ฟันผุ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ฟันผุ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก

ในกรณีที่รุนแรง อาจทำให้

  • ปวดและรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น การไปทำงานหรือไปโรงเรียน
  • น้ำหนักลดเพราะมีปัญหาเรื่องการกินหรือเคี้ยว
  • ฟันหลอ ซึ่งมีผลต่อบุคลิกภาพ การขาดความมั่นใจ
  • กรณีเป็นฝีที่ปลายรากฟัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่มีผลต่อชีวิตได้ (แต่ไม่ค่อยพบ)

สำหรับการรักษาส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำก่อนที่อาการจะกำเริบ ยิ่งพบปัญหาได้เร็วเมื่อไรก็ยิ่งมีโอกาสรักษาให้ได้ผลดีและเร็วเท่านั้น โดยการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของตำแหน่งที่เกิดด้วย ซึ่งอาจใช้วิธีรักษาโดย

  • ใช้ฟลูออไรด์ (Fluoride treatments) หากเพิ่งเริ่มมีอาการฟันผุ การใช้ฟลูออไรด์อาจช่วยในการรักษาเคลือบฟันได้ ซึ่งฟลูออไรด์ที่ใช้อาจอยู่ในรูปของ ของเหลว เจล โฟม หรือน้ำยาเคลือบฟัน (Varnish) แต่การใช้ ฟลูออไรด์ในเด็ก ควรต้องปรึกษาทันตแพทย์ก่อนนำมาใช้เสมอ เพราะอาจส่งผลข้างเคียงต่อฟันของเด็กได้
  • การอุดฟัน (Fillings) เป็นทางเลือกในการรักษาที่นิยมเมื่อเคลือบฟันเริ่มถูกทำลาย การอุดฟันอาจใช้วัสดุหลากชนิด เช่น คอมโพสิตเรซิ่นที่เป็นสีของฟัน (Tooth-colored composite resins) กระเบื้องเคลือบ (Porcelain) ทองคำ (Gold) หรือส่วนผสมของวัสดุต่างๆ อย่างการอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัมเงิน (Silver Amalgam filling)
  • ครอบฟัน (Crowns) เป็นการรักษาเมื่อฟันถูกทำลายมาก โดยทันตแพทย์จะขุดบริเวณที่ผุออก แล้วใส่ครอบฟันที่อาจทำจากทอง กระเบื้องเคลือบ เรซิ่น หรือวัสดุอื่นๆ
  • การรักษารากฟัน (Root canal treatment) หากฟันถูกทำลายถึงบริเวณเนื้อฟัน (Pulp) อาจต้องใช้การรักษารากฟัน เพื่อซ่อมหรือรักษาส่วนที่ถูกทำลายแทนที่จะถอนออก
  • การถอนฟัน (Tooth extractions) – หากฟันถูกทำลายมากจะมีการถอนออก

การป้องกันฟันผุสามารถทำได้โดย

  • แปรงฟัน ด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์หลังการกินหรือการดื่ม อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังอาหารทุกมื้อ กรณีทำความสะอาดระหว่างฟันให้ใช้ไหมขัดฟันหรือเครื่องทำความสะอาดระหว่างฟัน (Interdental cleaner) หากไม่สามารถแปรงฟันได้หลังอาหาร อย่างน้อยให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่า ส่วนกรณีที่ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ในเด็กให้แน่ใจว่ามีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป
  • บ้วนปาก (Rinse) ด้วยฟลูออไรด์ กรณีที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดฟันผุ
  • ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อทำความสะอาดและตรวจสุขภาพช่องปาก
  • เคลือบหลุมร่องฟัน (Dental sealants) ฟันด้านใน เพื่อปิดร่องและรอยแตกที่อาจเป็นแหล่งสะสมอาหาร การป้องกันเคลือบฟันจากคราบแบคทีเรียและกรดด้วยการเคลือบหลุมร่องฟันสามารถอยู่ได้เป็นเวลาถึง 10 ปี จึงค่อยเปลี่ยน และต้องคอยทำการตรวจเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่ายังอยู่ในสภาพดี
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารว่างและการจิบเครื่องดื่มบ่อยๆ (ยกเว้นน้ำเปล่า) จะช่วยลดแบคทีเรียที่สร้างกรดและทำให้ฟันผุได้
  • กินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพฟัน เพราะอาหารและเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น ผักและผลไม้สดจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของน้ำลาย การกินกาแฟ ชา ที่ไม่มีน้ำตาลจะช่วยเรื่องอนุภาคอาหารได้

แหล่งข้อมูล

  1. Cavities/tooth decay. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cavities/basics/definition/con-20030076 [2015, February 25].