ภัยแฝงจากสารพิษโลหะหนัก (ตอนที่ 3)

ภัยแฝงจากสารพิษโลหะหนัก
  • สารตะกั่ว ข้อมูลของ The Occupational Safety and Health Administration (OSHA) ระบุว่า อาการจะแย่ลงหากมีปริมาณสารตะกั่วสะสมในเลือดมาก ซึ่งอาการโดยทั่วไปได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดเกร็งท้อง (Stomach cramps) ท้องผูก นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เจ้าอารมณ์ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อ โลหิตจาง และความต้องการทางเพศน้อยลง ทั้งนี้ เราสามารถพบสารตะกั่วได้จาก
  • สีทาบ้านที่มีส่วนผสมของตะกั่ว (Lead Paint) – ซึ่งมักใช้เป็นสีรองพื้นสีขาวหรือสีเหลือง เพื่อยืดอายุสี กันความชื้น และทำให้สีบ้านดูสดใส
  • ฝุ่น – ที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน
  • ดิน – ที่อยู่ใกล้ถนนหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารตะกั่ว
  • อาหาร – พืชอาจซึมซับสารตะกั่วได้จากดินหากมีการปลูกในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของตะกั่วหรือในบริเวณโรงงานเก่า
  • น้ำ – ที่ผ่านท่อประปาที่มีส่วนประกอบของตะกั่ว
  • มลภาวะทางอากาศ – ที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว
  • เครื่องสำอางค์ – เช่น ลิปสติก
  • สารแคดเมี่ยม นักสูบบุหรี่เป็นกลุ่มที่ได้ความเสี่ยงจากแคดเมี่ยมมากที่สุด โดยแคดเมี่ยมจะสะสมอยู่ที่ไตและทำลายไต ทำลายความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density = BMD) ทำให้กระดูกหักง่าย
  • แคดเมี่ยมยังทำลายปอด ทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ปอดอักเสบจากสารเคมี (Chemical pneumonitis)
  • นอกจากนี้ รายงานวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพิษแคดเมี่ยมกับการทำงานของระบบประสาท (Neurobehavioural deficits) เช่น ระบบการมองเห็น การทรงตัว (Balance problem) โดยเราสามารถพบแคดเมี่ยมได้จาก
    • บุหรี่ – เพราะต้นยาสูบที่ปลูกมักสะสมสารแคดเมี่ยมจากดิน
    • มลภาวะทางอากาศ – ที่เกิดจากการใช้แคดเมี่ยมในโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาขยะที่มีส่วนผสมของแคดเมี่ยม เช่น พลาสติก แบตเตอรี่ (Nickel-cadmium batteries)
    • อาหาร – แคดเมี่ยมในดินมีผลต่อห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้พืชบางชนิดก็สามารถดูดซึมสารแคดเมี่ยมได้มากกว่าสารโลหะหนักอื่น โดยเฉพาะผักใบ ผักหัว ข้าว ธัญพืช
    • น้ำ – การกัดกร่อนของท่อที่เคลือบด้วยสังกะสี ของเสียจากโรงกลั่น

    แหล่งข้อมูล

    1. Toxic heavy metal.https://en.wikipedia.org/wiki/Toxic_heavy_metal[2015, October 1].

    2. Heavy Metal Toxicity. http://www.ei-resource.org/illness-information/related-conditions/heavy-metal-toxicity/[2015, October 1].

    3. Heavy Metal Poisoning.https://rarediseases.org/rare-diseases/heavy-metal-poisoning/[2015, October 1].