ฟาสต์ฟู้ดบ่อย เสี่ยงโรคหอบหืด (ตอนที่ 3)

การวินิจฉัยโรค นอกจากใช้การตรวจทางกายภาพ (Physical Exam) ว่า มีอาการหายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาด น้ำมูกไหล ช่องจมูกบวม ฯลฯ แล้ว อาจทำการวิเคราะห์ด้วยการทดสอบสมรรถภาพปอด ด้วยการใช้ข้อบ่งชี้ในการตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) ซึ่งเป็นการวัดปริมาณอากาศที่คนนั้นๆ สามารถหายใจเข้าและหายใจออก ทั้งยังสามารถวัดความเร็วของลมที่ออกมาด้วย หากผลทดสอบต่ำกว่าระดับมาตรฐาน มีการใช้ยาและมีประวัติอาการแบบโรคหืดแล้ว แพทย์อาจลงความเห็นว่าเป็นโรคหืดได้

นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีทดสอบอย่างอื่นที่จำเป็น ซึ่งอาจรวมถึง :

  • การทดสอบว่าแพ้อะไร
  • การทดสอบความไวของทางเดินหายใจ หรือหลอดลมที่เรียกว่า Bronchoprovocation โดยการวัดสมรรถภาพของปอด ภายหลังที่มีการหายใจเอาอากาศเย็นหรือสารเคมีบางอย่างเข้าไป
  • การเอ็กซเรย์หน้าอก หรือการตรวจคลื่นไฟ้ฟ้าหัวใจ (EKG = Electrocardiogram) ซึ่งจะช่วยหาสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจที่อาจเป็นต้นเหตุของอาการ

เด็กส่วนใหญ่มักมีอาการหอบหืดก่อนอายุ 5 ปี อย่างไรก็ดีการตรวจอาการดังกล่าวในเด็กทารกจนถึงอายุ 5 ปี อาจทำได้ยาก เพราะอาการหอบหืดมักคล้ายกับอาการป่วยอื่นๆ ของเด็ก เช่น เด็กอาจมีอาการหายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาดเมื่อเป็นหวัด หรือติดเชื้อที่ทางเดินหายใจแต่ไม่ได้เป็นโรคหืด หรืออาจเป็นเพราะเด็กมีหลอดลมที่เล็กแล้วเป็นหวัดจึงทำให้หายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาด หลอดลมจะใหญ่ขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น ดังนั้นอาการดังกล่าวก็มักจะหายไปด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น

เด็กที่มีอาการหายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาดเพราะเป็นหวัดหรือติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหืดมากขึ้นถ้า :

  • พ่อหรือแม่เป็นโรคหืด
  • เด็กมีอาการของภูมิแพ้ รวมถึงการมีผิวหนังอักเสบเหตุภูมิแพ้ (Eczema )
  • เด็กมีอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ หรือสารก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ ที่ลอยมาในอากาศ
  • เด็กมีอาการหายใจลำบากและมีเสียงฟืดฟาดแม้ว่าจะไม่ได้เป็นหวัดหรือติดเชื้อ

ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ ในการทดสอบเพื่อดูปฏิกริยาในอาการของเด็ก

ยาที่ใช้รักษาโรคหืดมี 2 ประเภท คือ ยารักษาระยะยาว (Long-term control) และยารักษาอาการเฉียบพลัน (Quick-relief medicines) ยารักษาระยะยาวช่วยลดการอักเสบของหลอดลมและป้องกันอาการหอบหืด ส่วนยารักษาอาการเฉียบพลันใช้รักษาอาการหอบที่อาจกำเริบ

ระดับการควบคุมอาการหอบหืดจะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงของบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน แพทย์อาจเพิ่มยาถ้าไม่สามารถควบคุมอาการหอบหืดได้ หรือในทางกลับกันแพทย์อาจลดยาหากอาการหอบหืดนั้นสามารถควบคุมได้เป็นเวลาหลายเดือน การปรับยานี้จะช่วยให้มีการใช้ยาเท่าที่จำเป็นต่อการควบคุมอาการเท่านั้น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืดอาจอยู่ในรูปเม็ด แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของยาพ่นเพื่อให้ยาไปสู่ปอดโดยตรง

แหล่งข้อมูล:

  1. How Is Asthma Diagnosed? http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/asthma/diagnosis.html [2013, January 24].
  2. How Is Asthma Treated and Controlled? http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/asthma/treatment.html [2013, January 24].