พิษจากสารตะกั่ว ตื่นตัวทั่วระยอง (ตอนที่ 4)

นายแพทย์ กฤษณ์ ปาลสุทธิ์ สาธารณสุขจังหวัดระยองกล่าวถึงเด็ก 2 รายที่มีค่าตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร กว่า 4 เท่าตัวว่า ขณะนี้ระดับลดลงแล้ว โดยที่รายแรกสูง 48.33 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ได้ติดตามตรวจอีก 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ 18 พฤษภาคม 2555 ลดลงเหลือ 17.89 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร โดยพบมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติเล็กน้อย

ส่วนรายที่ 2 พบค่าตะกั่ว 48.98 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ล่าสุด ลดเหลือ 19.17 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร โดยไม่มีภาวะซีด การทำงานของไตปรกติ ระดับไอคิวปกติ และกระดูกปรกติ ซึ่งระดับตะกั่วในเลือดดังกล่าวร่างกายจะสามารถกำจัดออกได้เองทางปัสสาวะเองตามธรรมชาติ

จังหวัดที่มีในโรงงานอุตสาหกรรมเช่นระยอง มีการใช้ตะกั่วในการผลิตแบตเตอรี่ กระสุน ผลิตภัณฑ์เคลือบดินเผา (Ceramic) หรือโลหะที่มีการบัดกรี และเครื่องมือป้องกันเอกซเรย์ ตะกั่วเป็นธาตุที่เกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ เหมืองแร่ เตาหลอม และกลั่นน้ำมัน ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของระดับสารตะกั่ว ในสิ่งแวดล้อม

สตรีมีครรภ์อาจได้รับพิษสารตะกั่ว หากใช้เวลาอยู่ในบริเวณ ที่สีทาผสมตะกั่ว กำลังเสื่อมสภาพกลายเป็นฝุ่นตะกั่ว แล้วเธอสูดดมเข้าไป การรับประทานอาหารและดื่มน้ำจากถ้วยแก้วที่มีตะกั่วในน้ำ หรือใช้วิธีการชาวบ้านในการเติมสารตะกั่วในน้ำ [เพื่อรักษาโรค] สามารถนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงขึ้น

สารตะกั่วสามารถสะสมในร่างกายเป็นเวลายาวนาน ซึ่งส่วนที่จะสะสมอาจเป็นกระดูกพร้อมแคลเซี่ยม ระหว่างการตั้งครรภ์ สารตะกั่วจะถูกปลดปล่อยออกจากกระดูก ในขณะที่แคลเซี่ยมจะใช้ช่วยก่อรูปร่าง (Form) กระดูกของทารกในครรภ์ (Fetus) โดยเฉพาะในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์นั้น ไม่ได้รับแคลเซี่ยมจากอาหารเพียงพอ

สารตะกั่วอาจได้มาจากกระแสเลือดของมารดา ผ่านสายรก (Placenta) ไปสู่ทารกในครรภ์ มารดาที่มีสารตะกั่วระดับสูงในร่างกายอาจมีความเสี่ยงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ อาทิ การแท้งลูก (Miscarriages) การคลอดก่อนกำหนด (Premature birth) หรือน้ำหนักน้อยหลังคลอด สมองถูกทำลาย (Brain damage) สติปัญญาต่ำ และมีปัญหาการเรียนรู้

ในเด็ก แม้ได้รับพิษจากตะกั่วเพียงเล็กน้อย ก็อาจมีผลกระทบอย่างถาวรต่อสมาธิ และระดับสติปัญญา เพราะประสาทและกล้ามเนื้อที่ได้รับผลกระทบไม่อาจทำงาน (Function) ต่อไปตามปรกติ ส่วนระบบอื่นๆ ของร่างกาย อาจได้รับอันตรายแล้วแต่ความรุนแรง อาทิ ไต (Kidney) และหลอดเลือด (Blood vessel)

สำหรับเด็กที่มีระดับสารตะกั่วค่อนข้างสูง จะต้องค้นหาแหล่งความเสี่ยงจากสารตะกั่ว แล้วมิให้เด็กเข้าใกล้ อาจจำเป็นต้องติดตามผลตรวจเลือดเพิ่มเติม ในกรณีที่กินกลืนสารตะกั่วในปริมาณสูงในระยะเวลาสั้น อาจรักษาด้วยวิธีการ ล้างลำไส้ (Bowel irrigation) ด้วยสารละลายโพลิเอธิลีน ไกลโคล (Polyethylene glycol) หรือการล้างท้อง (Gastric lavage)

การบำบัด ใช้วิธีการที่เรียกว่า “Chelation Therapy” โดยที่ผู้ป่วยจะกินยาที่ไปจับมัด (Bind) [หรือรวมตัวกับ] สารตะกั่วในร่างกาย เพื่อให้ขับถ่ายออกจากร่างกายผ่านปัสสาวะ เป็นหัตถการที่กำจัดสารตะกั่วในปริมาณสูง ซึ่งได้สะสมในร่างกายเป็นระยะเวลายาวนานเป็นเดือนหรือเป็นปี

แหล่งข้อมูล:

  1. “วิทยา” สั่ง สสจ. ระยองหาต้นตน นร. 82 ราย พบตะกั่วในเลือดสูง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105915&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 5].
  2. Lead. http://www.epa.gov/lead/pubs/learn-about-lead.html [2012, September 5].
  3. Lead poisoning. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002473.htm [2012, September 5].