พิษจากสารตะกั่ว ตื่นตัวทั่วระยอง (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

นายแพทย์ กฤษณ์ ปาลสุทธิ์ สาธารณสุขจังหวัดระยองกล่าว ผลการตรวจนักเรียนที่เคยมีค่าสารตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐาน 82 รายล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 พบว่า ยังเหลือนักเรียนที่มีค่าสารตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่อีก 40 ราย แต่ไม่มีนักเรียนที่มีค่าสารตะกั่วสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานระดับจำนวนมาก มีเกินเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย 34 ราย และระดับปานกลาง 6 ราย

สาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับสารตะกั่วออกจากร่างกาย และได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่บ้านของนักเรียนกลุ่มนี้เพิ่มอีก จึงพบว่า บางรายผู้ปกครองได้ทาสีเขาควายที่บ้าน บางรายยังนำหม้อเก่ามาปะอุดรอยรั่วใช้ต่อ ซึ่งอาจมีตะกั่วปนเปื้อนได้ จึงได้แนะนำให้เลิกใช้เพื่อความปลอดภัย

ตะกั่วเป็นโลหะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนเปลือกโลก แต่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ อาทิ การทำเหมืองแร่ การเผาไหม้เชื้อเพลิง และการผลิตสินค้าในโรงงาน ได้ทำให้ธาตุนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก ตะกั่วเคยเป็นส่วนประกอบสำคัญของสีทาบ้านและน้ำมันเบ็นซินหลายทศวรรษ แต่ยังคงใช้ในปัจจุบัน ในแบตเตอรี่ การบัดกรี ท่อประปา เครื่องเคลือบดินเผา วัสดุทำหลังคา และเครื่องสำอางบางชนิด

ศูนย์การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) สหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ทดสอบพิษจากสารตะกั่ว ในเด็กเล็กระหว่าง 1 ถึง 2 ขวบ และในเด็กที่โตขึ้น ระหว่าง 3 ถึง 6 ขวบ ถ้าเด็กยังไม่เคยได้รับการทดสอบมาก่อน อาศัยอยู่ในบ้านเก่าแก่ หรือมีเพื่อนหรือพี่น้องที่เคยได้รับพิษจากสารตะกั่วก่อนหน้านี้

แพทย์มักใช้ตัวอย่างเลือดในการค้นหาพิษจากสารตะกั่ว โดยการเจาะเลือดจากนิ้วมือ (Finger prick) หรือ ใช้กระบอกสูบดูดจากหลอดเลือดดำ (Vein) ระดับสารตะกั่วในเลือดมักวัดกันเป็นจำนวนไมโครกรัมต่อ 1 เดซิลิตร (mcg/dL) ระดับที่ถือว่าไม่ปลอดภัย คือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร หรือสูงกว่า

การทดสอบสารตะกั่วในเลือด ผ่านห้องปฏิบัติการ (Laboratory) โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงสูง สามารถช่วยค้นหาว่ามีปัญหาหรือไม่ การมีปริมาณสารตะกั่วระหว่าง 2 ถึง 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ถ้าเกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นระดับที่น่ากังวล

การทดสอบอื่นๆ ได้แก่ การตรวจไขกระดูก (Bone marrow biopsy) การนับเม็ดเลือดซีบีซี (Complete blood count : CBC) การตรวจเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte) การดูภาวะการแข็งตัวของเลือด (Coagulation) การวัดระดับธาตุเหล็ก (Iron) รวมทั้งการถ่ายเอกซเรย์ของกระดูกแขน ขา (Long bones) และของช่องท้อง (Abdomen)

การป้องกันที่ดีที่สุด ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ คือการหลีกเลี่ยงโอกาสใกล้ชิดสิ่งแวดล้อมของสารตะกั่ว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานใกล้ชิด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ก็ต้องรู้จักสวมอุปกรณ์ป้องกัน (Protective equipment) หรือเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายและสระผม ก่อนออกจากสิ่งแวดล้อมนั้น โดยต้องไม่ซักเสื้อผ้าดังกล่าว ร่วมกับเสื้อผ้าอื่นๆ [ซึ่งจะเป็นการแพร่กระจายสารตะกั่วที่มองไม่เห็น]

แหล่งข้อมูล:

  1. “วิทยา” สั่ง สสจ. ระยองหาต้นตน นร. 82 ราย พบตะกั่วในเลือดสูง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105915&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 7].
  2. Lead. http://www.epa.gov/lead/pubs/learn-about-lead.html [2012, September 7].
  3. Lead poisoning. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002473.htm [2012, September 7].