ฟาสต์ฟู้ดบ่อย เสี่ยงโรคหอบหืด (ตอนที่ 1)

การวิจัยของศูนย์ศึกษาโรคหืดและภูมิแพ้ในเด็กระหว่างประเทศ (ไอแซค) ที่ทำการศึกษาพฤติกรรมการกินของวัยรุ่นอายุ 13 - 14 ปี และเด็กที่อายุระหว่าง 6 - 7 ขวบ จำนวนเกือบครึ่งล้านคนในหลายประเทศ โดยให้ผู้ปกครองเป็นผู้ตอบคำถามสำหรับเด็กอายุน้อย ปรากฏผลที่น่าสนใจ

สรุปผลว่า อาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นอาหารประเภทเดียวที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับโรคหืด รุนแรง โดยเด็กๆ ที่ชอบการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดอยู่บ่อยๆ จะมีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคหืดมากกว่าเด็กๆ ทั่วไปที่ชอบการกินผลไม้เป็นหลัก

โดยเฉพาะ เด็กที่กินอาหารฟาสต์ฟู้ดมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์จะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหืดรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 ในหมู่วัยรุ่น และมากขึ้นร้อยละ 27 ในกลุ่มเด็ก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคผิวหนังอักเสบ และโรคเยื่อจมูกอักเสบเพิ่มมากขึ้น

ในขณะอีกด้านหนึ่ง เด็กๆ หรือวัยรุ่นที่กินผลไม้มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดอาการป่วยเหล่านี้ลงร้อยละ 11 - 14 น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเด็กไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยซึ่งมีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์โธแร็กซ์ ของอังกฤษ ระบุว่า การวิจัยดังกล่าวยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงต่อไป

โรคหืด หรือ โรคหืด (Asthma) เป็นโรคเรื้อรังของปอดที่ทำให้ทางเดินหายใจหรือหลอดลมอักเสบ บวม และตีบลง โรคหืดทำให้เกิดอาการหายใจลำบากและมีเสียงวี้ดๆ (Wheezing) แน่นหน้าอก หายใจถี่ และไอ อยู่บ่อยๆ มักเกิดในช่วงกลางคืนหรือตอนเช้าๆ

โรคหืดเกิดขึ้นได้ในทุกวัย แต่มักเป็นตั้งแต่เด็ก ในสหรัฐอเมริกามีผู้เป็นโรคหืดมากกว่า 25 ล้านคน โดยมีประมาณ 7 ล้านคนที่เป็นเด็ก

ก่อนที่เราจะรู้จักโรคหืด เรามาเข้าใจถึงระบบทางเดินหายใจกันก่อนว่า เป็นท่อทางเดินของอากาศเพื่อนำอากาศเข้าสู่และออกจากปอด คนที่เป็นโรคหืดจะมีการอักเสบที่ทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมบวม และมักจะมีปฏิกิริยารุนแรงกับสิ่งที่อุดขวางทางเดินหายใจ

เมื่อหลอดลมมีปฏิกิริยา กล้ามเนื้อรอบหลอดลมจะตึง ทำให้หลอดลมตีบลงเป็นเหตุให้อากาศเข้าสู่ปอดลดน้อยลง ปฏิกิริยานี้ทำให้เกิดอาการของโรคหืดซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่มีการอักเสบที่หลอดลม

บางครั้งอาการหอบหืดอาจเป็นแบบอ่อนๆ และหายไปหลังจากการกินยารักษาเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางครั้งอาการจะแย่ลงๆ หากมีอาการเกิดขึ้นบ่อย จะเรียกว่า อาการหอบกำเริบ (Asthma attacks หรือ Flareups หรือ Exacerbations)

การสังเกตอาการได้ก่อนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยไม่ให้อาการแย่ลงและกลายเป็นอาการหอบกำเริบ อาการหอบกำเริบที่รุนแรงต้องการการรักษาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้

แหล่งข้อมูล:

  1. ผลวิจัยชี้อาหาร "ฟาสต์ฟู้ด" ทำเด็กป่วยเป็นโรคหอบหืด http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1358393637&grpid=03&catid=12&subcatid=1203 [2013, January 22].
  2. What Is Asthma? http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/asthma/ [2013, January 22].