ภาวะขาดสังกะสี (Zinc deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำและแหล่งอาหาร

ภาวะขาดสังกะสี (Zinc deficiency หรือ Hypozincemia) เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับปริมาณเกลือแร่ ‘สังกะสี (Zinc)’ ต่ำกว่าความต้องการของร่างกายอย่างต่อเนื่อง

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 1ใน 4 ถึง 1ใน 3 ของประชากรโลกจะมีภาวะขาดสังกะสี ซึ่งพบในทุกอายุ ตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

สังกะสี(Zinc) เป็นเกลือแร่ /แร่ธาตุ (Mineral) ที่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก รองลงมาจากธาตุเหล็ก

แหล่งอาหาร:

สังกะสี มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ใน หอย ปู เนื้อสัตว์ต่างๆโดยเฉพาะในเนื้อแดง(เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) เนื้อเป็ด ธัญพืช (เช่น ถั่วต่างๆ) ถั่วกินฝัก ลูกนัทต่างๆ ในนม โยเกิร์ต และซีเรียลที่เสริมอาหารด้วยสังกะสี แต่มีน้อยใน ปลา ผัก และผลไม้

สังกะสีมีประโยชน์อย่างไร?

ภาวะขาดสังกะสี

สังกะสี มีหน้าที่/ประโยชน์ต่างๆมากมายในการช่วยให้เซลล์ต่างๆทั่วร่างกายทำงานและเจริญเติบโตได้อย่างปกติ เช่น

  • ช่วยการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme)ต่างๆถึงประมาณร้อยกว่าชนิดโดยเฉพาะเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • ช่วยร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • ช่วยการเสริมสร้างโปรตีน
  • ช่วยการใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต
  • ช่วยการสร้างสารพันธุกรรมดีเอนเอ (DNA)
  • ช่วยให้เซลล์แบ่งตัวได้อย่างปกติจึงช่วยให้เนื้อเยื่อต่างๆเจริญเติบโตได้อย่างปกติโดยเฉพาะ ทารกในครรภ์ วัยเด็ก วัยรุ่น และในช่วงตั้งครรภ์
  • ช่วยในการเจริญเติบโตของไข่ และของอสุจิ
  • ช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บเสียหาย จึงมีส่วนสำคัญช่วยการสมานแผลต่างๆให้หายได้อย่างรวดเร็ว และ
  • ช่วยเซลล์ในการรับรสชาติอาหารและการได้กลิ่นต่างๆ

คนทั่วไปต้องการสังกะสีวันละเท่าไร?

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปต่อปริมาณสังกะสีที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ค.ศ. 2011 คือ

มีผลข้างเคียงจากกินสังกะสีมากเกินไปไหม?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน หรือโทษ ที่พบได้บ่อยจากการกินสังกะสีเสริมอาหารมากเกินไป คือ

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ต่ำลง
  • มีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูงขึ้น (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
  • ลดระดับไขมันชนิดดีในเลือดให้ต่ำลง

ภาวะขาดสังกะสีมีสาเหตุจากอะไร?

ภาวะขาดสังกะสี มักมีสาเหตุจาก ได้รับสังกะสีจากอาหารไม่เพียงพอ, มีโรคที่ทำให้ร่างกายสูญเสียสังกะสีมากเกินปกติ, และร่างกายมีภาวะต้องการสังกะสีเพิ่มมากกว่าปกติ

ก. การได้รับสังกะสีจากอาหารไม่เพียงพอ: ที่พบบ่อยคือ

  • ในคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ เช่น มังสวิรัติ หรือ
  • มีโอกาสกินเนื้อสัตว์น้อยหรือไม่ได้กินจากปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ
  • ในคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุราเป็นประจำเนื่องจากคนกลุ่มนี้มักมีโรคขาดอาหาร หรือมีภาวะทุโภชนา

