ภัยแฝงจากสารพิษโลหะหนัก (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ภัยแฝงจากสารพิษโลหะหนัก
  • สารอลูมิเนียม เป็นสารที่มีพิษต่อประสาท อาจทำให้ความจำแย่ลง อารมณ์ผิดปกติ เช่น หดหู่ซึมเศร้า วิตกกังวล ทั้งนี้สารอลูมิเนียมจะไปรบกวนการทำงานของเซลล์ในสมอง โดยระดับอลูมิเนียมที่สูงจะมีส่วนสัมพันธ์ต่อการเพิ่มขึ้นของโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ (Beta-amyloid proteins) และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์
  • อลูมิเนียมยังเป็นอันตรายต่อกระดูก โดยงานวิจัยทางแพทย์พบว่า การใช้ยาลดกรดในปริมาณที่มากมักเป็นสาเหตุของโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) และแตกหักง่าย

    นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันว่า อลูมิเนียมมีความเป็นพิษต่อยีน (Genotoxic) มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม อันเนื่องมากจากการใช้ยาระงับเหงื่อ ทั้งนี้ เราสามารถพบสารอลูมิเนียมได้จาก

  • อาหาร – อาหารตามธรรมชาติบางชนิด เช่น ชา ธัญพืช จะมีสารอลูมิเนียมอยู่ตามปกติ แต่สารอลูมิเนียมในอาหารส่วนใหญ่เกิดจากการปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการประกอบอาหาร เช่น โซเดียมอลูมิเนียมฟอสเฟตที่ใช้ในอาหารอบ หรือเนยแข็งปรุงแต่ง (Processed cheese) ก็มีสารอลูมิเนียมในปริมาณที่สูงเช่นกัน
  • บรรจุภัณฑ์อาหาร (Food packaging) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (Cookware) – เราสามารถพบได้ในอาหารและเครื่องดื่มที่บรรจุในกระป๋องอลูมิเนียม หรืออาหารที่ใช้อลูมิเนียมฟลอย (Aluminium foil)
  • น้ำ – องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า บนเปลือกโลกเรานี้มีอลูมิเนียมอยู่ประมาณร้อยละ 8 และเนื่องจากโรงงานบำบัดน้ำมักใช้เกลือและอลูมิเนียมเป็นตัวลดระดับสารชีวภาพ ความขุ่น (Turbidity) และจุลินทรีย์ (Microorganism) ในน้ำ ดังนั้นน้ำที่ผ่านการผลิตอย่างน้ำประปาจึงมีโอกาสที่จะมีอลูมิเนียมปนเปื้อนได้มาก
  • มลภาวะทางอากาศ – ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้อลูมิเนียม
  • ของใช้ประจำวัน – อย่างยาระงับกลิ่นกาย (Deodorants) และยาระงับเหงื่อ (Antiperspirants) ล้วนมีส่วนผสมของสารอลูมิเนียม
  • ยา – เช่น อลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) ที่ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ (Active ingredient) ในยาต่างๆ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

ทั้งนี้ การทดสอบสารพิษโลหะหนัก อาจทำได้ด้วยวิธีวิเคราะห์แร่ธาตุจากเส้นผม (Hair Mineral Analysis) ในห้องแล็ปเพื่อดูว่ามีแร่ธาตุอะไรประกอบอยู่ในร่างกายบ้าง อย่างไรก็ดีวิธีนี้ใช้วิเคราะห์ได้ดีกับแร่ธาตุบางชนิดเท่านั้น เช่น สารปรอท

นอกจากนี้ยังใช้วิธีการตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด การเอ็กซเรย์ (เช่นกรณีการตรวจสารหนูที่อยู่ในช่องท้องที่จะปรากฏเป็นสีเทาหรือขาว (Radiopaque) เมื่อทำการเอ็กซเรย์)

สำหรับหลักในการรักษาโรคสารพิษโลหะหนักก็คือ การกำจัดสารดังกล่าวออกจากร่างกาย เช่น

  • การทำคีเลชั่น (Chelation) ด้วยการให้สารน้ำที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนสังเคราะห์อีดีทีเอ (Ethylene Diamine Tetra Acetic Acid = EDTA) ผสมกับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ผ่านทางหลอดเลือดดำหรือผ่านทางทวารหนัก โดย EDTA จะทำหน้าที่สำคัญในการจับสารโลหะหนัก ซึ่งสะสมตกค้างในเนื้อเยื่อและพอกอยู่ตามผนังหลอดเลือด เพื่อขจัดออกทางปัสสาวะ ดังนั้น จึงต้องมีการเติมวิตามินและเกลือแร่ในสารละลาย EDTA เพื่อคงระดับของวิตามินและเกลือแร่ในร่างกายให้พอเหมาะ
  • การล้างท้อง (Gastric lavage) เพื่อเอาโลหะตกค้างที่อยู่ในช่องท้องออก เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

1. Toxic heavy metal.https://en.wikipedia.org/wiki/Toxic_heavy_metal[2015, October 1].

2. Heavy Metal Toxicity. http://www.ei-resource.org/illness-information/related-conditions/heavy-metal-toxicity/[2015, October 1].

3. Heavy Metal Poisoning.https://rarediseases.org/rare-diseases/heavy-metal-poisoning/[2015, October 1].