ภูมิคุ้มกัน กดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppression)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ภูมิคุ้มกัน

ภูมิคุ้มกัน ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ สภาพที่ร่างกายมีแรงต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย, ภูมิต้านทานก็เรียก

ทางการแพทย์ ภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทาน หรือ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค(Immunity) หมายถึง สภาพร่างกายที่มีความสามารถในการต่อต้านกับ “สารก่อภูมิต้านทาน(Antigen)”ต่างๆ เช่นเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอม ที่รุกรานเข้ามาในร่างกาย ทั้งนี้เพื่อ ป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันอาการแพ้/โรคภูมิแพ้ และป้องกันไม่ให้เกิดโรคออโตอิมมูน โดยภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันมี 2ชนิดหลัก คือ ภูมิคุ้มกันทั่วไป (Innate immunity)และอีกชนิดคือ Adaptive immunity หรือ Acquired immunity

ก. ภูมิคุ้มกันทั่วไป(Innate immunity ชื่ออื่นคือ Natural immunity, Native immunity, Inherited immunity, Non-specific immunity, In-born immunity, หรือ Innate humoral immunity) คือภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่มาจากพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด เป็นภูมิคุ้มกันทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงต่อสารก่อภูมิต้านทานชนิดใดๆ ภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะตอบสองทันทีหรือภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงที่ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่รวมถึงเชื้อโรค ภูมิคุ้มกันทั่วไปนี้ เริ่มตั้งแต่ภูมิคุ้มกันภายนอก ที่เรียกว่า Physical epithelial barriers เช่น ผิวหนังที่ห่อหุ้มร่างกาย เยื่อเมือกต่างๆ รวมถึงกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อสิ่งแปลกปลอมผ่านภูมิคุ้มกันภายนอกไปได้ ก็จะเข้าสู่ภายในร่างกายซึ่งจะมี เม็ดเลือดขาวทุกชนิดเป็นตัวภูมิคุ้มกัน ตัวอย่างของภูมิคุ้มกันชนิดทั่วไป เช่น การอักเสบ อาการไข้ อาการไอ น้ำตาไหล มูกหรือเมือก (เช่น น้ำมูก เสมหะ)

ข. Adaptive immunity หรือ Acquired immunity คือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเมื่อโตขึ้น เมื่อร่างกายได้สัมผัสกับสารก่อภูมิต้านทานต่างๆจากภายนอกร่างกาย ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิดนี้ จะเป็นภูมิคุ้มกันเฉพาะสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ Aquired immunity แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ

  • “Natural acquired immunity” คือ ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการสัมผัสสิ่งแปลกปลอมนั้นโดยตรงที่เรียกว่า ‘Natural acquired active immunity’ เช่น เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว ทั่วไปก็จะไม่เป็นโรคนี้อีก หรือเป็นภูมิคุ้มกันที่ผ่านมาจากเลือดหรือน้ำนมมารดาที่พบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6เดือนลงมาที่เรียกว่า ‘Natural acquired passive immunity’ และ
  • “Artificial acquired immunity” คือ ภูมิคุ้มกันที่ได้สารภูมิต้านทาน(Antibody) จากภายนอกร่างกาย เช่น จากยาในกลุ่ม Monoclonal antibody เรียกภูมิคุ้มกัน ลักษณะนี้ว่า ‘Artificial acquired passive immunity’ แต่ถ้าได้จากการกระตุ้นจากสารภายนอกให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาเอง เรียกว่า “Artificial acquired active immunity’ เช่น ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนต่างๆ เป็นต้น

อนึ่ง:

  • Passive immunity ทั่วไป หมายถึง สารภูมิต้านทานของผู้อื่นที่เข้ามาอยู่ในร่างกายเรา เช่น สารภูมิต้านทานจากแม่ที่ผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์ และจะอยู่นานไปจนเด็กทารกอายุประมาณ 6-12 เดือน
  • Passive immunization ทั่วไปหมายถึง การฉีดแอนติซีรัม(Antiserum, คือ ซีรัมที่มีสารภูมิต้านทานชนิดที่เฉพาะเจาะจงต่อโรคใดโรคหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคที่เฉพาะเจาะจงนั้นๆ)ของคนหรือสัตว์ที่เฉพาะเจาะจงต่อโรคนั้นๆเพื่อให้ผู้ป่วยมีภูมคุ้มกันต่อโรคนั้นๆทันที ซึ่งสารภูมิต้าทานชนิดนี้จะอยู่ในร่างกายได้เพียงระยะเวลาสั้นๆที่ขึ้นกับแต่ละชนิดของสารภูมิต้านทานนั้นๆ เช่น สารภูมิต้านทานที่ใช้ในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะอยู่ในร่างกายเราได้นานประมาณ 2-4สัปดาห์ที่นานพอที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

ส่วน “กดภูมิคุ้มกัน หรือการกดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppression)” คือ การลดการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งนี้มักเป็นผลจากการติดเชื้อบางชนิด เช่น เอชไอวี หรือจากยาบางกลุ่ม เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Immunity_(medical) [2018,Nov3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Immunosuppression [2018,Nov3]
  3. http://missinglink.ucsf.edu/lm/immunology_module/prologue/objectives/obj02.html [2018,Nov3]
  4. https://medlineplus.gov/ency/article/000821.htm [2018,Nov3]
  5. https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/immunosuppression [2018,Nov3]