ฟิลกราสทิม (Filgrastim)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟิลกราสทิม(Filgrastim) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophils)ต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด การได้รับ รังสีรักษา ผู้ป่วยโรคเอชไอวี(HIV) ตลอดจนภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำที่ไม่ทราบสาเหตุ ยาฟิลกราสทิมเป็นยาที่มีโครงสร้างคล้ายกับสารไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ของร่างกายซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Granulocyte-Colony Stimulating Factor หรือเรียกย่อๆว่า G-CSF โปรตีนชนิดนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกให้เกิดการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลเพิ่มขึ้น ยาฟิลกราสทิมได้รับการขึ้นทะเบียนยาตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ยาชนิดนี้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองใช้กับผู้ป่วย

ยาฟิลกราสทิมเป็นยาชีวะสังเคราะห์ที่ใช้กระบวนการพันธุวิศวกรรมตัดต่อสารพันธุกรรม(DNA) โดยตัวยานี้จะทำหน้าที่คล้ายกับ G-CSF ของร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลจากไขกระดูก รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ เป็นชนิดฉีดที่ใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็ก หลังจากผู้ป่วยได้รับยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1–2 วัน ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ตัวยาจะมีเวลาอยู่ในกระแสเลือดนานประมาณ 3.5 ชั่วโมง จากนั้นจะเริ่มเสื่อมสลายโดยกระบวนการทางเคมีในร่างกายที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Neutrophil-mediated clearance

สำหรับข้อมูลสำคัญๆที่ควรทราบเกี่ยวกับยาฟิลกราสทิมมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาฟิลกราสทิมภายใน 24 ชั่วโมงก่อนหรือหลังทำ/ได้รับยาเคมีบำบัดหรือได้รับรังสีรักษา
  • ยาฟิลกราสทิมอาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย (Systemic capillary leak syndrome) ซึ่งจะนำมาด้วยอาการ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก/ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก เกิดภาวะเลือดออกง่าย การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงช่องท้องน้อยลง ไตทำงานผิดปกติ ตัวบวม และรู้สึกสับสน หากพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล/มาโรงพยาบาล โดยเร็ว เพื่อทำการเยียวยารักษา
  • ผู้ป่วยด้วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว(Sickle cell disease) มักจะมีอาการ แย่ลงเมื่อได้รับยาฟิลกราสทิม เคยมีรายงานการใช้ยาฟิลกราสทิมกับผู้ป่วยโรคนี้ ก่อให้เกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นทุกครั้งที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา กับแพทย์ จะต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบทุกครั้งว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
  • *อาการแพ้ยาฟิลกราสทิม สามารถสังเกตหลังจากได้รับยานี้ มีดังนี้ ที่สำคัญ เช่น เกิดผื่นคัน ผื่นแดง ผิวหนังลอก อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก ใบหน้า-ปาก-ลิ้น-คอมีอาการบวม กรณีพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องหยุดการใช้ยานี้ และต้องรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เข้ามาช่วยเหลือโดยเร็ว(กรณีอยู่ในโรงพยาบาล)/มาโรงพยาบาลทันที
  • ยาฟิลกราสทิม อาจทำให้ไตทำงานผิดปกติได้ สังเกตจากอาการปัสสาวะลำบากขึ้น ปัสสาวะมีสีคล้ำแดงด้วยมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด หรือน้ำหนักตัวเพิ่มผิดปกติ กรณีนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ยาฟิลกราสทิม อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้หลายประการ เช่น หายใจเร็ว ปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย/ไม่มีแรง ไอจนถึงขั้นมีเลือดปน/ไอเป็นเลือด มีไข้ ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดกระดูก หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ควรรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการบริหารยานี้
  • ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยาฟิลกราสทิมกับกลุ่มสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร จากรายงานการวิจัยพบว่า ยานี้สร้างอันตรายกับตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ทดลอง จึงถือเป็นข้อห้ามหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
  • การใช้ยานี้กับเด็กต้องอาศัยน้ำหนักตัวเด็ก มาคำนวณขนาดการให้ยา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายยานี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
  • ยาฟิลกราสทิมเป็นยาสารละลายใส กรณีพบตะกอนขุ่น สียาเปลี่ยน หรือเกิดรอยรั่วที่ภาชนะบรรจุ ห้ามใช้ยานี้อย่างเด็ดขาด
  • ผู้ป่วยต้องมารับการให้ยานี้และรับการตรวจเลือดตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการประมินผลการรักษาว่า เป็นไปตามเป้าหมายและทำให้อาการป่วยดีขึ้นหรือไม่

