“ฟลูออกซิทีน” อันตรายที่แฝงในอาหารเสริม (ตอนที่ 2)

ฟลูออกซิทีน-อันตรายที่แฝงในอาหารเสริม

บางครั้งอาจมีการใช้ยาฟลูออกซิทีนร่วมกับยา Olanzapine เพื่อรักษาภาวะแมเนีย (Manic depression) ที่เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้นหรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)

ยาฟลูออกซิทีนจะช่วยปรับในเรื่องอารมณ์ (Mood) การนอนหลับ ความอยากอาหาร และระดับพลังงาน ที่จะช่วยฟื้นฟูการใช้ชีวิตประจำวัน ลดความกลัว ความตื่นตระหนก และความคิดที่ไม่ชอบ (Unwanted thoughts) ช่วยลดภาวะย้ำคิดย้ำทำ ความหงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ยังใช้ในการรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน (Anorexia nervosa) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post traumatic stress disorder = PTSD) ภาวะผล็อยหลับ (Cataplexy, Narcolepsy) และลดอาการร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน (Menopause)

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาฟลูออกซิทีน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ดังนี้

  • โรคตับแข็ง (Cirrhosis)
  • โรคไต
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • โรคต้อหินชนิดมุมระบายน้ำโดยรอบโคนม่านตาเป็นแบบมุมแคบ (Narrow angle glaucoma)
  • โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู (Epilepsy)
  • โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar disorder)
  • เคยมีการเสพยาเสพติดหรือมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
  • อยู่ระหว่างการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy = ECT)
  • อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์

ยาฟลูออกซิทีนมีทั้งในรูปของแคปซูล (Capsule) ยาเม็ด (Tablet) และยาน้ำ (Solution) สามารถกินพร้อมอาหารหรือไม่พร้อมก็ได้

ยานี้ใช้ตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งมักจะให้กินวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า หากต้องกินวันละ 2 ครั้ง จะให้กินในตอนเช้าและตอนบ่าย

แต่ถ้าเป็นการกินเพื่อแก้ปัญหากลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder) แพทย์จะให้กินระหว่างมีประจำเดือน หรือกิน 14 วัน ก่อนมีประจำเดือน โดยกินวันละ 1 ครั้ง

กรณีที่ลืมกินยา ให้กินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าใกล้เวลาในการกินครั้งต่อไป ให้ข้ามไปกินครั้งต่อไป ห้ามกินยาเพิ่มเพื่อชดเชยยาที่ลืมกิน

แหล่งข้อมูล:

  1. 1. fluoxetine. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-1774-95/fluoxetine-oral/fluoxetine---oral/details [2017, May 1].
  2. 2. Fluoxetine. https://www.drugs.com/fluoxetine.html [2017, May 1].
  3. 3. Fluoxetine. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a689006.html [2017, May 2].