ภาวะขาดน้ำในเด็ก: การแก้ไขภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กในภาวะอุทกภัยหรือภัยพิบัติ (Dehydration in children)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เมื่อเกิดอุทกภัยหรือเกิดภัยพิบัติต้องมีการอพยพไปอยู่ในที่ที่แออัด ขาดน้ำสะอาด ขาดไฟฟ้า ภาวะสุขอนามัยทั้งหลายถูกจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ห้องน้ำ ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา รวมทั้งท้องร่วง/อุจจาระร่วง/ท้องเสีย โรคอาหารเป็นพิษ หรือแม้จะไม่ได้อพยพไปอยู่ในสถานที่แออัด อยู่ในที่พักของตน ก็อาจเกิดปัญหาขาดแคลนสิ่งต่างๆเนื่องจากข้าวของไม่สามารถหาซื้อได้

ภาวะท้องร่วงและอาเจียนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไขทันท่วงที โดยเฉพาะในเด็กซึ่งทนต่อการสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์ได้ในปริมาณไม่มากเท่าผู้ใหญ่ อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรมีความรู้ในการแก้ไขภาวะร่างกายขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์เบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้อา การขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ดำเนินไปถึงขั้นรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเสียน้ำจากการมีท้องร่วง และ/หรือจากอาเจียนมากจากอาหารเป็นพิษ

ร่างกายมีส่วนประกอบของของเหลวในร่างกาย (Body fluid) อย่างไร?

ภาวะขาดน้ำในเด็กในภาวะอุทกภัยหรือภัยพิบัติ

ส่วนประกอบหลักของของเหลวในร่างกายคือ น้ำ, อีเล็กโทรไลต์(เกลือแร่ในเลือด), สารอาหารต่างๆ, รวมทั้งออกซิเจน, ซึ่งจำเป็นต่อร่างกายและต่อการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย เป็นส่วนนำสาร อาหารไปเลี้ยงเซลล์ และรับของเสียออกจากเซลล์เพื่อนำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หรือนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปกำจัดออกที่ปอด

น้ำ: เป็นส่วนประกอบที่มีมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ น้ำในร่างกายทั้งหมดคิดเป็นเปอร์ เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัวจะแตกต่างกันตามอายุ ทารกในครรภ์จะมีน้ำในร่างกายสูงที่สุด แล้วลดลงเหลือ 75% ของน้ำหนักตัวเมื่อแรกเกิดปกติ จนอายุ 1 ปีน้ำในร่างกายทั้งหมดคิดเป็น 60% ของน้ำหนักตัว และจะมีปริมาณนี้ไปจนเข้าสู่วัยรุ่น จากวัยรุ่นผู้หญิงจะมีไขมันมากกว่าผู้ชายซึ่งมีกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง น้ำในร่างกายของผู้หญิงจะมีน้อยกว่าผู้ชาย เนื่องจากไขมันมีส่วนประ กอบของน้ำน้อยกว่าส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อ น้ำในร่างกายของผู้ชายมีประมาณ 60% ขณะที่ผู้หญิงมีน้ำในร่างกายประมาณ 50% ของน้ำหนักตัว

น้ำทั้งหมดในร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งอยู่ในเซลล์ซึ่งประกอบเป็นอวัยวะต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งอยู่นอกเซลล์ เมื่อแรกเกิดและเป็นเด็กเล็ก น้ำที่อยู่นอกเซลล์จะมีมากกว่าน้ำภาย ในเซลล์ หลังจากนั้นน้ำที่อยู่นอกเซลล์จะลดลงน้ำในเซลล์จะมากขึ้น เมื่ออายุครบ 1 ปีจะมีน้ำนอกเซลล์ประมาณ 20 - 25% ของน้ำหนักตัว น้ำในเซลล์ประมาณ 30 - 40% ของน้ำหนักตัว เท่าๆกับผู้ใหญ่

น้ำนอกเซลล์จะอยู่ในพลาสมา (Plasma) ซึ่งเป็นส่วนน้ำของเลือด 5% และอยู่ตามส่วนอื่นๆเช่น ในช่องท้อง ในช่องปอด และช่องอยู่ระหว่างเยื่อบุด้านนอกของหัวใจ น้ำในข้อ เป็นต้น ประมาณ 15% ของน้ำหนักตัว

อิเล็กโทรไลต์คืออะไร?