ข. ร่างกายสูญเสียสังกะสีมากผิดปกติ/ดูดซึมรังสีจากอาหารได้น้อย: เช่น

  • ลำไส้ดูดซึมสังกะสีได้น้อยจากโรคเรื้อรังต่างๆของลำไส้เล็ก(สังกะสีถูกดูดซึมในตำแหน่งของลำไส้เล็ก) เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะท้องเสียเรื้อรัง หรือ
  • มีโรคไตเรื้อรัง ส่งผลให้ไตขับสังกะสีออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น หรือ
  • กินยาบางชนิดที่เพิ่มการขับสังกะสีออกจากร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ/ยาขับน้ำในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือในภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ
  • ติดสุราเรื้อรัง ซึ่งสุรา/แอลกอฮอล์จะส่งผลให้มีการปัสสาวะมาก สังกะสีจึงถูกขับออกมากตามไปด้วย

ค. ร่างกายมีภาวะต้องการสังกะสีเพิ่มกว่าปกติ: คือ ภาวะที่ร่างกายกำลังมีการเจริญเติบโต เช่น

  • การตั้งครรภ์
  • ทารกในครรภ์
  • ในเด็ก
  • ในวัยรุ่น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสังกะสี?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสังกะสี ได้แก่

  • มีโรคเรื้อรังของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • มีโรคเรื้อรังของ ตับ ไต และ ผู้ป่วยมะเร็ง เพราะโรคเหล่านี้มักเป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร
  • ภาวะขาดอาหาร เช่น กินอาหารไม่มีประโยชน์ หรือจากภาวะทางเศรษฐกิจ หรือขาดคนดูแล เช่น ในเด็กเล็ก หรือในผู้สูงอายุ
  • กินอาหารมังสวิรัติ เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า สังกะสีจะมีมากในอาหารโปรตีนจากสัตว์ และมีน้อยใน ผัก และผลไม้
  • ในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายมีความต้องการใช้สังกะสีสูงขึ้น
  • ทารกอายุมากกว่า 6 เดือนไปแล้วที่ยังกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้อาหารเสริมที่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กต้องการสังกะสีเพิ่มขึ้นในการเจริญเติบโต
  • ผู้ป่วยโรคเลือดชนิดที่เกิดจากพันธุกรรมที่เรียกว่า โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease/ โรคมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง) เพราะจะส่งผลให้ร่างกายมีความต้องการใช้สังกะสีสูงขึ้น
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุราเรื้อรัง เพราะแอลกอฮอล์จะลดการดูดซึมสังกะสีในลำไส้ และทำให้ไตขับสังกะสีออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น รวมทั้งคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง มักมีภาวะขาดอาหารร่วมด้วยเสมอ
  • โรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสังกะสีได้ (เป็นโรคพบได้น้อยมากๆ) เรียกว่า โรค Acrodermatitis enteropathica โดยอาการคือ มีท้องเสียเรื้อรัง ผมร่วง และมีผื่นผิวหนังในบริเวณรูเปิดต่างๆของร่างกาย เช่น รอบช่องปาก รอบจมูก รอบทวารหนัก รวมทั้งที่ หนังศีรษะ มือ และเท้า

ภาวะขาดสังกะสีมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะขาดสังกะสี เป็นอาการไม่จำเพาะ เป็นอาการที่คล้ายคลึงกับอาการจากขาดอาหารทั่วๆไป หรืออาการจากโรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม อาการจากขาดสังกะสีที่พบได้บ่อย คือ

  • คลื่นไส้
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • ผมร่วง
  • ลิ้นอักเสบ
  • เล็บเจริญไม่เต็มที่ มีลักษณะฝ่อลีบ หรือเป็นจุดขาวๆ
  • ในผู้ชาย อาจมีปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะ/ นกเขาไม่ขัน และอัณฑะเจริญไม่เต็มที่ (Hypogonadism)
  • สายตาเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • การรับรสชาติและการได้กลิ่นผิดปกติ
  • มีปัญหาด้านความจำ
  • อาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนังส่วนต่างๆของร่างกาย
  • อาจมีสิวมากผิดปกติ
  • เมื่อมีแผล แผลอาจหายช้า
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบ/โรคปอดบวม
  • ในเด็ก รวมทั้งทารกในครรภ์ จะเจริญเติบโตช้ากว่าวัย

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดสังกะสีอย่างไร?

