ภาวะขาดวิตามินบี-12 (Vitamin B-12 deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำและแหล่งอาหาร

ภาวะ/โรคขาดวิตามินบี-12 (Vitamin B12 deficiency หรือ Methylcobalamin deficiency) คือ ภาวะ/โรคที่ร่างกายได้รับวิตามินบี-12ไม่เพียงพอ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติหรือโรคต่างๆขึ้น เป็นภาวะที่พบบ่อยในทั้งสองเพศ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โรคมักพบในผู้สูงอายุจากเซลล์ต่างๆรวมทั้งเซลล์ของกระเพาะอาหารและลำไส้เสื่อมลง ระบบทางเดินอาหารของผู้สูงอายุจึงดูดซึมวิตามินบี-12 ได้ลดลง หรือจากการขาดคนดูแล ผู้สูงอายุจึงมักมีสภาพขาดอาหาร โดยพบได้ประมาณ 1ใน 20 ของผู้มีอายุ 65-74 ปี และเพิ่มเป็นประมาณ 1ใน 10 หรือมากกว่านี้ ของผู้มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป แต่ในประเทศกำลังพัฒนา พบการขาดวิตามินบี-12 เกิดในทุกวัย

ภาวะขาดวิตามินบี -12 มักพบร่วมกับภาวะขาดวิตามินบี-9 / ภาวะขาดโฟเลท(Folate) เพราะมีหลายสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน

วิตามินบี-12 (Vitamin B12 หรืออีกชื่อคือ Methylcobalamin) เป็นวิตามินที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร โดยการดูดซึมวิตามินบี-12 จะเกิดขึ้นในลำไส้เล็กตอนล่าง แต่จะดูดซึมไม่ได้ ถ้าไม่มีกรดในกระเพาะอาหารช่วยแยกวิตามินบี-12 ออกจากอาหาร ร่วมกับมีสารที่เรียกว่า ‘Intrinsic factor (IF)’ ที่สร้างจากเซลล์ของกระเพาะอาหารเช่นกัน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดูดซึมวิตามินนี้ ดังนั้นโรคต่างๆของกระเพาะอาหารที่ก่อให้เซลล์กระเพาะอาหารเสื่อม สภาพลง และ/หรือมีกรดน้อยลง เช่น ภาวะเซลล์เสื่อมในผู้สูงอายุ จึงส่งผลให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี-12 ได้สูงขึ้น

ภายหลังการดูดซึม ส่วนหนึ่งของวิตามินบี12 ร่างกายจะนำไปใช้ และอีกส่วนในปริมาณเกือบ50% ของวิตามินบี-12 ที่ดูดซึมได้ จะถูกนำไปเก็บไว้ที่ตับ และจะเก็บได้นานเป็นหลายปี ดังนั้น การขาดอาหารที่จะก่อให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี-12 จึงต้องเป็นการขาดสะสมอย่างต่อเนื่องเป็นปี หรือขาดในปริมาณสูงมากจนวิตามินนี้ที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ไม่เพียงพอต่อร่างกาย และวิตามินนี้ส่วนที่เหลือจากการนำไปใช้และจากการสะสม จะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ เพราะบี-12 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ

แหล่งอาหาร:

อาหารที่มีวิตามินบี-12 อุดมสมบูรณ์คือ อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ เช่น ตับ ไต เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนย ปลา หอย เป็ด ไก่ อาหารนม และผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อที่เสริมอาหารด้วยวิตามิน บี-12 เช่น นม นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต และอาหารเช้าซีเรียล (Cereal)

ร่างกายต้องการวิตามินบี-12วันละเท่าไร?

ภาวะขาดวิตามินบี12

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณวิตามินบี-12ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ปี ค.ศ.2011 คือ

วิตามินบี-12 มีประโยชน์ และโทษอย่างไร?