อิเล็กโทรไลต์ คือเกลือแร่ที่มีประจุไฟฟ้า เป็นส่วนประกอบในของเหลวที่อยู่ในเซลล์และนอกเซลล์ มีความสำคัญในการควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย ความเป็นกรดด่าง เกลือของเลือด ทำให้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายทำงานได้ปกติ

ตรวจอีเล็กโทรไลต์ได้อย่างไร?

ตรวจอีเล็กโทรไลต์ได้โดยเจาะเลือดตรวจ ทั้งนี้อีเล็กโทรไลต์ที่มีมากในร่างกาย ได้แก่ โซเดียม (Sodium ตัวย่อคือ Na), คลอไรด์ (Chloride ตัวย่อคือ Cl), และโพแทสเซียม (Potassium ตัวย่อคือ K)

ภาวะความผิดปกติของอีเล็กโทรไลต์ที่พบบ่อยเกิดจากอะไร?

โรคทางไต เป็นโรคก่อให้มีความผิดปกติของอีเล็กโทรไลต์ที่พบบ่อยที่สุด

ภาวะสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์เกิดจากอะไร?

ภาวะสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์ที่พบบ่อยเกิดจากท้องร่วง/ท้องเสีย อาเจียน หรือจากเสียไปทางเหงื่อมากๆเช่น อากาศร้อนจัด หรืออยู่ในที่แออัดมาก แต่ที่ก่อผลกระทบมากที่สุด คือจากท้องร่วง

ผลกระทบของท้องร่วงมีอะไรบ้าง?

ผลกระทบของการเกิดท้องร่วง/ท้องเสียคือ

1. ท้องร่วงทำให้มีการสูญเสียของของเหลวและอีเล็กโทรไลต์ในลำไส้และจากภาย นอกเซลล์ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาโดยทดแทนของเหลวและอีเล็กโทรไลต์ให้เพียงพอจะมีการสูญเสียของเหลวในเซลล์ตามมา

2. ทำให้ร่างกายสูญเสียภาวะความเป็นด่างในรูปของไบคาร์โบเนต (Bicarbonate) ทำให้ร่างกายขาดความเป็นด่างและมีสภาพเป็นกรด ซึ่งในภาวะที่ร่างกายเป็นกรดจะทำให้เกิดอา การหอบ อันเป็นกลไกในการปรับสภาพกรด - ด่างของร่างกาย

3. ท้องร่วงทำให้การดูดซึมสารอาหารลดลงในกรณีที่ท้องร่วงนั้นเกิดจากพยาธิสภาพที่ลำไส้เล็ก แต่ถ้าเกิดพยาธิสภาพที่ลำไส้ใหญ่ร่างกายจะสูญเสียโปรตีนจำนวนมาก

นอกจากนี้ผู้ป่วยจำนวนมากจะเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ทำให้มีผลกระทบทั้งเรื่องการสูญ เสียของเหลว อีเล็กโทรไลต์ และมีปัญหาต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย

แพทย์ประเมินภาวะขาดของเหลวและอีเล็กโทรไลต์อย่างไร?

แพทย์ประเมินภาวะขาดของเหลวและอีเล็กโทรไลต์ของร่างกายโดย

1. การซักประวัติ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและเพื่อประเมินว่าร่างกายมีการขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ไปมากน้อยเพียงใด โดยแพทย์จะซักประวัติต่อไปนี้

  • เสียปริมาณน้ำและเกลือแร่ออกไปเท่าใดทั้งทางอุจจาระและทางอาเจียนกี่ครั้ง ปริมาณครั้งละเท่าใด รวมทั้งลักษณะของอุจจาระซึ่งจะช่วยให้แพทย์หาสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง/ท้องเสียได้
  • ได้รับการรักษาด้วยสารน้ำและเกลือแร่หรือของเหลวต่างๆเช่น น้ำข้าว น้ำเกลือทำเอง หรือน้ำแกงจืด ไปเท่าใด
  • อาการร่วมต่างๆเช่น มีไข้ น้ำมูก (ในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส มักมีไข้ มีน้ำมูกนำมาก่อน) หรือเกิดจากการกินอาหารมีเชื้อโรคซึ่งคนหลายคนที่กินด้วยกันมีอาการด้วย หรือมีอาการหอบ ทำให้บอกได้ว่าต้องเสียน้ำไปมากพอสมควรและร่างกายเสียด่างออกไปจนมีภาวะกรดในร่างกาย
  • การรักษาต่างๆที่เด็กได้รับไปแล้วและผลต่อการรักษานั้นๆ
  • ที่สำคัญคือปัสสาวะครั้งสุดท้ายและจำนวนปัสสาวะซึ่งจะช่วยบอกว่าร่างกายขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์มากน้อยเพียงใด ถ้าปัสสาวะครั้งสุดท้ายภายใน 4 ชั่วโมงและปัสสาวะออกปริมาณมากพอสมควรแสดงว่าของเหลวหรือน้ำในร่างกายยังเพียงพอ

