ภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คืออะไร?

ภาวะหรือการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) เป็นการแท้งชนิดหนึ่ง ตามชื่อจะบอกว่าเป็นการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายถึง สตรีนั้นไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้เลย ต้องมีการแท้งบุตรออกมาอย่างแน่นอน (100%) เพียงแต่ระยะเวลาการแท้งอาจนานแตกต่างกันไป ขึ้นกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการแท้งที่หลีกเลี่ยงไมได้นี้ จะต่างจาก แท้งคุกคาม (Threatened abortion) ที่มีโอกาสตั้งครรภ์ต่อไปได้ประมาณ 50%

ภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มีอันตรายอย่างไร?

ภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สตรีตั้งครรภ์ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ทำให้มีผลกระ ทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ นำความเสียใจมาสู่คู่สมรสและครอบครัว สำหรับอันตรายต่อทางร่างกาย ได้แก่

1. เสียเลือด การแท้งทำให้เสียเลือด หากมดลูกใช้เวลาในการบีบตัวขับเอาถุงการตั้งครรภ์/ถุงน้ำคร่ำออกมาช้า ก็ทำให้เสียเลือดไปมากขึ้น

2. ติดเชื้อในโพรงมดลูก ในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนที่จะแท้งทารกและรกออกมาเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อในโพรงมดลูกได้ง่าย เนื่องจากไม่มีเกราะป้องกัน

สาเหตุเกิดภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คืออะไร?

สาเหตุเกิดภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ

1. ความผิดปกติของทารกทางด้านโครโมรโซม หรือทารกมีความพิการแต่กำเนิดที่รุน แรงจนทำให้ทารกไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้

2. การติดเชื้อในโพรงมดลูก

3. ความผิดปกติของมดลูกหรือของปากมดลูก เช่น ปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetent), มีผนัง/พังผืดกันช่องในโพรงมดลูก (Septate uterus), โพรงมดลูกมี 2 ช่อง (Bicornuate uterus), โพรงมดลูกไม่สมบูรณ์ (Unicornuate uterus)

4. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งสาร Prostaglandins (สารช่วยกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว) ออกมา จึงส่งผลให้เกิดการแท้ง

สตรีตั้งครรภ์รู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?

สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจเริ่มต้นด้วยอาการของแท้งคุกคามก่อน คือ ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย แล้วต่อมามีอาการเลือดออกและปวดท้อง น้อยมากขึ้น ปากมดลูกเปิดมากขึ้น จึงกลายเป็นแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และแท้งบุตรออกมาในที่สุด

หรือในอีกกลุ่มหนึ่งของผู้ป่วยที่มีปากมดลูกที่ปิดไม่สนิท หรือมีความผิดปกติของมดลูก พอตั้งครรภ์ไปได้สักระยะ ปากมดลูกจะเปิด ทำให้เกิดการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามมา สตรีเหล่านี้จะมีประวัติแท้งซ้ำที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก (Recurrent abortion) และอายุครรภ์ที่แท้งก็จะน้อยลงเรื่อยๆ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการพบแพทย์?

เมื่อตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการปวดท้อง และ/หรือมีน้ำ/ของเหลว ไหลออกทางช่องคลอด การดูแลตนเองคือต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอ เพราะสตรีตั้งครรภ์จะไม่สามารถรู้ได้ว่า ตนเองจะแท้งหรือไม่ และจะเป็นการแท้งชนิดใด

แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้จาก

ก. ประวัติอาการ: สตรีตั้งครรภ์จะมีประวัติ จู่ๆก็มีน้ำ/ของเหลวออกมาจากช่องคลอด หรือปวดหน่วงช่องคลอด/ปวดท้องน้อย/ปวดท้อง แล้วแท้งออกมา ในกรณีที่มีประวัติความผิด ปกติของปากมดลูกและ/หรือมีการเคยผ่าตัดที่ปากมดลูก ก็จะทำให้คิดถึงภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้มากขึ้น

ข. การตรวจร่างกาย: การตรวจร่างกายทั่วไปมักไม่พบความผิดปกติ ยกเว้นแต่หากมีการเสียเลือดมาก อาจตรวจพบภาวะซีด หรือหากมีการติดเชื้อร่วมด้วย อาจมีไข้ ปวดท้อง ซึ่งจะจัดกลุ่มเป็นแท้งติดเชื้อ

