มหันตภัย เมื่อขาดไอโอดีน

เมื่อเร็วๆ นี้ ภญ. สุนิสา เสียงสกุลไทย เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชกรสาธารณสุขปัตตานี ได้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประจำตำบลบานา ตำบลตันหยงลุโละ และตำบลบาราโหม เพื่อชี้แจงถึงนโยบายของจังหวัดปัตตานีว่า สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีจะเข้ามาเสริมสารไอโอดีนในเกลือสมุทรในช่วงการผลิต ในปี 2555 คาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณปลายเดือนมีนาคมจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูการทำนาเกลือ โดยกำหนดให้มีปริมาณไอโอดีน 20-40 ppm จากเดิมกำหนดปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 ppm [= part per million อาทิ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม กล่าวคือ 1/1,000,000 หรือหนึ่งส่วนในล้านส่วน]

ไอโอดีน (Iodine) เป็นธาตุทางเคมีที่มี I เป็นสัญลักษณ์ ใช้ในโภชนาการ และอุตสาหกรรมผลิตกรด Acetic และ สาร Polymers บางชนิด และเป็นส่วนหนึ่งของสารเปรียบเทียบความแตกต่างในการถ่ายเอ็กซเรย์ ของการแพทย์สมัยใหม่ (มักเรียกกันว่า การฉีดสี) ไอโอดีนเป็นธาตุที่มีกัมมันตรังสีที่เสถียร (Stable isotope) จึงมีการประยุกต์ใช้ในด้านรังสีวิทยา

ไอโอดีนมักพบในรูปแบบที่ละลายน้ำได้ ตามทะเล หรือ แหล่งน้ำเค็ม การมีปริมาณน้อยในดินตามเปลือกโลก และการถูกกรองด้วยน้ำฝน ทำให้ผู้ที่อาศัยลึกเข้าไปในแผ่นดิน (Inland) [กล่าวคือไกลจากทะเล] ขาดสารไอโอดีน ซึ่งมีผลกระทบต่อประชากร 2 พันล้านคนทั่วโลก และนำไปสู่สาเหตุความพิการทางสติปัญญา แม้เป็นปัญหาที่ป้องกันได้ก็ตาม

ผู้ค้นพบธาตุไอโอดีน คือ Bernard Courtois นักเคมีชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2354 หลังจากที่ได้เขาทดลองกับดินประสิวเป็นจุดเริ่มต้น แล้วแจกจ่ายผลการทดลองแปรธาตุต่างๆ ให้นักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยที่ไปทดลองต่อยอด จนมีการไปนำเสนอผลทดลองต่อยอดต่างๆ ในการประชุมวิชาการของสถาบันจักรวรรดิแห่งฝรั่งเศส (Imperial Institute of France) และราชสโมสรแห่งลอนดอน (Royal Society of London) ในสมัยนั้น

ในสถานที่มีไอโอดีน้อยในอาหาร (ซึ่งมักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน และมีภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก) จะไม่มีอาหารทะเลให้รับประทาน การขาดสารไอโอดีน (Iodine deficiency) ทำให้เกิดกลุ่มอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) ซึ่งได้แก่ ความเหนื่อยล้า คอพอก (Goiter) สมองไม่แล่น ซึมเศร้า (Depression) น้ำหนักเพิ่ม และอุณหภูมิร่างกายต่ำ

ไอโอดีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) การขาดสารไอโอดีนเป็นสาเหตุหลักของภาวะปัญญาอ่อน (Mental retardation) ซึ่งสามารถป้องกันได้ ผลกระทบของการขาดสารไอโอดีน มักเกิดขึ้นในช่วงวัยต้นๆของทารก หรือเด็กเล็ก

การเติมไอโอดีในเกลือแกง (Table salt) สามารถกำจัดปัญหาดังกล่าวอย่างได้ผลในประเทศพัฒนาแล้ว แต่การขาดสารไอโอดีนยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรงของประเทศด้อยพัฒนา ผลกระทบอื่นๆ ของการขาดสารไอโอดีน ต่อสุขภาพเท่าที่มีการศึกษาวิจัย อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะอาหาร

ในทางกลับกัน การมีไอโอดีนมากเกินไปก็มีผลกระทบไม่น้อยกว่าภาวะการขาดไอโอดีน กลุ่มอาการที่พบบ่อยได้แก่ ต่อมไทรอยด์โตผิดปรกติ และความผิดปรกติในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ โดยรวม ผลกระทบเป็นพิษร้ายที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ ต่อเซลล์ (Cytotoxicity) ในร่างกาย

แหล่งข้อมูล:

  1. เตรียมเสริมไอโอดีนในเกลือสมุทรปัตตานีหลังพบต่ำกว่าเกณฑ์ อย. http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000156258&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, Dec 11].