พิษจากสารตะกั่ว ตื่นตัวทั่วระยอง (ตอนที่ 2)

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุ่มตรวจร่างกายนักเรียน 5 โรงเรียน ใน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ตามโครงการศึกษาผลกระทบจากการสัมผัสมลพิษต่อสุขภาพประชาชน [เนื่องจากระยองเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก] ผลปรากฎว่า นักเรียนดังกล่าวมีสารโลหะหนักปนเปื้อนในเลือดหลายราย โดยที่ปริมาณมากที่สุดนั้น พบที่โรงเรียนวัดปทุมาวาส จำนวนนักเรียน 34 ราย

มนุษย์ได้ทำเหมืองแร่และใช้สารโลหะหนักนี้ มาเป็นเวลาหลายๆ พันปีแล้ว ในขณะเดียวกันก็รับรู้พิษจากกระบวนการแปรแร่ดังกล่าว แต่มิได้มีความเข้าใจจนกระทั่งครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ว่า ปริมาณสารตะกั่ว [ซึ่งเป็นสารโลหะหนัก] เพียงเล็กน้อย ก็เป็นอันตรายแก่ร่างกายของผู้ประกอบอาชีพ [เหมืองแร่] และสิ่งแวดล้อมได้

ตะกั่วเป็นสารพิษที่รุนแรง เมื่อคนกลืนวัตถุที่ทำด้วยตะกั่ว หรือหายใจเอาฝุ่นตะกั่ว (Lead dust) เข้าไป บางส่วนจะอยู่ในร่างกาย และเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ในอดีตตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำมันเบ็นซิน และสีทาบ้าน (Lead paint) ซึ่งได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อร่างกายเด็ก โดยเฉพาะในบ้านเก่าแก่

การป้องกันภัยดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกา มีตั้งแต่ความพยายามส่วนตัวในการย้ายท่อประปาหรือมู่ลี่ที่มีสารตะกั่ว ออกจากตัวบ้าน ไปจนถึงนโยบายระดับชาติที่ออกกฎหมาย ห้ามการมีตะกั่วในสินค้าเด็กเล่น หรือลดระดับอันตรายของตะกั่วในสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำและดิน

แม้ว่าน้ำมันเบ็นซินและสีทาบ้าน ไม่ได้ผสมสารตะกั่วอีกต่อไป แต่สารตะกั่วก็ยังปรากฎไปทั่ว (เพียงแต่เราไม่สามารถมองเห็น ชิม หรือดม) รวมทั้งฝุ่นตะกั่วที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ของเล่นเด็ก เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งประดับบ้าน (Decorations) ที่ผลิตนอกสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ สารตะกั่วยังอยู่ในกระสุนปืน สิ่งถ่วงน้ำหนักในการตกปลา (Fishing sinker) ฐานม่าน (Curtain weights) ท่อประปา และก๊อกน้ำ จึงเป็นอันตรายต่อการดื่มน้ำจากน้ำก๊อกในบ้านแบบเก่าที่ยังมีท่อประปาเชื่อมต่อ [บัดกรี (Solder)] ด้วยตะกั่วอยู่ แต่ในปัจจุบัน มีกฎหมาย [โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา] บังคับไม่ให้มีการบัดกรีด้วยตะกั่วอีกต่อไป

ในสิ่งแวดล้อม ดิน (โดยที่อยู่ใกล้บ้าน หรือใต้ทางด่วน) ได้รับการปนเปื้อนเป็นเวลาหลายทศวรรษ จากท่อไอเสียของรถยนต์ (Car exhaust) สีบ้านที่ถูกขูดออก (House paint scrapings) [เพื่อทาสีใหม่] งานอดิเรกที่เกี่ยวข้องกับการบัดกรี การแต้มสีบนถ้วยแก้ว การผลิตอัญมณี การเคลือบสีถ้วยชาม (Pottery glazing) และสิ่งของขนาดจิ๋ว (Miniature)

นอกจากนี้ยังมีอยู่ในชุดระบายสี (Paint set) และวัสดุสำหรับงานศิลปะ เครื่องเงิน (Pewter) ลักษณะเหยือกน้ำ(Pitcher) และชุดรับประทานอาหาร (Dinnerware) ตลอดจนแบตเตอรี่เก็บสำรองไฟฟ้า

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือทารกและเด็กเล็ก ซึ่งสามารถรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย เมื่อนำวัตถุที่มีสารตะกั่วเข้าปาก โดยเฉพาะเมื่อมีการกลืนวัตถุดังกล่าว นอกจากนี้ยังอาจรับพิษสารตะกั่วบนนิ้วมือ เมื่อมีการสัมผัสฝุ่นหรือวัตถุที่เคลือบด้วยตะกั่วแล้วหลุดลอก แล้วก็อาจนำนิ้วมือเข้าปากหรือรับประทานอาหารหลังจากนั้น แม้ทารกและเด็กเล็กอาจหายใจเอาสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจเป็นเอันตรายต่อสุขภาพได้

แหล่งข้อมูล:

  1. “วิทยา” สั่ง สสจ. ระยองหาต้นตน นร. 82 ราย พบตะกั่วในเลือดสูง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000105915&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, September 3].
  2. Lead poisoning. http://en.wikipedia.org/wiki/Lead_poisoning [2012, September 3].
  3. Lead poisoning. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002473.htm [2012, September 3].