การวินิจฉัยภาวะขาดสังกะสี มักเป็นการวินิจฉัยทางคลินิก เพราะการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดดูปริมาณสังกะสี อาจไม่สัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วย

การวินิจฉัยทางคลินิก คือ การวินิจฉัยโรคจาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ
    • อาการของผู้ป่วย
    • ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
    • ประวัติการใช้ยาต่างๆ
    • ประวัติพฤติกรรมการใช้ชีวิต
    • การกินอาหาร
    • อยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ และร่วมกับ
  • การตรวจร่างกาย
  • นอกจากนั้น คือ การวินิจฉัยด้วยการรักษา (Therapeutic diagnosis) โดยแพทย์จะให้การรักษาด้วยสังกะสีเสริมอาหาร ร่วมกับกินอาหารที่มีสังกะสีสูง และการรักษาสาเหตุต่างๆ เช่น รักษาภาวะท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น ถ้าอาการต่างๆดีขึ้น ซึ่งมักดีขึ้นภายใน 3-6 เดือน แพทย์ก็จะสรุปการวินิจฉัยว่า อาการผู้ป่วยเกิดจากภาวะขาดสังกะสี
  • ปัจจุบัน สามารถตรวจหาปริมาณสังกะสีในร่างกายได้จาก การตรวจเลือด และการตรวจปัสสาวะ แต่ยังเป็นเทคนิคที่ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และ ให้การตรวจได้เฉพาะโรคพยาบาลขนาดใหญ่บางโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา

รักษาภาวะขาดสังกะสีอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดสังกะสี คือ

  • การให้ยาสังกะสีเสริมอาหารซึ่งมักเป็นการกิน เช่นยา Zinc sulfate
  • การให้อาหารกินที่มีปริมาณสังกะสีสูง และ
  • การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น รักษาภาวะท้องเสียเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

ภาวะขาดสังกะสีรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะขาดสังกะสี เป็นภาวะไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้ ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ

  • เมื่อเกิดการขาดสังกะสีในทารก และในเด็ก จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก และของเด็ก
  • นอกจากนั้น คือ การมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้สูงขึ้นจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่ำลง

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการเรื้อรังผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ

ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า ขาดสังกะสี การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินอาหารตาม แพทย์ พยาบาล และ/หรือโภชนากร แนะนำตลอดไป ซึ่งโดยทั่วไป คือ อาหารในกลุ่มที่มีสังกะสีสูง
  • กินยา/เกลือแร่เสริมอาหารต่างๆให้ครบถ้วนถูกต้องตาม แพทย์แนะนำ ไม่ขาดยา
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง และ/หรือ
    • มีอาการใหม่ที่ผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือ
    • เมื่อมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดสังกะสีอย่างไร?

การป้องกันภาวะขาดสังกะสี ที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และถ้าต้องการกินอาหารมังสวิรัติ ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร เพื่อการเสริมอาหารด้วยสังกะสี และรวมถึง
  • ไม่ติดสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • นอกจากนั้น คือ
    • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ โดยเฉพาะโรค/ภาวะต่างๆที่จะทำให้เกิดภาวะขาดอาหารหรือทุโภชนา เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคตับแข็ง, โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Hambidge, M. (2000). Zinc and health: current status and future direction. J Nutr.130, 1344s-1349s.
  2. Saper, R., and Rash, R. (2009). Zinc: an essential micronutrient. Am Fam Physician. 79, 768-772.
  3. http://nationalacademies.org/hmd/~/media/Files/Activity%20Files/Nutrition/DRI-Tables/5Summary%20TableTables%2014.pdf?la=en [2019,April13]
  4. https://www.healthguidance.org/entry/15319/1/Zinc-Deficiency-Symptoms-and-Health-Benefits.html [2019,April13]
  5. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Zinc-HealthProfessional/ [2019,April13]
  6. http://www.ndhealthfacts.org/wiki/Zinc [2019,April13]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Zinc_deficiency [2019,April13]
  8. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t3/?report=object only [2019,April13]