ประโยชน์และโทษของวิตามินบี12 ได้แก่

ก. ประโยชน์ หรือ หน้าที่ของวิตามินบี-12 คือ มีส่วนช่วยใน

  • การสร้างและในการทำงาน ดีเอ็นเอ (DNA)ของเซลล์ต่างๆ
  • ในการทำงานของระบบประสาท ทั้งต่อเซลล์สมองและต่อปลอกประสาท (Myelin sheath)ซึ่งมีหน้าที่ช่วยการส่งสัญญาณต่างๆของสมอง
  • นอกจากนั้น วิตามินนี้ยังช่วย
    • ไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง
    • และช่วยเซลล์ทุกชนิดของร่างกายในการใช้พลังงานเพื่อคงหน้าที่ของเซลล์นั้นๆ

ข. โทษของวิตามินบี12: ปัจจุบันยังไม่มีรายงานเรื่องโทษที่รุนแรงต่อการกินวิตามินบี-12 ในปริมาณสูงๆ ยกเว้นบางรายงานพบว่า อาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดของ แขน และ ขาได้ หรือบางรายอาจมีอาการแพ้สารบางตัวที่เป็นส่วนผสมในวิตามินบี12ที่ผลิตขึ้นเป็นวิตามินเสริมอาหารได้

ภาวะขาดวิตามินบี-12มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ภาวะขาดวิตามินบี-12 มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงได้จาก คุณภาพอาหารบริโภคที่ขาดวิตามินบี-12, และจากการดูดซึมวิตามินบี-12จากระบบทางเดินอาหารได้ลดน้อยลง

ก. คุณภาพอาหารที่ขาดวิตามินบี-12: เช่น

  • ในคนกินอาหารมังสวิรัติประเภทเคร่งครัดที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดจากสัตว์ เพราะดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ บทนำฯ’ ว่าแหล่งอาหารของวิตามินบี-12 คือ แหล่งอาหารจากสัตว์
  • ในคนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะแหล่งอาหารจากสัตว์ มีราคาสูง
  • และในผู้สูงอายุ เพราะมักขาดคนดูแล ร่วมกับมีปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะไม่สามารถทำงานหาเงินได้

ข.ปัญหาจากการดูดซึมวิตามินบี12จากระบบทางเดินอาหาร: เช่น

  • ผู้สูงอายุ: จากการเสื่อมของเซลล์ตามธรรมชาติ รวมทั้งเซลล์ของระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น กระเพาะอาหารจึงสร้าง กรด และสาร IF ที่ช่วยการดูดซึมบี-12 ลดลง รวมทั้งประสิทธิภาพของการดูดซึมอาหารของลำไส้เล็กก็ลดลงด้วย
  • การกินยาลดกรด หรือยาเคลือบกระเพาะอาหาร ต่อเนื่อง จึงขาดกรดในการช่วยย่อย/ดูดซึมวิตามินบี-12
  • โรคกระเพาะอาหารชนิดที่ทำให้กระเพาะอาหารสร้างกรดได้ลดลงหรือไม่สามารถสร้างกรดได้(Achlorhydria): เช่น โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง, และโรคมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดมีการอักเสบของกระเพาะอาหารร่วมด้วย เป็นต้น
  • โรคกระเพาะอาหารที่ทำให้เซลล์กระเพาะอาหารสร้างสาร IFไม่ได้หรือสร้างได้น้อยลง เช่น โรคทางพันธุกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการขาดวิตามินบี12ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์, โรคออโตอิมมูน, โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังชนิดที่เรียกว่า Atrophic gastritis
  • เป็นโรคลำไส้เรื้อรัง: เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพราะวิตามินบี-12 ถูกดูดซึมในลำไส้เล็ก เมื่อมีโรคของลำไส้ การดูดซึมวิตามินนี้จึงลดลง
  • มีการผ่าตัด กระเพาะอาหาร และหรือลำไส้เล็กจากสาเหตุต่างๆ: เช่น จากโรคมะเร็ง, จากโรคแผลในกระเพาะอาหาร, หรือการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน
  • มีพยาธิลำไส้ เช่น พยาธิตัวตืด
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาจลดการดูดซึมของวิตามิน บี-12 ได้ เช่น ยา Metformin ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น

ภาวะขาดวิตามินบี-12มีอาการอย่างไร?

