง, ผิวหนังติดเชื้อ, การติดเชื้อภายในช่องท้อง/เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ (เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ), หรือที่เยื่อหุ้มสมอง ( เยื่อหุ้มสมองอักเสบ), รวมถึงนำไปรักษา วัณโรคอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาการกระจายตัวของยามอกซิฟลอกซาซินภายในร่างกายของมนุษย์พบว่า การดูดซึมของยาจากระบบทางเดินอาหารมีประมาณ 86 - 92% เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 30 - 50% โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยานี้อยู่ในหมวดยาอันตราย สามารถพบเห็น การใช้ทั้งในสถานพยาบาลและมีจำหน่ายตามร้านขายยาใหญ่ๆโดยทั่วไป

ยามอกซิฟลอกซาซินมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังมากมาย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การใช้ยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

มอกซิฟลอกซาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

มอกซิฟลอกซาซิน

ยามอกซิฟลอกซาซินมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาไซนัสอักเสบ
  • รักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • รักษาปอดบวม
  • รักษาผิวหนังติดเชื้อ
  • รักษาการติดเชื้อของอุ้งเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ในระดับที่ไม่ค่อยรุนแรง
  • รักษาการติดเชื้อภายในช่องท้อง(เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)

มอกซิฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยามอกซิฟลอกซาซินคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Topoisomerase II และ Topoisomerase IV มีผลให้แบคทีเรียไม่สามารถจำลองและซ่อมแซมสารพันธุกรรมของตัวเอง จึงเกิดการชะลอการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

มอกซิฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามอกซิฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 400 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 400 มิลลิกรัม/250 มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 5%
  • ยาหยอดตาที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Moxifloxacin HCl 0.5% + Dexamethasone phosphate 0.1%

มอกซิฟลอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยามอกซิฟลอกซาซินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 400 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง สำหรับระยะเวลาของการรับประทานจะขึ้นกับชนิดของโรค เช่น

  • ไซนัสอักเสบ: เช่น ให้รับประทาน 10 วัน
  • หลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง: เช่น ให้รับประทาน 5 - 10 วัน
  • ปอดบวม: เช่น ให้รับประทาน 7 - 14 วัน
  • ผิวหนังติดเชื้อ: เช่น ให้รับประทาน 7 - 21 วัน

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีการแนะนำที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่งสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยามอกซิฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามอกซิฟลอกซาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยามอกซิฟลอกซาซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

มอกซิฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยามอกซิฟลอกซาซินอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • รู้สึกระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
  • ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการ แพ้ยา, หัวใจเต้นเร็ว, ตับอักเสบ, และตับทำงานผิดปกติ
  • เกิดภาวะรบกวนระบบการทำงานของเลือด
  • ข้ออักเสบ
  • เอ็นอักเสบ (เอ็นบาดเจ็บ)
  • อาจเกิดโรคเชื้อราแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น
  • ภาวะช่องคลอดอักเสบ
  • ปวดท้อง
  • ปวดหัว
  • ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • มีพยาธิสภาพที่ปลายเส้นประสาท

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น รับประทานผิดปริมาณ แพทย์สามารถใช้วิธีล้างท้องร่วมกับการใช้ยาถ่านกัมมันต์ ทั้งนี้จะเป็นไปตามหลักหัตถการทางการแพทย์

มีข้อควรระวังการใช้มอกซิฟลอกซาซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามอกซิฟลอกซาซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก วัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • การรับประทานยานี้ต้องดื่มน้ำตามให้เพียงพอที่จะช่วยละลายตัวยาและทำให้การดูดซึมตัวยาเป็นไปได้ดี
  • ระหว่างได้รับยานี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงด้วยผิวจะแพ้แสงแดดได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วยอาจทำให้อาการโรครุนแรงมากขึ้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการเส้นเอ็นอักเสบ(เอ็นบาดเจ็บ)หรือ เส้นเอ็นปริแตก เช่น เจ็บและบวม ในตำแหน่งที่เกิดการอักเสบ/ปริแตก
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์ร่วมด้วยจะทำให้เกิดภาวะเส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่หัวใจทำงานผิดปกติด้วยอาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นช้าจนถึงขั้น ภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน
  • อาจทำให้เกิดโรคเชื้อราติดตามมาในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยามอกซิฟลอกซาซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

มอกซิฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยามอกซิฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยามอกซิฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อาจทำให้เกิดการกระตุ้นสมองจนเกิดการชักติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยามอกซิฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยาลดกรดกลุ่มที่มีแมกนีเซียมและ อะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบเช่น ยา Magnesium trisilicate, ยา Aluminium hydroxide ด้วยจะส่งผลต่อการดูดซึมของยามอกซิฟลอกซาซิน และทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยามอกซิฟลอกซาซินก่อนยาลดกรดประมาณ 4 ชั่วโมง หรือประมาณ 8 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานยาลดกรด
  • การใช้ยามอกซิฟลอกซาซิน ร่วมกับ ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่นยา Prednisone, Triamcinolone อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเอ็นอักเสบจนถึงขั้นปริแตกโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อป้องกันผลข้าง เคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยามอกซิฟลอกซาซิน ร่วมกับยา Tramadol ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นลมชักมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษามอกซิฟลอกซาซินอย่างไร?

ควรเก็บยามอกซิฟลอกซาซิน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

มอกซิฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามอกซิฟลอกซาซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ตัวแทนจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Avelox (เอวีลอกซ์) Bayer HealthCare Pharma
Vigadexa (ไวกาเดกซา) Alcon
Vigamox (ไวกามอกซ์) Alcon

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Moxifloxacin [2021,Oct16]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/moxifloxacin?mtype=generic [2021,Oct16]
  3. https://www.drugs.com/mtm/moxifloxacin-oral-injection.html [2021,Oct16]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Avelox/?type=BRIEF [2021,Oct16]