ยาฟิลกราสทิมที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศเรา มีอยู่หลายยาชื่อการค้า และจัดเป็นหนึ่งในรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยระบุเงื่อนไขการใช้ยาดังนี้

1. ใช้สำหรับปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

2. ใช้รักษาการติดเชื้อที่เรียกว่า Febrile neutropenia ที่เกิดจากยาเคมีบำบัด

3. ใช้ป้องกัน Febrile neutropenia แบบปฐมภูมิ และ แบบทุติยภูมิ

ตามกฎหมายยาของไทย ได้กำหนดให้ยาฟิลกราสทิมเป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาต้องมีใบสั่งจากแพทย์ และจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

ฟิลกราสทิมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฟิลกราสทิม

ยาฟิลกราสทิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ชนิด นิวโทรฟิล หลังจากได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา
  • ใช้ร่วมในการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • ใช้บำบัดภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำในผู้ป่วยเอชไอวี
  • บำบัดอาการเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำตั้งแต่กำเนิด

ฟิลกราสทิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่ายาฟิลกราสทิม เป็นยาชีวะสังเคราะห์ที่เลียนแบบ/มีกลไกการทำงาน/การออกฤทธิ์แบบสาร G-CSF ซึ่งเป็นสารปัจจัยในการกระตุ้นเซลล์ไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลให้เจริญเติบโตและสมบูรณ์ขึ้นมาทดแทนเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลที่ตายหรือได้รับผลกระทบจากการได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา

ฟิลกราสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟิลกราสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่บรรจุ Filgrastim ขนาด 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร, 300 ไมโครกรัม/0.5 มิลลิลิตร, 480 ไมโครกรัม/1.6 มิลลิลิตร

ฟิลกราสทิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟิลกราสทิม มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลหลังการได้รับยาเคมีบำบัด:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือจะให้แบบหยดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาในการหยดยานาน 15–30 นาทีเป็นอย่างต่ำ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยานี้นานถึง 14 วัน หรือมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับระดับเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลที่ถูกสร้างขึ้นหลังได้รับยานี้ และการเริ่มให้ยานี้จะกระทำหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง

ข.สำหรับบำบัดเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลต่ำตั้งแต่กำเนิด:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 6 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง ระยะเวลาการใช้ยาต้องเป็นไปตามการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาระยะเวลาการให้ยาได้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

ค. สำหรับใช้ร่วมในกระบวนการปลูกถ่ายไขกระดูก:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยใช้เวลาในการหยดยานาน 30 นาทีขึ้นไป การให้ยาต้องกระทำหลังจากปลูกถ่ายไขกระดูกไปแล้ว 24 ชั่วโมง

อนึ่ง:

  • ในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการให้ยานี้
  • มารับการฉีดยานี้อย่างต่อเนื่อง ตรงตามแทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • โดยทั่วไป การหยุดให้ยานี้ แพทย์จะใช้เกณฑ์ตรวจนับจำนวน เม็ดเลือดขาว ที่มีระดับเพิ่มขึ้น จนเข้าเกณฑ์มาตรฐาน

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟิลกราสทิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟิลกราสทิม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาฟิลกราสทิม/หรือลืมมารับยานี้ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล ผู้ที่ทำการดูแลรักษาเพื่อทำการนัดหมายใหม่โดยเร็ว

ฟิลกราสทิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟิลกราสทิมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดคอ ปวด/เจ็บหน้าอก มีภาวะกระดูกพรุน
  • ผลต่อม้าม เช่น มีอาการม้ามโตจนในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการม้ามปริแตกได้
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อผิวหนัง เช่น อาจพบผื่นคัน ผมร่วง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำ เกิดกลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด มีโปรตีนในปัสสาวะ มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น อาจเกิดภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวสูงมาก
  • ผลต่อตับ เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น เกิดภาวะตับโต
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น กรดยูริคในเลือดสูง เอนไซม์ชื่อ Lactate dehydrogenase(LDH เอนไซม์ใช้ในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน)ในเลือดเพิ่มขึ้น เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อไต เช่น เกิดภาวะไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น เจ็บคอหอย หายใจขัด/หายใจลำบาก มีเลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด

มีข้อควรระวังการใช้ฟิลกราสทิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟิลกราสทิม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยาฟิลกราสทิม ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับการได้รับยาเคมีบำบัด และ/หรือ หลังการได้รับรังสีรักษา
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งประเภท Myeloid malignancies (มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) และผู้ป่วยภาวะ Kostman’s syndrome (โรคเลือดชนิดหนึ่งที่เป็นโรคทางพันธุกรรม และพบได้น้อยมาก)
  • ระหว่างใช้ยานี้ ระวังการเกิด กลุ่มอาการหลอดเลือดฝอยรั่ว ไตอักเสบ เม็ดเลือดขาวมากเกินปกติ การหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และภาวะม้ามแตก
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินและควบคุมการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายหลังได้รับยาฟิลกราสทิมต่อเนื่องเป็นเวาลานาน เช่น การทำงานของ ปอด ตับ ไต หลอดเลือดและระบบเลือด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาฟิลกราสทิมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟิลกราสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟิลกราสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาฟิลกราสทิมร่วมกับยา Brentuximab(ยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง), Methotrexate, Vincristine (ยาเคมีบำบัด) ด้วยจะทำให้เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงอย่างรุนแรงของยาทุกตัวต่างๆดังกล่าวตามมา
  • การใช้ยาฟิลกราสทิมร่วมกับยา Lithium อาจก่อให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงให้เกิดปริมาณเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากจนเกินไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาฟิลกราสทิมในผู้ป่วยโรคมะเร็งประเภท Myeloid tumors ในทางปฏิบัติ ยาฟิลกราสทิมสามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวได้มากขึ้นก็จริง แต่ก็สามารถกระตุ้นเซลล์มะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะเซลล์มะเร็งกลุ่มนี้ให้เจริญเติบโตเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษาฟิลกราสทิมอย่างไร?

ควรเก็บยาฟิลกราสทิม ในช่วงอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟิลกราสทิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟิลกราสทิม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Filgen (ฟิลเจน)Ranbaxy
Gran (แกรน)Kyowa Hakko Kirin
Leuco-Plus (ลิวโค-พลัส)Apexcela
Neukine (นิวไคน์)Intas Pharmaceuticals
Neupogen (นิวโปเจน)Amgen
Neutromax (นิวโทรแมกซ์)Bio Sidus

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Filgrastim [2017,Oct28]
  2. https://www.drugs.com/monograph/filgrastim-tbo-filgrastim.html [2017,Oct28]
  3. https://www.drugs.com/cdi/filgrastim-injection.html [2017,Oct28]
  4. https://www.drugs.com/dosage/filgrastim.html#Usual_Adult_Dose_for_Neutropenia_Associated_with_Chemotherapy [2017,Oct28]
  5. https://www.drugs.com/sfx/filgrastim-side-effects.html [2017,Oct28]
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF [2017,Oct28]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/filgrastim/?type=brief&mtype=generic [2017,Oct28]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=filgrastim [2017,Oct28]