“ภูมิแพ้” ทำพิษ ติดอันดับโรคต้นทุนสูง (ตอนที่ 3 และตอนสุดท้าย)

รศ. พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อไปว่า โรคภูมิแพ้ที่ตนศึกษาวิจัยนั้น ประกอบด้วย การแพ้นมวัว หวัดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคผื่นแพ้ผิวหนัง

ผลการวิจัย พบว่า เด็กแพ้นมวัวมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดอยู่ที่ปีละ 64,838 บาทต่อคน หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ส่วนโรคหวัดเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายปีละ 12,669 บาทต่อคน โรคหอบหืดปีละ 9,633 บาทต่อคน และโรคผื่นแพ้ผิวหนังปีละ 5,432 บาทต่อคน

ในบรรดาอาหารที่มีภูมิแพ้ ไข่มีผลกระทบประมาณร้อยละ 1–2 ของเด็กเล็ก แต่ตัวเลขนี้จะก้าวกระโดดไปถึง 2 ใน 3 ของเด็ก เมื่อเด็กมีอายุถึง 5 ขวบ ความไว (Sensitivity) นี้ เป็นปฏิกิริยาต่อโปรตีนในไข่ขาว มากกว่าไข่แดง นอกจากนี้ยังมีนมไม่ว่าจะเป็นนมวัว นมแพะ หรือ นมแกะ ล้วนเป็น “สารก่อภูมิแพ้” (Allergen) ที่พบกันบ่อย

ร่างกายของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มักไม่สามารถอดทนยอมรับผลิตภัณฑ์จากฟาร์มโคนม อาทิ เนยแข็ง เรียกว่า “Lactose intolerance” อันเป็นปฏิกิริยาธรรมดาสามัญต่อนม แต่มิใช่รูปแบบหนึ่งของโรคภูมิแพ้ ประมาณร้อยละ 10 ของเด็กที่มีภูมิแพ้นม จะมีปฏิกิริยาต่อเนื้อวัว ซึ่งในเนื้อวัวเองประกอบด้วยโปรตีนปริมาณน้อยที่มีอยู่ในนมวัว

อาหารอื่นๆ ที่ประกอบด้วยโปรตีนภูมิแพ้ (Allergenic protein) ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ปลา หอย ผลไม้ ผัก เครื่องเทศ สี [อาหาร] ตามธรรมชาติ หรือสีสังเคราะห์ ไก่ และสารเคมีเสริม (Chemical additives)

ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงวิธีการบำบัดรักษาอาการภูมิแพ้ (Allergic condition) โดยเฉพาะกรณีรุนแรงที่เรียกว่า “Anaphylaxis” และปฏิกิริยาความไวสูง (Hypersensitivity) ต่ออาหาร ยา และแมลงสัตว์กัดต่อย รวมทั้งโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Allergic skin disease) ด้วย

โดยเฉพาะความก้าวหน้าใน

  1. การค้นหาโปรตีนในอาหาร ที่ประกอบด้วยสาร IgE ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยารุนแรง [สาร IgE เกิดจากการออกฤทธิ์เกินขนาดของเซลล์เม็ดเลือดขาว อันเป็นชนิดหนึ่งของสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่ชื่อว่า “Immunoglobulin E”]
  2. การพัฒนาอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ต่ำ
  3. การปรับปรุงการพยากรณ์ผลการทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test)
  4. การประเมินผลทดสอบภาวะภูมิแพ้กรรมพันธุ์ (Atopy)
  5. การพยากรณ์ผลลัพธ์จากการถูกตัวต่อกัดต่อย ฯลฯ

ในอดีต การบำบัดรักษาและการรับมือกับภูมิแพ้ ใช้วิธีการง่ายๆ ของการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือลดโอกาสสัมผัสกับสิ่งที่แพ้ อาทิ ผู้ที่แพ้ขนแมว จะได้รับการแนะนำให้พยายามหลีกเลี่ยงแมว แม้วิธีการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาอาการ และหลีกเลี่ยงภัยคุกคามถึงชีวิตในกรณี “Anaphylaxis” ได้ แต่ในทางปฏิบัติ เป็นการยากมากสำหรับผู้มีภูมิแพ้ ที่จะหลีกเลี่ยงละอองเกสรหรืออนุภาคอื่นๆ ที่ลอยอยู่กลางอากาศ [เพราะมองไม่เห็น] อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็ยังเป็นวิธีบำบัดรักษาที่ใช้ได้ผลและใช้กับกรณีการแพ้อาหาร ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดการผลิตสาร IgE มากเกินไป และการควบคุมปริมาณของฮิสตามีน (Histimine) ในผู้ป่วยภูมิแพ้ เริ่มแสดงผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

แหล่งข้อมูล:

  1. "ภูมิแพ้" ติดอันดับโรคต้นทุนสูง สูญเงินรักษาปีละ 2.7 หมื่นล้าน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333959444 [2012, April 22].
  2. Allergy. http://en.wikipedia.org/wiki/Allergy [2012, April 22].