ภัยเงียบจากฟลูออไรด์ (ตอนที่ 1)

ภัยเงียบจากฟลูออไรด์

ปัจจุบันวงการทันตกรรมกำลังเป็นกังวลกับ “ภาวะฟันตกกระ” ที่พบในเด็กรุ่นใหม่สูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยมีสาเหตุมาจากการใช้น้ำในปัจจุบันที่มีปริมาณ “ฟลูออไรด์” เกินมาตรฐาน ซึ่งสวนทางกับระบบสาธารณูปโภคในภาพรวมของประเทศที่พัฒนาขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดย ทตญ.สุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย เปิดเผยว่า ในทางทันตกรรมจะใช้ฟลูออไรด์ในการรักษาโรคฟันผุ ด้วยการกลั้วในช่องปากและบ้วนทิ้งเท่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้ดื่มกินเด็ดขาด

เพราะเมื่อฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายด้วยการรับประทานจะเกิดการย่อยสลายและเกิดการแตกตัวดูดซึมไปตามอวัยวะต่าง ๆ ลักษณะเหมือนกับการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกายตามปกติ แต่เป็นอันตรายกับระบบในร่างกายคนเราโดยเฉพาะกลุ่มกระดูกและแคลเซียม

ทตญ.สุรัตน์ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า ประเทศจีนและอินเดียประสบปัญหาผู้ป่วยกระดูกงอกทับเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก เอ็นยึดเดินไม่ได้ อันเป็นผลมาจากการได้รับฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป

ส่วนในประเทศไทยมีการศึกษาเมื่อ 30 ปีก่อนพบผู้ป่วยใน จ.เชียงใหม่ที่รับประทานน้ำที่มีฟลูออไรด์สูงทำให้กระดูกผิดปกติ เกิดอาการปวดกระดูก ปวดขามาก ต้องรับยาแก้ปวดตลอด และมีผลกระทบบั่นทอนสุขภาพไปตลอดชีวิต หลังจากนั้นยังไม่มีการศึกษาต่ออย่างจริงจังอีกเลย

ฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสขม ในน้ำทะเลจะพบฟลูออไรด์อยู่ที่ระดับ 0.86 - 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร (โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร) เราสามารถพบฟลูออไรด์ได้ในน้ำดื่มและอาหาร ทั้งนี้โดยมีค่ามาตรฐานความปลอดภัยของปริมาณฟลูออไรด์ที่บริโภคว่าต้องไม่สูงเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร

เราใช้ฟลูออไรด์เป็นส่วนผสมในการป้องกันฟันผุทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้เคลือบฟัน (Tooth enamel) แข็งแรง เพราะฟันผุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในปากซึ่งมีสาเหตุจากการกินน้ำตาลหรือแป้งที่ผ่านกระบวนการ (Refined carbohydrates) โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างกรดทำลายผิวฟัน ฟลูออไรด์จะช่วยลดการถูกทำลายของผิวฟันและป้องกันไม่ให้ฟันผุ

เราสามารถพบฟลูออไรด์ได้ตามธรรมชาติ ทั้งในดิน หิน น้ำ ซึ่งจะมีระดับปริมาณฟลูออไรด์ที่มากน้อยแตกต่างกันไป เนื่องมาจากสภาพของดินและหินแข็งชั้นล่างที่อยู่ใต้ชั้นดินและทราย (Bedrock) ในแต่ละแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นภูเขา มีบ่อน้ำพุร้อน พวกน้ำบาดาลจะมีฟลูออไรด์มากกว่าแหล่งน้ำตามธรรมชาติอื่นๆ

ทตญ.สุรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาก็คือ การประปาหมู่บ้านหลายแห่งในประเทศไทยไม่สามารถหาแหล่งน้ำธรรมชาติมาทำน้ำประปาสำหรับใช้ในชุมชนได้ จึงต้องใช้น้ำบาดาลมาทำน้ำประปาแจกจ่ายชาวบ้าน

โดยจากการสอบสวนโรคพบว่า บางพื้นที่ได้รับฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายปริมาณมากจากการใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูงเกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด บางพื้นที่พบ 4-5 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา พบฟลูออไรด์ในน้ำประปาสูงถึง 12 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งฟลูออไรด์จะมีผลทำให้ฟันสร้างตัวเองไม่ครบ เหมือนกับอวัยวะคนเราที่เมื่อสร้างตัวไม่สมบูรณ์จะมีลักษณะหงิกงอ

แหล่งข้อมูล

  1. “ฟลูออไรด์” ภัยเงียบในน้ำดื่มน้ำใช้ http://dailynews.co.th/Content/Article/282426/‘ฟลูออไรด์'+ภัยเงียบในน้ำดื่ม+น้ำใช้ [2014, November 30].
  2. Fluoride. http://en.wikipedia.org/wiki/Fluoride [2014, November 30].
  3. Community Water Fluoridation. http://www.cdc.gov/fluoridation/faqs/ [2014, November 30].