พิษของฉี่ (ตอนที่ 1)

พิษของฉี่-1

แน่นอนว่าหลายๆ คนที่เคยไปใช้บริการสระว่ายน้ำ คงจะต้องแอบปล่อยปัสสาวะลงสู่สระบ้างไม่มากก็น้อย เพราะยังมีความเชื่อที่ว่า สระว่ายน้ำคงปลอดภัยและสะอาดน่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแน่ๆ แต่หากให้ลงลึกถึงในรายละเอียด รู้หรือไม่ว่า การกระทำดังกล่าวนั้น นอกจากผิดแล้ว อาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคที่ตามมาอีกด้วย

ผลการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ในมลรัฐอินดีแอนาของสหรัฐฯ ที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 12 มีนาคม 2560 ระบุว่า การปัสสาวะในสระว่ายน้ำจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้ที่แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำดังกล่าว

เนื่องจากกรดยูริกภายในสารยูรีนจากปัสสาวะของมนุษย์จะเข้าไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารคลอรีนในสระว่ายน้ำ และก่อให้เกิดสารเคมีชนิดใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา

โดยสารเคมีชนิดใหม่นี้มีชื่อว่า “ไซยาโนเจน คลอไรด์” ซึ่งเป็นสารพิษในตระกูลเดียวกันกับ “ไซยาไนด์” ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมที่ใช้ในการสังเคราะห์สารอินทรีย์ แก๊สพิษในทางการทหาร อนุพันธ์เบนซิน รวมไปถึงเป็นส่วนประกอบในแก๊สรมฆ่าแมลง

หากใครก็ตามได้สัมผัสสารดังกล่าวผ่านทางระบบหายใจ (เข้าปากหรือจมูก) หรือผ่านทางผิวหนังต่างๆ (เข้าทางตา) อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองทั้งตา จมูก และระบบทางเดินหายใจ

ขณะเดียวกัน อาจจะก่อให้เกิดอาการชีพจรเต้นเร็ว หายใจ หรือเร็วกว่าผิดปกติ (ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่ร่างกายรับเข้าไป) อ่อนแรง ปวดศีรษะ มึนงง สับสน คลื่นไส้ และอาเจียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครที่ใช้บริการสระว่ายน้ำที่มีสารดังกล่าวเป็นประจำนั้น อาจจะมีอาการเรื้อรัง เช่น เยื่อบุตาอักเสบ หนังตาบวม ไปจนถึงเสียงแหบได้

จากผลการศึกษาล่าสุดพบว่า สระว่ายน้ำที่มีระดับความเข้มข้นของกรดยูริกปัสสาวะในระดับตั้งแต่ร้อยละ 24-68 จะพบการก่อตัวของสารไซยาโนเจน คลอไรด์เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้สระว่ายน้ำดังกล่าว ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักว่ายน้ำมือสมัครเล่นทั่วไป หรือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การว่ายน้ำอย่างโชกโชน อย่างพวก “ไลฟ์การ์ด”

ซึ่งก่อนหน้านี้มีผลการสำรวจความคิดเห็นในสหรัฐฯ ที่พบว่า ราวร้อยละ 19 ของผู้ใหญ่ที่ใช้บริการ “สระว่ายน้ำสาธารณะ” ในเมืองลุงแซม ยอมรับว่าพวกตน “ฉี่” ขณะอยู่ในสระเป็นประจำ และมักปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้งต่อการใช้บริการแต่ละครั้ง

ไซยาโนเจน คลอไรด์ (Cyanogen chloride = CK) เป็นสารพิษไม่มีสี ระเหยเป็นไอได้อย่างรวดเร็ว (Volatile) เป็น 1 ใน 2 สารพิษในตระกูลเดียวกันกับ “ไซยาไนด์” ที่ใช้ในสงครามเคมีของทหาร (อีก 1 ตัว คือ Hydrogen cyanide = AC)

ไซยาโนเจน คลอไรด์ จะปล่อยโมเลกุลของไซยาไนด์เข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปทั่วเนื้อเยื่อ ขัดขวางการดูดซึมของออกซิเจน สามารถทำลายอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนมากที่สุด เช่น สมอง หัวใจ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. รู้แล้วต้องเลิก "ฉี่ในสระว่ายน้ำ" ก่ออันตรายกว่าที่คิด. http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9600000080879 [2017, August 24].
  2. ผลวิจัยชี้ “ฉี่ในสระน้ำ” สุดอันตราย อาจสร้างสารพิษตระกูล “ไซยาไนด์” ให้เพื่อนร่วมสระโดยไม่รู้ตัว. http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000028604&Html=1&TabID=1& [2017, August 24].
  3. Cyanogen Chloride Poisoning. http://misc.medscape.com/pi/iphone/medscapeapp/html/A832939-business.html [2017, August 24].
  4. CYANOGEN CHLORIDE (CK) : Systemic Agent. https://www.cdc.gov/niosh/ershdb/emergencyresponsecard_29750039.html [2017, August 24].