ฟันผุ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก (ตอนที่ 3)

ฟันผุ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก

ทุกคนมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุได้ และหากมีปัจจัยดังต่อไปนี้ก็ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น กล่าวคือ

  • ตำแหน่งของฟัน – ฟันผุส่วนใหญ่เกิดในฟันด้านในคือฟันกรามหลัง (Molar) และ ฟันกรามหน้า (Premolar) เพราะฟันเหล่านี้มีร่อง (Grooves) หลุม (Pits) และ ซอก (Crannies) มาก ซึ่งสามารถเป็นแหล่งสะสมอนุภาคของอาหาร (Food particles) นอกจากนี้ยังยากต่อการทำความสะอาดอีก คราบแบคทีเรียจึงเกิดได้ง่าย และเจริญเติบโตอยู่ระหว่างฟันด้านใน ก่อให้เกิดกรดและทำลายเคลือบฟัน
  • อาหารและเครื่องดื่มบางชนิด – อาหารที่ติดแน่นอยู่กับฟันเป็นเวลานาน เช่น นม ไอศกรีม น้ำผึ้ง น้ำตาล โซดา ผลไม้แห้ง เค้ก คุกกี้ ลูกกวาด (Hard candy) ลูกอม (Breath mints) และ มันฝรั่งทอด (Chips) มักจะเป็นสาเหตุให้ฟันผุมากกว่าอาหารที่น้ำลายสามารถทำความสะอาดได้ง่าย
  • การกินอาหารว่าง (Snacking) หรือจิบ (Sipping) โซดาบ่อยๆ - จะทำให้เกิดแบคทีเรียและกรดในปากมากขึ้น
  • การให้เด็กกินนมนอน – พ่อแม่ไม่ควรให้เด็กกินนม น้ำผลไม้ หรือของเหลวอื่นที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในเวลานอน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะติดอยู่ที่ฟันนานนับชั่วโมงระหว่างที่เด็กนอน อันเป็นสาเหตุให้เกิดแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ หรือที่เรียกกันว่า Baby bottle tooth decay
  • การแปรงฟันไม่พอ – หากไม่มีการทำความสะอาดฟันหลังการกินและดื่ม คราบแบคทีเรียจะก่อตัวได้ง่าย
  • ไม่ได้รับฟลูออไรด์ที่พอเพียง – เพราะฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ
  • อายุที่น้อยหรืออายุที่มาก – ส่วนใหญ่ฟันผุจะเกิดในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ ในผู้สูงอายุการใช้ยาบางชนิดอาจมีส่วนทำให้น้ำลายในปากลดลงซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของฟันผุ
  • ปากแห้ง (Dry mouth) – เพราะขาดน้ำลายที่ช่วยทำความสะอาด ล้างอาหารและคราบแบคทีเรียออกจากฟัน การใช้ยาบ้างชนิด การใช้รังสีบำบัดบริเวณศีรษะหรือคอ หรือการให้ยาเคมีบำบัด สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการมีฟันผุจากการขาดน้ำลาย
  • สารอุดฟันหรืออุปกรณ์อุดฟันที่เสื่อมสภาพ - สิ่งที่ใช้อุดฟันเป็นเวลาหลายปีอาจเสื่อมสภาพและแตกหักทำให้เกิดคราบแบคทีเรียได้ง่ายและยากต่อการทำความสะอาด หรืออาจหลวมไม่เข้าที่พอดีทำให้เกิดคราบแบคทีเรียและทำให้เกิดฟันผุด้านล่างได้
  • การกินอาหารที่ผิดปกติ – ภาวะเบื่ออาหาร (Anorexia) และ ภาวะอยากอาหารมากผิดปกติ (Bulimia) สามารถทำให้ฟันผุได้ เพราะกรดจากท้องที่เกิดจากการอาเจียนบ่อยๆ อาจทำลายเคลือบฟัน นอกจากนี้การกินที่ผิดปกติสามารถรบกวนกระบวนการผลิตน้ำลายได้
  • กรดไหลย้อน (Heartburn / Gastroesophageal reflux disease = GERD) – สามารถทำให้เกิดกรดไหลย้อนเข้าสู่ปาก (Reflux) ทำลายเคลือบฟันและเป็นสาเหตุให้ฟันถูกทำลาย

ฟันผุอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ปวดฟัน
  • เป็นฝีที่ปลายรากฟัน (Tooth abscess)
  • เป็นหนอง (Pus) รอบฟัน โดยเฉพาะตอนที่กดลงบนเหงือก
  • ฟันแตก
  • มีปัญหาในการเคี้ยว
  • ตำแหน่งของฟันแท้เคลื่อนเนื่องจากการสูญเสียฟันตอนเป็นเด็ก

แหล่งข้อมูล

  1. Cavities/tooth decay. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cavities/basics/definition/con-20030076 [2015, February 24].