2. การตรวจร่างกาย โดยประเมินการสูญเสียน้ำและอีเล็กโทรไลต์เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาทดแทนต่อไป ทั้งนี้โดยแพทย์จะตรวจชีพจร ความดันโลหิต ในเด็กที่เสียน้ำจะมีชีพจรเร็วขึ้นและความดันโลหิตลดลง และบางคนที่มีการสูญเสียน้ำมากๆเช่น ในพวกท้องร่วงจากเชื้ออหิวาตกโรคซึ่งถ่ายท้องร่วงตลอดเวลาและไม่ได้รับการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เพียงพอ เด็กจะช็อกคือ ตรวจชีพจรเบา เร็ว ความดันเลือดต่ำมาก มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้แก่ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ซึมมาก (เนื่องจากขาดของเหลวไปเลี้ยงสมอง)

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจเยื่อบุช่องปาก ตรวจกระหม่อมด้านหน้ากะโหลก และกระบอกตาว่า บุ๋มหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ตรวจความยืดหยุ่นของผิวหนัง ในเด็กที่ขาดน้ำมากเมื่อจับผิวหนังขึ้นมาผิวหนังจะตั้งได้ แต่หากขาดน้ำเพียงเล็กน้อยเมื่อจับผิวหนังขึ้นมาพอปล่อยมือผิว หนังก็กลับไปอย่างเดิม แพทย์จะกดดูที่ปลายนิ้ว/เล็บ และปล่อยมือว่ามีเลือดไปเลี้ยงได้ดีหรือ ไม่ พวกที่ขาดน้ำมากเมื่อกดที่เล็บพอปล่อยมือที่กดออก กว่าเลือดจะเข้าไปที่ปลายเล็บแดงเหมือนเดิมมักใช้เวลานานเกินกว่า 2 วินาทีขึ้นไป

แพทย์จะสังเกตดูว่าเด็กมีอาการกระหายน้ำหรือไม่ หรือร้องไห้มีน้ำตาหรือไม่ เด็กที่ขาดน้ำมาก ร้องไห้น้ำตาน้อยลงหรือไม่มีน้ำตา

แพทย์จะประเมินแล้วแบ่งอาการขาดน้ำเป็น รุนแรงน้อย ปานกลาง และรุนแรงมาก

แบ่งความรุนแรงของภาวะขาดน้ำเป็นกี่ระดับ?

ความรุนแรงของภาวะขาดน้ำของร่างกายแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ภาวะขาดน้ำน้อย, ภาวะขาดน้ำปานกลาง, และภาวะขาดน้ำมาก

ก. ภาวะขาดน้ำน้อย: ร่างกายเสียน้ำไปประมาณ 3 - 5% เด็กดูปกติ กระหายน้ำเล็กน้อย ปัสสาวะเริ่มน้อยลง ซึ่งในภาวะนี้สามารถให้การดูแลรักษาโดยให้กินน้ำเกลือแร่ทางปากได้ หากรักษาได้เหมาะสมจะไม่เกิดภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์มากจนเกิดอันตราย

ข. ภาวะขาดน้ำปานกลาง: ร่างกายเสียน้ำไปประมาณ 6 - 9% เด็กเริ่มกระสับกระส่าย กระ หม่อมหน้าบุ๋มเล็กน้อยหรือตาบุ๋มเล็กน้อย ปากแห้ง น้ำตาลดลง ชีพจรเร็ว ปัสสาวะ 1 มิลลิลิตร/น้ำหนักเด็ก 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง เด็กบางคนมีหายใจหอบลึก

ค. ภาวะขาดน้ำมาก: ร่างกายเสียน้ำมากกว่า 10% เด็กจะกระวนกระวายและซึมมาก เยื่อบุช่องปากแห้งจนเหี่ยว ไม่มีน้ำตา ตาลึกโหล กระหม่อมบุ๋มมาก ปัสสาวะ 0.5 มิลลิลิตร/น้ำหนักเด็ก 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งเด็กบางคนขาดน้ำมากและเสียอีเล็กโทรไลต์มากจนเกิดภาวะช็อกตามมา และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะเกิดผลตามมาที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิต

หลักการแก้ปัญหาการขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็ก

การช่วยแก้ไขภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กโดยผู้เลี้ยงดูเด็กอาจทำได้เมื่อเด็กมีภาวะขาดน้ำน้อย เด็กมีอาการอื่นๆปกติและปัสสาวะออกได้ดีพอสมควร โดยกรณีภาวะขาดน้ำปานกลางหรือขาดน้ำมากต้องรีบนำเด็กพบแพทย์ด่วนหรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

  • ในเด็กที่กินนมแม่ ให้กินนมแม่ต่อไป และแม่ควรได้รับน้ำและอาหารเพียงพอ ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ
  • การให้กินน้ำเกลือแร่ที่มีขายตามท้องตลาดซึ่งอาจเป็นชนิดที่ทำเป็นน้ำเกลือแร่สำเร็จ รูปหรือทำเป็นผงให้ผสมน้ำ ส่วนประกอบของน้ำเกลือแร่จะมีโซเดียม โพแทสเซียม และน้ำตาล ที่ซองจะบอกสัดส่วนในการผสมเช่น 1 ซองต่อน้ำ 8 ออนซ์ (1 แก้วน้ำขนาดทั่วไป) หรือ 1 ซองต่อน้ำ 5 ออนซ์ (แก้วน้ำขนาดเล็ก) หรือ 1 ซองต่อน้ำ 4 ออนซ์ [1 ออนซ์เท่ากับ 30 มิลลิ ลิตร (มล.)] ถ้ามีขวดนมหรือขวดน้ำเด็กให้ดูขีดที่ขวดและใช้ตวงน้ำโดยขวด โดยทั่วไปขวดนมขวดใหญ่จะจุ 8 ออนซ์ ขวดเล็กจะจุ 4 ออนซ์
  • หากกรณีหาซื้อเกลือแร่ไม่ได้ให้ทำเองโดยใช้น้ำสะอาด 750 มิลลิลิตร/มล. (ตวงน้ำเท่ากับขวด 8 ออนซ์ 3 ขวดกับอีก 1 ออนซ์ หรือใช้ขวดน้ำปลาเปล่าขนาด 750 มล.) ใส่น้ำ ตาลทราย 15 กรัม (เท่ากับน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะขนาดใหญ่ หรือใช้ช้อนชาขนาด 5 มล. ซึ่งเป็นช้อนยาสำหรับเด็ก ตวงน้ำตาล 3 ช้อนชาจะได้น้ำตาลประมาณ 15 กรัม) และใส่เกลือแกงครึ่งช้อนชาหรือหนึ่งหยิบมือ แล้วต้มให้เดือด รอให้เย็นใช้แทนน้ำเกลือแร่ที่ขายได้
  • หากเด็กไม่ยอมกินน้ำเกลือแร่ที่ชง ให้ทำน้ำข้าวใส่เกลือและน้ำตาลแทน
  • อาจใช้น้ำแกงจืดซึ่งมีรสเค็มปะแล่มได้
  • ถ้ามีเครื่องดื่มเช่น สไปรท์ เซเว่นอัพ หรืออื่นๆ เขย่าฟองออกให้หมดก่อนแล้วเติมน้ำสุกหนึ่งเท่าก็ได้
  • หากไม่มีอะไรแต่มีมะพร้าว ให้ผ่าเอาน้ำมะพร้าวให้ดื่มได้
  • วิธีให้น้ำ คือป้อนทีละน้อยๆและบ่อยๆ และให้ดูอาการว่าเด็กสดชื่น นอนหลับได้ ปากไม่แห้ง ตาไม่บุ๋ม กระหม่อมไม่บุ๋ม ปัสสาวะได้ดี ปัสสาวะได้ภายใน 4 ชม.หลังการดูแลและปริมาณออกมากพอสมควร
  • ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งที่จะป้อนน้ำเกลือแร่หรืออาหารหรือเครื่องดื่มแก่เด็ก
  • หากเด็กสามารถรับประทานอาหารได้ให้รับประทานอาหารด้วยเช่น ข้าวต้มใส่หมูหยอง ปลาทอด หรือปลาย่าง (ระวังก้าง) เป็นต้น

