ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) คือ ยาที่เริ่มแรกถูกนำมาใช้รักษาอาการย้ำคิด ย้ำทำ, จากนั้นจึงนำมาใช้บำบัดรักษาอาการโรค ซึมเศร้า,  วิตกกังวล และ ความเครียด, โดยเป็นยาในกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI/เอสเอสอาร์ไอ) มียาชื่อการค้าในต่างประเทศ เช่นยา Fevarin, Floxyfral,  และรูปแบบยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน

*ยาฟลูวอกซามีน เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองหรือ อยากฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และวัยรุ่น ดังนั้นขณะที่ผู้ป่วยอายุน้อยได้รับยานี้ ผู้ปกครองและคนในครอบครัวจะต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด*

ยาฟลูวอกซามีน จะออกฤทธิ์ในบริเวณสมองของผู้ป่วย โดยทำให้สมดุลของสารสื่อประสาทที่มีชื่อเรียกว่าเซโรโทนิน (Serotonin) มีระดับที่เหมาะสมจึงช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

การใช้ยาฟลูวอกซามีนกับผู้ป่วยนั้น มักจะเริ่มให้รับประทานในขนาดต่ำๆก่อน อาทิ ผู้ใหญ่เริ่มรับประทาน 50 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน, ขณะที่ผู้ป่วยเด็กในช่วงอายุ 8 - 11 ปีให้เริ่มรับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน, จากนั้นแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นจนได้ขนาดรับประทานที่เหมาะสมกับอาการ แต่ไม่เกินขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยด้วยโรคตับ แพทย์จะทำการปรับขนาดการใช้ยาฟลูวอกซามีนให้เหมาะสม โดยต้องดูความสามารถการกำจัดยานี้ออกจากร่างกายของผู้ป่วยมาประกอบกัน

หรือการใช้ยาฟลูวอกซามีนกับสตรีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายพบว่า ยาฟลูวอกซามีนสามารถทำให้เกิดภาวะความดันเลือดในปอดของทารกสูงขึ้น กรณีเช่นนี้หากมีความจำเป็นจริงๆที่ต้องใช้ฟลูวอกซามีนกับสตรีตั้งครรภ์ ควรต้องทำในสถานพยาบาล และมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

โดยมุมมองของแพทย์  การจะใช้ยาฟลูวอกซามีนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานเพียงใดนั้นต้องพิจารณาถึงการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยว่ามีอาการดีขึ้น, หรือผู้ป่วยมีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ขณะใช้ยานี้ในขนาดที่เหมาะสมแล้วหรือไม่, หากอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น หรือ กลับแย่ลงไปกว่าเดิม แพทย์อาจพิจารณาให้หยุดใช้ยานี้และปรับแนวทางการรักษากันใหม่

สำหรับประเทศไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาฟลูวอกซามีนอยู่ในหมวดยาอันตราย, ขนาดการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น, ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง, ญาติควรดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดพร้อมกับเฝ้าสังเกตการพัฒนาของอาการโรค, และสื่อสารให้แพทย์ทราบทุกครั้งที่พาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัดหมาย

ฟลูวอกซามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟลูวอกซามีน

 

ยาฟลูวอกซามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น   

  • บำบัดรักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ
  • บำบัดรักษาอาการซึมเศร้า

ฟลูวอกซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูวอกซามีน คือ ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า เซโรโทนินของปลายประสาทในสมอง ส่งผลให้เกิดสมดุลของเซโรโทนินที่เหมาะสม, ด้วยกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ฟลูวอกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูวอกซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50, 100 และ 150 มิลลิกรัม/เม็ด

ฟลูวอกซามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานของยาฟลูวอกซามีนเฉพาะสำหรับอาการย้ำคิดย้ำทำ ดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 50 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนนอน, แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมในระยะเวลา 4 - 7 วันถัดมา, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 100 - 300 มิลลิกรัม/วัน, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 - 17 ปี: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนนอน, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25 - 300 มิลลิกรัม/วัน, แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานทุก 25 มิลลิกรัมในระยะเวลา 4 - 7 วันถัดมา, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 8 - 11 ปี: เช่น เริ่มต้นรับประทาน 25 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนนอน, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25 - 200 มิลลิกรัม/วัน, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี: เช่น ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สำหรับขนาดรับประทานในเด็ก ถ้าขนาดรับประทานมากกว่า 50 มิลลิกรัม/วัน ควรแบ่งการรับประทานเป็น 2 ครั้ง
  • สามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งก่อน หรือ หลังอาหาร

*****หมายเหตุ:  ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟลูวอกซามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น      

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูวอกซามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟลูวอกซามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาฟลูวอกซามีนตรงเวลา

ฟลูวอกซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูวอกซามีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • สมรรถนะทางเพศถดถอย
  • มีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ปวดหัว
  • นอนไม่หลับ
  • เหนื่อยง่าย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ปวดท้อง
  • เบื่ออาหาร
  • ปากคอแห้ง
  • วิตกกังวล
  • กระสับกระส่าย
  • มีอาการตัวสั่น
  • เหงื่อออกมาก
  • เดินเซ
  • รู้สึกสับสน
  • บางรายอาจพบอาการแพ้ยา
  • อาจเกิดลมชัก
  • อาจมีอาการของตับทำงานผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูวอกซามีนอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาฟลูวอกซามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟลูวอกซามีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับยากลุ่ม เอมเอโอไอ ในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมา
  • ห้ามใช้ฟลูวอกซามีน ร่วมกับยา Alosetron, Pimozide, Ramelteon/ยานอนหลับ, Thiorida zine/ยาจิตเวช และ Tizanidine/ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานเดิม
  • ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคเบาหวาน ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
  • ขณะใช้ยานี้ต้องระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยยานี้อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนจนทำให้การควบคุมร่างกายไม่เหมือนเดิม
  • ยาฟลูวอกซามีนอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากพบอาการนี้ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ผู้ป่วยบางรายเมื่อใช้ยาฟลูวอกซามีน อาจมีอาการปวดในลูกตา กรณีนี้ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของตา
  • การใช้ยาฟลูวอกซามีนในเด็ก อาจทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป จึงควรควบคุมกำกับดูแลเรื่องการเจริญเติบโตของเด็กที่ใช้ยานี้ควบคู่กันไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูวอกซามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูวอกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูวอกซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาฟลูวอกซามีน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยานี้มากยิ่งขึ้น
  • การรับประทานยาฟลูวอกซามีน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มี Caffeine/คาเฟอีน เช่น กาแฟ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงของ Caffeine ได้มากยิ่งขึ้นเช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
  • การใช้ยาฟลูวอกซามีน ร่วมกับยา Phenylpropanolamine อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก Phenylpropanolamine ได้มากยิ่งขึ้นอาทิ มีอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย และยังเสี่ยงกับการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) อีกด้วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาฟลูวอกซามีน ร่วมกับยา 5-Hydroxytryptophan ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนินได้ง่าย

ควรเก็บรักษาฟลูวอกซามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูวอกซามีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูวอกซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูวอกซามีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Faverin (ฟาเวอริน) Abbott
Fluvoxin (ฟลูโวซิน) Sun Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Fluvoxamine   [2023,Feb25]
  2. https://www.drugs.com/mtm/fluvoxamine.html   [2023,Feb25]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/fluvoxamine?mtype=generic   [2023,Feb25]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Faverin/?type=BRIEF   [2023,Feb25]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/fluvoxamine-index.html?filter=3&generic_only=  [2023,Feb25]