พิทาวาสแตติน (Pitavastatin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพิทาวาสแตติน(Pitavastatin) เป็นยาในกลุ่มสแตติน(Statin) ถูกพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น ทางคลินิกใช้เป็นยาลดไขมันคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยมีกลไกยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า HMG – CoA reductase(3-hydroxy-3-methyl-glutaryl-coenzyme A reductase,เอนไซม์ช่วยสร้างคอเลสเตอรอล)ที่ ตับ ทำให้ชะลอการสร้างคอเลสเตอรอลของร่างกาย และมีหลักฐานทางการศึกษายืนยันว่ายาพิทาวาสแตตินยังช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดที่ดีในเลือด อย่างเอชดีแอล(HDL cholesterol) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีระดับเอชดีแอลต่ำกว่า40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาพิทาวาสแตติน จะเป็นยารับประทาน หลังจากตัวยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดถึง 99% จากนั้นจะมีการลำเลียงยาพิทาวาสแตตินไปทำลายที่ตับ ซึ่ง ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระเสียส่วนใหญ่และบางส่วนไปกับปัสสาวะ

สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับ ถือเป็นข้อจำกัดของการใช้ยาพิทาวาสแตติน รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ก็อยู่ในขอบข่ายห้ามใช้ยานี้หากไม่มีคำสั่งจากแพทย์

สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นนอกเหนือจากโรคตับ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตต่ำ มีประวัติเป็นลมชัก อยู่ในภาวะติดเชื้อขั้นรุนแรง เป็นผู้ที่ติดสุรา แพทย์จะใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการพิจารณาสั่งจ่ายยาพิทาวาสแตติน ด้วยตัวยาสามารถส่งผลกระทบทำให้อาการโรคเกิดความรุนแรงขึ้นได้

ยาพิทาวาสแตตินยังสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ได้กับยาต่างๆหลายรายการ เช่น Colchicine, Cyclosporine, Daptomycin, Erythromycin, Fenofibrate, Gemfibrozil, Niacin, Rifampin, ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเสมอว่าตนเองมีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อน

ทั้งนี้ เมื่อได้รับยาพิทาวาสแตติน ผู้ป่วยควรต้องรับประทานยาต่อเนื่องตรงตามคำสั่งแพทย์ การรับประทานยาในเวลาเดียวกันของแต่ละวันจะทำให้ระดับยาในกระแสเลือดมีความเข้มข้นอย่างสม่ำเสมอ และส่งผลต่อประสิทธิภาพของการลดไขมันในเลือดได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง ซึ่งการใช้ยานี้ผิดขนาด อาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติที่จะเกิดต่อร่างกายได้ เช่น เกิดความผิดปกติต่อตับโดยสังเกตได้จากมีอาการปัสสาวะมีสีคล้ำ อุจจาระมีสีซีด อาเจียนอย่างรุนแรง เบื่ออาหาร ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลียมาก เป็นต้น

บางกรณีพิทาวาสแตตินอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ โดยสังเกตจากมีอาการปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรต้องรีบด่วนมาพบแพทย์ทันที/ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเมื่อใช้ยาพิทาวาสแตติน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ดังนั้นการตรวจสอบระดับน้ำตาลด้วยตนเองขณะอยู่ในที่พักอาศัยตามแพทย์ เภสัชกรแนะนำ จะเป็นตัวช่วยและเฝ้าระวังความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดดังกล่าว

สำหรับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อื่นๆที่อาจพบเห็นได้เมื่อใช้ยาพิทาวาสแตติน เช่น เกิดอาการปวดหลัง รวมถึงเกิดภาวะท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสียตามมา หรืออาจจะไม่พบอาการข้างเคียงอย่างใดเลยก็เป็นได้

เราสามารถพบเห็นการจำหน่ายยานี้ได้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Livalo และยานี้มีขนาดความแรงที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้ขนาดความแรงที่เหมาะสมกับผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

พิทาวาสแตตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พิทาวาสแตติน

ยาพิทาวาสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง เช่นไขมัน แอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
  • ช่วยเพิ่มระดับไขมันดีหรือเอชดีแอล (HDL)ในเลือด

พิทาวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพิทาวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อเรียกว่า HMG – CoA reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ในตับ ที่ทำให้เกิดการชะลอการสร้างคอเลสเตอรอล ด้วยกลไกดังกล่าว ทำให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ในกระแสเลือดลดลง

พิทาวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพิทาวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด1, 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด

พิทาวาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาพิทาวาสแตตินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 2 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานสูงสุดเป็น 4 มิลลิกรัม/วัน และสามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การปรับขนาดรับประทานจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ โดยแพทย์จะนำระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
  • ผู้ป่วยโรคไตในระดับความรุนแรงกลางถึงรุนแรงมาก อาจใช้ขนาดรับประทานที่ 1 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/วัน
  • กรณีผู้ป่วยมีการใช้ยา Erythromycin แพทย์มักใช้ขนาดรับประทานของยา พิทาวาสแตตินสูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/วัน
  • กรณีที่ใช้ยา Rifampin ขนาดรับประทานสูงสุดของพิทาวาสแตติน ไม่ควรเกิน 2 มิลลิกรัม/วัน
  • ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องคอยควบคุมตรวจเลือดูการทำงานของ ตับ กล้ามเนื้อ และดูระดับไขมันในเลือดเป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพิทาวาสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพิทาวาสแตติน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร พราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาพิทาวาสแตติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาพิทาวาสแตติน ตรงเวลา

พิทาวาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพิทาวาสแตตินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ กล้ามเนื้อลายสลาย ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบินในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดผิดปกติ ตับอักเสบ ดีซ่าน ตับวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน เกิดลมพิษ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ความจำแย่ลง
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจตอนบน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย

มีข้อควรระวังการใช้พิทาวาสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพิทาวาสแตติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคเบาหวาน โรคไต โรคกล้ามเนื้อ โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยควรควบคุมอาหาร มีการออกกำลังกาย และพักผ่อน อย่างเหมาะสมร่วมกับ การใช้ยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์ เพื่อทำให้ระดับไขมันในเลือดกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น
  • เรียนรู้ถึงผลข้างเคียงต่างๆขอยานี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ผลข้างเคียงที่กระทบกับการทำงานของ ตับ และของกล้ามเนื้อ เพื่อรีบมาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมาย เพื่อรับการตรวจระดับไขมันในเลือดทุกครั้ง

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิทาวาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พิทาวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพิทาวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาพิทาวาสแตตินร่วมกับยา Gemfibrozil, Fenofibrate อาจเพิ่ม ความเสี่ยงทำให้ตับเสียหาย รวมถึงอาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตามมาได้ด้วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพิทาวาสแตตินร่วมกับยา Colchicine ด้วยอาจส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อและไตของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามหรือหลีกเลี่ยงใช้ยาพิทาวาสแตตินร่วมกับยา Niacin ด้วยจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย และส่งผลต่อเนื่องสร้างความเสียหายกับไตจนอาจถึงขั้นไตวายและเสียชีวิตได้
  • การใช้ยาพิทาวาสแตตินร่วมกับยา Erythromycin เป็นข้อควรหลีกเลี่ยงด้วยจะ ทำให้ระดับยาพิทาวาสแตตินในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงของยาพิทาวาสแตตินสูงขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาพิทาวาสแตตินอย่างไร?

ควรเก็บยาพิทาวาสแตตินในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

พิทาวาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพิทาวาสแตตินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Livalo (ลิวาโล)Kowa

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Livazo, Pravachol, Prastatin,Pravator

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pitavastatin [2016,Dec17]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pitavastatin/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec17]
  3. https://www.drugs.com/ppa/pitavastatin.html [2016,Dec17]
  4. https://rsc.tech-res.com/docs/default-source/pi-list- doc/pi_pitavastatin(livalo)pi_oct2013.pdf?Status=Master&sfvrsn=2 [2016,Dec17]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/pitavastatin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Dec17]