การคิดปริมาณน้ำเกลือที่รักษาเด็ก

เด็กจะต้องได้รับทั้งอาหารให้พลังงาน น้ำและเกลือแร่ ในที่นี้คิดปริมาณน้ำเกลือแร่เป็นหลักเพื่อเสริมส่วนที่เสียไป การคิดปริมาณน้ำเกลือแร่ คือ

  • หากมีการขาดน้ำน้อยให้น้ำเกลือแร่ทางปาก 50 มล.ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัมภายใน 4 ชั่วโมง (ค่อยๆให้ทีละน้อยๆบ่อยๆ) และหากมีการสูญเสียไปทางอุจจาระหรืออาเจียนอีกก็เพิ่มไปตามจำนวนที่เสียไประหว่างนั้น
  • หากขาดน้ำปานกลางให้เกลือแร่ทางปาก 100 มล.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในเวลา 4 ชั่วโมง บวกทดแทนส่วนที่สูญเสียเพิ่มเติม
  • หากมีการขาดน้ำรุนแรงต้องไปรักษาในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำ
  • หากไม่มีอาการขาดน้ำหรือขาดน้ำน้อยกว่า 3% ให้กินนมตามปกติ และให้กินน้ำในปริมาณทดแทนการสูญเสียทางอุจจาระและอาเจียน (กินครั้งละน้อยๆบ่อยๆ) ตามปริมาณที่เสียไป แล้วให้น้ำเกลือแร่ต่อไปอีก 4 - 6 ชั่วโมงจนอาการปกติ
  • ต้องประเมินเด็กทุกชั่วโมงว่าสดชื่นดี นอนหลับได้ ไม่ซึม ไม่หอบ ไม่กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกดี ถ่ายอุจจาระห่างออก และปริมาณถ่ายน้อยลง อาเจียนน้อยลง
  • ถ้าอาการเด็กไม่ดีขึ้นหรือเลวลง รีบนำเด็กไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

เมื่อไรควรนำเด็กพบแพทย์?

กรณีที่ต้องรีบนำเด็กไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉิน คือ

1. เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนหรือน้ำหนักน้อยกว่า 18 ปอนด์ (1 กก. = 2.2 ปอนด์)

2. เด็กเกิดก่อนกำหนดหรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือกำลังมีการป่วยด้วยโรคอื่นๆอยู่เช่น โรคหวัด

3. มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (100.4 องศาฟาเรนไฮต์) ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน และมากกว่า 39 องศาเซลเซียส/Celsius (102.2 องศาฟาเรนไฮต์/ Fahrenheit) ในเด็กอายุ 3 - 36 เดือน

4. อุจจาระมีเลือดปน (อุจจาระเป็นเลือด)

5. มีอุจจาระออกบ่อย ปริมาณมาก และ/หรือมีกลิ่นรุนแรง

6. มีอาเจียนมากไม่หยุด

7. ผู้เลี้ยงดูสังเกตพบว่า เด็กตาโหลลึก กระหม่อมบุ๋มกว่าปกติ น้ำตาน้อยลง ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปากแห้ง ปัสสาวะลดลง

8. เด็กมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด ซึม

9. ผู้เลี้ยงดูไม่สามารถให้น้ำเกลือแร่กับเด็กทางปากได้ หรือให้แล้วเด็กไม่ดีขึ้น

อนึ่ง ในเด็กอายุมากกว่า 3 ขวบ และในผู้สูงอายุหากมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส และมีอาการร่วมดังกล่าวข้างต้นก็เป็นข้อบ่งชี้ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลหรือไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉินเช่นกัน

ข้อที่ควรทราบเกี่ยวกับการให้ยาแก้อาเจียน

ในผู้ป่วยเด็ก ไม่แนะนำให้ยาแก้อาเจียนหรือยาที่ไปทำให้ลำไส้หยุดเคลื่อนตัว (ยาแก้ท้องเสีย) โดยปกติผู้ป่วยเด็ก (รวมถึงผู้ใหญ่) จะอาเจียนอยู่ประมาณ 1 - 2 วันแล้วจะดีขึ้น หากให้น้ำเกลือแร่ทดแทนเพียงพอตลอดเวลาคืออาเจียนก็ให้จิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆ อาเจียนก็ให้จิบต่อ บางคนเข้าใจว่าอาเจียนเพราะดื่มน้ำเกลือแร่จึงหยุดให้น้ำเกลือแร่ บ่อยมากที่ผู้ป่วยเด็กไม่อยากดื่มน้ำเกลือแร่ พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูต้องมีกำลังใจในการป้อนน้ำเกลือแร่ (หรือสิ่งทดแทนดัง กล่าวแล้วข้างต้น) บ่อยๆ และดูอาการว่า เด็กยังสบายดีตามอาการที่แนะนำข้างต้น

