มดเอ๋ย มดลูก ! (ตอนที่ 3)

มดเอ๋ยมดลูก

ควรระลึกไว้เสมอว่า เราควรหาทางเลือกอื่นที่จะรักษาสุขภาพโดยที่ไม่ต้องทำการตัดมดลูกทิ้งก่อน เพราะการตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดที่สำคัญอย่างหนึ่ง ทางเลือกที่ว่าอาจ ได้แก่

  • การรอดู (Watchful waiting) – กรณีที่มีเนื้องอกในมดลูก ซึ่งอาจฝ่อไปเองหลังการหมดประจำเดือน
  • การออกกำลังกาย – กรณีกระบังลมหย่อน สามารถใช้การขมิบกล้ามเนื้อรอบช่องคลอด (Kegel exercises) ช่วยแทน
  • การกินยา –กรณีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจใช้การกินยาระหว่างมีประจำเดือนเพื่อลดอาการปวดและเลือดออกมาก นอกจากนี้ยังมียาคุมกำเนิดทั้งชนิดเม็ด ชนิดฉีด วงแหวนคุมกำเนิด (Vaginal ring) หรือห่วงอนามัยที่เคลือบด้วยฮอร์โมน (Hormonal IUD) ซึ่งอาจช่วยในเรื่องการมีเลือดออกมากหรือนานกว่าปกติ
  • การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงอวัยวะอุ้งเชิงกราน (Vaginal pessary) – กรณีกระบังลมหย่อน สามารถใช้อุปกรณ์เหน็บช่องคลอดที่ทำด้วยยางหรือพลาสติกเป็นรูปโดนัทคล้ายกับแผ่นครอบ (Diaphragm) ที่ใช้คุมกำเนิด เพื่อสอดเข้าไปในช่องคลอดและรั้งให้มดลูกอยู่ในตำแหน่งที่ถูก
  • การผ่าตัดเพียงเล็กน้อย - ทำให้แผลเล็กและหายเร็วขึ้น ซึ่งก็ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยด้วย เช่น

    1. กรณีผ่าตัดเพื่อรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) ทำให้แผลเล็ก ไม่ต้องกระเทือนกับอวัยวะอื่น เช่น รังไข่ และหลังการผ่าตัดก็สามารถตั้งครรภ์ได้อีก

    2. กรณีผ่าตัดเพื่อหยุดการไหลของเลือดที่มามากเป็นระยะเวลานาน อาจทำโดย

    • การขูดมดลูก (Dilation and curettage = D&C) - เป็นการนำเอาเนื้อเยื่อในมดลูกที่สร้างขึ้นทุกเดือนก่อนมีประจำเดือน หรือติ่งเนื้อ (Polyps) ออกจากมดลูก หลังการขูดมดลูก เยื่อบุมดลูกจะถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อการมีประจำเดือนรอบต่อไปตามปกติ เช่นกันหลังการขูดมดลูกจะสามารถตั้งครรภ์ได้อีก
    • การจี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) แบบถาวร - โดยใช้ความเย็น ความร้อน หรือพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงมาก (Microwave) เพื่อทำลายเยื่อบุมดลูก แต่วิธีนี้ไม่ควรใช้กับคนที่ยังต้องการตั้งครรภ์อีก หรือกับคนที่หมดประจำเดือน (Menopause) แล้ว

  • การผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) ออก แต่ไม่มีการตัดมดลูกทิ้ง หรือที่เรียกว่า Myomectomy จะขึ้นกับตำแหน่งของเนื้องอก ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ผ่านบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือผ่านบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก โดยหลังการผ่าตัดสามารถตั้งครรภ์ได้อีก

    สำหรับวิธีนี้ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ได้แจ้งเตือนไว้ว่า ไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Power morecellator เนื่องจากมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งกระจายไปทั่ว [Power morcellator เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง โดยเฉพาะการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก ซึ่งเครื่องมือชิ้นนี้จะถูกสอดผ่านแผลขนาดเล็กบริเวณหน้าท้อง เพื่อเข้าไปบดและปั่นชิ้นเนื้อให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ง่ายต่อการดูดออกมา อย่างไรก็ดีหากอุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งแฝงอยู่ ก็เท่ากับว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งกระจายไปทั่วบริเวณช่องท้องและกระดูกเชิงกรานด้วย]

  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกโดยไม่ได้ตัดมดลูกทิ้ง ที่เรียกว่า Myolysis เป็นการให้ความร้อนกับก้อนเนื้องอกเพื่อทำให้เนื้องอกนั้นหดตัวและตาย Myolysis อาจทำด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งยังสามารถตั้งครรภ์ได้หลังการผ่าตัด

แหล่งข้อมูล

1. Hysterectomy. http://www.womenshealth.gov/publications/our-publications/fact-sheet/hysterectomy.html[2015, December 25].