พิษจากสารตะกั่ว ตื่นตัวทั่วระยอง (ตอนที่ 3)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การตรวจพบโลหะหนักในเลือดนักเรียนที่จังหวัดระยอง เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ได้สั่งการให้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ลงไปตรวจสอบ ให้คำแนะนำเพื่อการป้องกัน ในโรงเรียน และที่บ้าน โดยเฉพาะเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ รวมทั้งภาชนะใส่อาหารที่อาจมีสารตะกั่ว และให้ติดตามดูแลสุขภาพของนักเรียนทั้งจังหวัดระยอง รายใดที่มีความผิดปกติรีบรักษาให้เป็นปกติ เนื่องจากฤทธิ์ของตะกั่วจะมีผลในการทำลายระบบประสาท สมอง เม็ดเลือด และกระดูก

พิษจากสารตะกั่ว อาจแสดงอาการได้หลายอย่าง สารตะกั่วมีผลกระทบต่อหลายส่วนของร่างกาย โดยร่างกายที่มักค่อยๆ สะสมสารตะกั่วเป็นระยะเวลายาวนาน จึงอาจไม่แสดงอาการเด่นชัดในระยะแรก จนกระทั่งระดับสารตะกั่วเริ่มสูงถึงระดับที่เริ่มเป็นอันตรายต่อการพัฒนาด้านจิตใจ (Mental development) ของทารกและเด็กเล็ก

ปัญหาสุขภาพจะเริ่มเลวร้ายลง เมื่อสารตะกั่วในเลือดมีปริมาณสูงขึ้น จนเป็นสาเหตุอาการฉุกเฉินที่ร้ายแรง (Severe emergency symptoms) สารตะกั่วมีอันตรายต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะผลกระทบต่อการพัฒนาประสาทและสมอง เด็กยิ่งเล็ก ความเสี่ยงจากสารตะกั่วยิ่งสูง โดยเฉพาะทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ จะมีความเสี่ยงสูงสุด

อาการของพิษจากสารตะกั่ว ได้แก่ การปวดท้อง (Abdominal pain) เป็นตะคริว (Cramping) ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของปริมาณพิษ (Toxic dose) ในระดับสูง พฤติกรรมที่ก้าวร้าว (Aggressive behavior) โลหิตจาง (Anemia) ท้องผูก (Constipation) การนอนไม่หลับ (Insomnia) และปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย (Irritability) สูญเสียทักษะที่เคยพัฒนาได้ เบื่ออาหาร ไม่กระฉับกระเฉง และความรู้สึกสัมผัส (Sensation) ลดลง

ภาวะแทรกซ้อน (Complications) อาจรวมถึงปัญหาสมาธิ (Attention) ความล้มเหลวในการเรียน ปัญหาการได้ยิน ไตถูกทำลาย (Kidney damage) ระดับสติปัญญา (Intelligence Quotient : IQ) ลดลง การเจริญเติบโตของร่างกายที่ช้าลง สารตะกั่วในปริมาณสูงอาจเป็นสาเหตุให้อาเจียน (Vomit) และเดินส่ายโซเซ (Stagger) กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชัก (Seizures) หรือหมดสติ (Coma)

การดูแลที่บ้าน เราสามารถลดความเสี่ยงของสารตะกั่ว ด้วยการรักษาบ้านให้ปราศจากฝุ่นผงเท่าที่จะเป็นไปได้ ให้ทุกคนล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ทิ้งของเล่นเด็กรุ่นเก่าที่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสารตะกั่วหรือไม่ ปล่อยให้น้ำไหล 1 นาทีก่อนดื่มหรือนำไปประกอบอาหาร รวมทั้งติดตั้งเครื่องกรองหรือเปลี่ยนไปใช้น้ำขวดสำหรับการดื่มหรือปรุงอาหาร

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารกระป๋องที่ไม่แน่ใจว่ามีว่ามีการบัดกรีด้วยตะกั่วหรือไม่ สำหรับขวดเครื่องดื่มที่ห่อด้วยฟอยล์ตะกั่ว ต้องเช็ดขอบและคอขวดด้วยผ้าที่ชุบน้ำมะนาวก่อนใช้ และระมัดระวังเหล้าหรือน้ำสลัดที่ผสมน้ำส้มสายชู (Vinegar) บรรจุในขวดแก้วตะกั่วเพื่อเก็บรักษาให้ยาวนาน เพราะสารตะกั่วอาจไหลเข้าไปปนกับน้ำสลัด ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องนำส่งโรงพยาบาล ควรต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย อาทิ อายุ น้ำหนัก และสภาวะ (Condition) ชื่อของวัตถุที่คิดว่าอาจมีสารตะกั่ว วันเวลาที่มีการกลืนวัตถุดังกล่าว หรือหายใจเอาสารตะกั่วเข้าร่างกายได้ และปริมาณที่เข้าสู่ร่างกายเท่าที่ทราบ

แหล่งข้อมูล:

  1. “วิทยา” สั่ง สสจ. ระยองหาต้นตน นร. 82 ราย พบตะกั่วในเลือดสูง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105915&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 4].
  2. Lead poisoning. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002473.htm [2012, September 4].