การให้ยาปฏิชีวนะในเด็กที่ท้องร่วง

ส่วนใหญ่อาการท้องร่วง/ท้องเสียในเด็กมักเกิดจากไวรัส (ในเด็กที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะมีอาการอาเจียนมากร่วมด้วย) จึงมักไม่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะรัก ษาได้แต่โรคจากแบคทีเรีย รักษาโรคจากไวรัสไม่ได้) การติดเชื้อท้องร่วงบางอย่างเมื่อให้ยาปฏิชีวนะจะกลับทำให้โรคยิ่งหายช้า แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป ได้แก่

1. ในผู้ป่วยเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัวเช่น โรคมะเร็ง

2. ในผู้ป่วยที่สงสัยจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียและมีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต/เลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ซึ่งจะมีอาการไข้ ซึม หรืออาจตัวเย็นกว่าปกติ

3. ในกรณีมีการระบาดของเชื้อบิดไม่มีตัว (Shigellosis), Cryptosporidiosis, Giardiasis, อหิวาตกโรค การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยควบคุมการระบาดและกำจัดพาหะโรค และต้องเน้นการล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนป้อนอาหารเด็ก หลังดูแลการขับถ่ายของเด็ก หลังผู้ดูแลเข้าห้องน้ำ และรวมทั้งการล้างมือของเด็กด้วย

ผลแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ คือ

1. ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีจะเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจตามมาด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน อวัยวะสำคัญทำงานผิดปกติเช่น หัวใจและสมอง หรือบางคนเสียน้ำและเกลือแร่มาก ช่วยไม่ทันจะเสียชีวิต (ตาย) เช่นในพวกที่เป็นอหิวาตกโรค

2. หากการแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอาการชักจากการไม่สมดุลของอีเล็กโทรไลต์

ป้องกันภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กได้ไหม? อย่างไร?

การป้องกันภาวะขาดน้ำและอีเล็กโทรไลต์ในเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากท้องร่วง/ท้องเสีย และ/หรืออาเจียน จึงควรมีการป้องกันดังนี้

1. กินอาหารที่สุก สะอาดและร้อน ควรต้มน้ำให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำก่อนดื่มเมื่ออยู่ในภาวะไม่แน่ใจในความสะอาดของน้ำดื่ม

2. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหารและสอนเด็กให้ทำเป็นนิสัย ล้างจาน ถ้วย ชาม ช้อนให้สะอาด หรือลวกด้วยน้ำเดือดหากไม่แน่ใจในความสะอาดของน้ำ ขวดนมต้องต้มหรือนึ่งให้สะอาดก่อนใช้ทุกครั้ง

3. เมื่อเด็กมีอาการท้องร่วงหรืออาเจียน เริ่มต้นให้น้ำเกลือแร่ทางปากทดแทนเสียตั้งแต่ต้นเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำรุนแรง

4. ในเด็กเล็กมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า (ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง/ท้องเสียในเด็กเล็ก) แต่เป็นวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งก็ยังป้องกันโรคท้องร่วง/ท้องเสียไม่ได้ทั้งหมด เพราะโรคเกิดได้จากการติดเชื้อหลายชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัสชนิดอื่นๆ

บรรณานุกรม

1. Greenbaum LA. Pathophysiology of body fluids and fluid thereapy. Kliegman: Nelson Textbook of Pediatrics, 19 th, ed. http://vpn.kku.ac.th/books/. DanaInfo. Retrieved November 1, 2011.
2. https://www.cdc.gov/disasters/disease/diarrheaguidelines.html [2021,Jan16]
3. สุมิตร สุตรา. การรักษาด้วยสารน้ำและเกลือแร่ในเด็ก. ใน: สุขชาติ เกิดผล, อวยพร ปะนะมณฑา, จามรี ธีรตกุลพิศาล, ชาญชัย พานทองวิริยะกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จรรยา จิระประดิษฐา, วิชากุมารเวชศาสตร์. ขอนแก่น: แอนนาออฟเซต, 2552 หน้า 149-173.