ค. การตรวจภายใน: จะพบเลือดออกในช่องคลอด ปริมาณเลือดมักจะมากกว่าการแท้งคุกคาม หากมีถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว จะตรวจพบน้ำคร่ำในช่องคลอดด้วย นอกจากนั้นคือ พบรูปากมดลูกเปิด อาจมีถุงการตั้งครรภ์ปูดมาจุกอยู่บริเวณปากมดลูกที่เปิด และตรวจคลำขนาดมด ลูกอาจเท่ากับหรือน้อยกว่าอายุครรภ์

ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบว่ามีการตั้งครรภ์หรือ ไม่ หรือต้องการทราบว่าทารกยังมีชีวิตหรือไม่ มักไม่จำเป็น หากสตรีผู้นั้นเคยตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์และให้ผลบวกมาแล้ว เพราะค่าเหล่านี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่การตรวจท้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) ได้ประโยชน์ในด้านการบอกอายุครรภ์ที่แน่ นอนเพื่อใช้วางแผนการรักษา

รักษาภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างไร?

แพทย์รักษาภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย

ก. การรักษาทั่วไป: โดยให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ พิจารณาให้เลือดหากมีเลือดออกมาก และจะมีการให้ยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำก่อนการทำหัตถการต่างๆ (เช่น การขูดมดลูก) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ข. การรักษาเฉพาะ: ในกรณีที่ปากมดลูกเปิดมากกว่า 1 ซ.ม (เซนติเมตร) หรือมีถุงน้ำคร่ำแตกแล้วในช่วงอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 24 สัปดาห์ (ระยะที่เป็นการแท้ง) ทารกส่วนมากไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ และการตั้งครรภ์ต่อไปก็มีโอกาสน้อยมาก แพทย์อาจแนะนำทางเลือกรอให้แท้งเอง (โดยเฉพาะกรณ๊ยังไม่มีการแตกของถุงน้ำคร่ำ) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการแท้งเองเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือเร่งให้เกิดการแท้งโดยการให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกผสมในน้ำ เกลือแล้วหยดเข้าหลอดเลือดดำ หรืออาจพิจารณาใช้ยาเหน็บช่องคลอด หรือใช้ท่อดูดสุญญา กาศดูดทารกที่เสียชีวิตแล้วและถุงน้ำคร่ำออกมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ ซึ่งหากมีการแตกของถุงน้ำคร่ำแล้ว แพทย์มักจะต้องเร่งยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากเกรงปัญหาเรื่องการติดเชื้อในโพรงมดลูกตามมาหากรอจนเนิ่นนานเกินไป

อนึ่ง กรณีที่สตรีตั้งครรภ์มีการแท้งซ้ำหลายครั้ง และอายุครรภ์ที่แท้งน้อยลงเรื่อยๆ และแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าสาเหตุเป็นจากภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท แพทย์จะนัดทำการเย็บปากมดลูกตั้งแต่ปากมดลูกยังไม่เปิดขยาย ก็จะเป็นการลดโอกาสการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ลดน้อยลงได้

การป้องกันภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทำอย่างไร?

การป้องกันภาวะ/การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้:

  • กรณีที่เกิดจากทารกในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติทางโครโมโซมที่เป็นกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต จะไม่สามารถป้องกันได้
  • แต่กรณีที่การแท้งฯเกิดจากความผิดปกติของปากมดลูกและ/หรือของตัวมดลูก แพทย์สามารถทำการผ่าตัดรักษาก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแท้งชนิดนี้ได้ เช่น การเย็บปากมดลูกให้แน่น ในกรณีปากมดลูกปิดไม่สนิท เป็นต้น

เมื่อเกิดภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะตั้งครรภ์ต่อได้หรือไม่?

เมื่อเกิดภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะไม่สามารถตั้งครรภ์นั้นต่อไปได้

หากครรภ์แรกมีภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ครรภ์ต่อไปจะเกิดอีกหรือไม่?

การจะเกิดภาวะแท้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในครรภ์ต่อไปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง

  • ถ้าสตรีผู้นั้น มีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท และไม่ได้รับการรักษาในครรภ์ก่อน ก็จะเกิดปัญหาการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในครรภ์ครั้งใหม่ๆ
  • แต่ถ้าได้รับการรักษาภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิทในครรภ์ครั้งก่อน ก็จะไม่เกิดความผิดปกติ/ลดโอกาสเกิดการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในครรภ์ครั้งใหม่
  • แต่ในกรณีที่เกิดจากโครโมโซมผิดปกติ ธรรมชาติมักช่วยตัดสินทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ (การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ )

บรรณานุกรม

1. http://www.aafp.org/afp/2005/1001/p1243.html [2020,March14]
2. http://emedicine.medscape.com/article/795085-overview#showall [2020,March14]