อาการที่อาจพบได้จากภาวะขาดวิตามินบี-12 คือ

  • ภาวะซีด (โลหิตจาง) ที่เรียกว่า ภาวะโลหิตจางจากขาดวิตามิน บี(Megaloblastic anemia) ซึ่งเป็นผลมาจากไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • อาการทางระบบประสาท เช่น สับสน ลืมง่าย ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า มือเท้าชา เดินเซ และรู้สึกเสียวแปลบ ซึ่งอาการทางประสาทเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักไม่กลับเป็นปกติภายหลังการรักษา
  • ท้องเสีย แต่บางรายอาจท้องผูก
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หมดแรง/เหนื่อยล้า
  • เบื่ออาหาร

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-12ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-12 ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการกินอาหาร ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ อายุผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC)
  • การตรวจเลือดดูค่าวิตามินบี-12
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจไขกระดูกทางเซลล์วิทยา
    • หรือการตรวจภาพสมอง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ

รักษาภาวะขาดวิตามินบี-12อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามินบี-12 คือ การให้วิตามินบี-12 เสริมอาหาร อาจโดยการกิน หรือการฉีด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ร่วมกับการให้อาหารที่มีวิตามินบี- 12 สูง นอกจากนั้น คือ การรักษาควบคุมโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาควบคุมโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การรักษาควบคุมโรคเบาหวาน
  • หรือการรักษาโรคพยาธิตัวตืด
  • หรือการลด/เลิกใช้ยา ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การรักษาอาการท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • หรือให้ยาเพิ่มความอยากอาหาร/ยาเจริญอาหาร กรณีเบื่ออาหารมาก

ภาวะขาดวิตามินบี-12 รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะขาดวิตามินบี-12 จะรุนแรงเมื่อก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่อสมองนานเกิน 3-6 เดือน เพราะเป็นเป็นความเสียหายที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะรักษาไม่หาย ส่วนภาวะซีด และอาการอื่นๆจะหายได้ภายหลังได้รับการรักษา

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี-12 โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ”สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ” ทั้งนี้โดยการกินอาหารที่มีวิตามินบี-12 สูงสม่ำเสมอทุกวัน รวมทั้งการพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการกินวิตามินเสริมอาหาร

เมื่อพบว่า ขาดวิตามินบี-12 การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • นอกจากนั้น คือ
    • รักษา ควบคุมโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
    • กินอาหารที่มีวิตามินบี-12 สูงในทุกมื้ออาหาร
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง
    • เมื่อมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-12อย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-12 ได้โดย

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ”
  • เมื่อมีโรคเรื้อรัง/ โรคประจำตัว โดยเฉพาะเมื่อกระทบต่อการกินอาหาร ควร ปรึกษาแพทย์ถึงการได้รับวิตามินเสริมอาหาร
  • เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆที่เมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน3-7วัน หรือเมื่ออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ ป้องกันการเกิดโรค หรือผลข้างเคียงจากโรคที่รุนแรง

บรรณานุกรม

  1. Allen, L. (2009). How common is vitamin B-12 deficiency. Am J Clin Nutr. 89, 693s-6936s.
  2. Clarke, R.et al. (2004). Vitamin B-12 and folate deficiency in later life. Age and ageing. 33, 34-41.
  3. Langan, R. et al. (2011). Update on vitamin B-12 deficiency. Am Fam Physician. 83, 1425-1430.
  4. Stabler, S. (2013). Vitamin B 12 deficiency. NELM. 368, 149-160.
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2019,March16]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_B12 [2019,March16]
  7. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminB12-HealthProfessional/[2019,March16]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_B12_deficiency [2019,March16]