พิษจากสารตะกั่ว ตื่นตัวทั่วระยอง (ตอนที่ 5)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ เก็บตัวอย่างน้ำคลอง น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และตรวจคุณภาพอากาศเพื่อดูการปนเปื้อนของตะกั่ว โดยได้ทำการตรวจสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ภาชนะใส่อาหารในโรงครัว น้ำดื่ม ตรวจเลือดครูและผู้ปกครอง

นอกจากนี้ ยังตรวจสิ่งแวดล้อมที่บ้าน แม้ไม่พบค่าตะกั่วเกินมาตรฐาน ก็ได้ให้คำแนะนำ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะที่มีความเสี่ยงอาจมีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ เช่น เครื่องกรองน้ำที่มีรอยบัดกรี เตาปิ้งใส้กรอกที่เป็นเหล็ก หม้อหุงข้าวมือสองที่มีรอยอุดรูรั่ว เป็นต้น

ครูและผู้ปกครองที่เป็นผู้ใหญ่ ที่มีโอกาอาจได้รับพิษจากการสูดดมฝุ่นตะกั่วเช่นกัน โดยเฉพาะขณะทำงานปรับปรุงพื้นผิวที่ทาสีผสมตะกั่วในบ้านเก่าแก่ ซ่อมแซมรถยนต์ในโรงเก็บรถ ทำงานกับแบตเตอรี่ เอามือจับถูกวัตถุที่ปกคลุมด้วยฝุ่นตะกั่วแล้วเข้าปาก กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยตะกั่ว สูดอากาศที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน ตลอดจนงานอดิเรกที่ใช้ตะกั่ว อาทิ การแต้มสีแก้ว

ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูง มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว แต่สามารถรักษาฟื้นฟูได้แม้จะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี ในกรณีเรื้อรัง (Chronic) เว้นแต่ว่า สมองถูกทำลาย (Brain damage) อย่างถาวร ผู้ที่รอดพ้นจากพิษสารตะกั่วในปริมาณสูง ก็อาจมีความเสี่ยงต่อเนื่องเป็นปัญหาระยะยาว

การค้นหาอาการอาจทำได้ยาก เพราะ อาจไม่มีสัญญาณให้มองเห็นได้ชัด จนกระทั่งร่างกายได้สะสมปริมาณของสารตะกั่ว จนถึงระดับอันตราย อาการอาจเริ่มที่ปวดศีรษะ ปวดท้อง (Abdominal pain) ปวดเสียว (Tingle) หรือชา (Numbness) ที่แขนขา และความคิดอ่านไม่แล่น (Declines in mental functioning)

ปัญหาในผู้ใหญ่ ยังรวมถึงการหย่อนสมรรถภาพในเรื่องการมองเห็น การได้ยิน การสืบพันธุ์ (ทั้งหญิงและชาย) นอกเหนือจากความดันโลหิตสูง (Hypertension) ความผิดปรกติของประสาท (Nerve disorder) ความจำและสมาธิเสื่อม การไม่ประสาน (Coordination) ของกล้ามเนื้อ และข้อต่อ จนเกิดความเจ็บปวด

ในการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถลดความเสี่ยงจากพิษสารตะกั่วด้วยการใช้เพียงน้ำเย็นในการเตรียมอาหาร หมั่นทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำ ขจัดเศษขยะ (Debris) บริเวณไส้กรองทางน้ำไหลออก (Outlet screen) และเครื่องอัดลมเข้าไปในน้ำ (Aerator) เช็ดถูสีทาบ้านที่หลุดลอก (Paint chip) ด้วยฟองน้ำหรือผ้าขี้ริ้วที่เปียก รวมทั้งบริเวณที่เสียดสีกันและที่เกิดฝุ่นได้ อาทิ ประตู หน้าต่าง และลิ้นชัก สอนเด็กให้รู้จักการล้างมือหลังการเล่นนอกบ้าน และถอดรองเท้าแ ล้างมือของเด็กพร้อมขวด นมที่ดูดนม (Pacifier) และของเล่นเด็ก

ข้อสำคัญต้องรับประทานอาหารที่สมดุล (Well-balanced meals) สารตะกั่วสามารถแทรกแซงการทำงานของร่างกาย แต่ร่างกายของเราไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสารตะกั่วกับแคลเซี่ยม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สร้างความแข็งแกร่งให้กระดูก เด็กที่รับประทานอาหารที่เสริมสร้างสุขภาพ จะดูดซึมสารตะกั่วได้น้อยลง

แหล่งข้อมูล:

  1. “วิทยา” สั่ง สสจ. ระยองหาต้นตน นร. 82 ราย พบตะกั่วในเลือดสูง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105915&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 5].
  2. Lead. http://www.epa.gov/lead/pubs/learn-about-lead.html [2012, September 5].
  3. Lead poisoning. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002473.htm [2012, September 5].