พิการแต่กำเนิด เกิดแล้วต้องดูแล (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานนี้ นพ. วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2550 แสดงว่า ประเทศไทยมีคนพิการร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ที่ร้อยละ 1.8 อันเป็นผลมาจากแบบคัดกรองสำรวจที่เข้มข้นขึ้นจากเดิม

อย่างไรก็ตาม นพ. วิชัย กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีคนพิการทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน และยังมีผู้พิการที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนอีก 1 ล้านคน จากประมาณการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดังนั้น จึงหวังอย่างยิ่งว่า โครงการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดในเด็กทารกแรกเกิด ถึง 7 ขวบ เพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการและเติมเต็มช่องว่างให้แก่ผู้พิการให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

ความผิดปรกติทางกายภาพแต่กำเนิด (Congenital physical anomaly) เป็นความผิดปรกติของโครงสร้างส่วนหนึ่งของร่างกาย ความผิดปรกติดังกล่าวอาจจะเป็นหรือไม่เป็นปัญหา ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคน ผู้คนจำนวนมาก (ถ้าไม่ใช่ส่วนมาก) มีความผิดปรกติทางร่างกายไม่มากก็น้อย

ตัวอย่างของความผิดปรกติเล็กน้อยได้แก่ นิ้วที่ 5 หงิก หรือเหยียดนิ้วไม่ออก (Clinodactyly) มีหัวนมที่ 3 มีรอยตัดหรือรอยบากเล็กๆ ของผิวหนังใกล้ใบหูทั้งสองข้าง (Preauricular pits) ความสั้นกว่าปรกติของกระดูกฝ่ามือ (Metacarpal) หรือกระดูกฝ่าเท้า (Metatarsal) ข้อที่ 4 และรอยบุ๋มตามส่วนล่างของกระดูกสันหลัง (Sacral dimples) นอกจากนี้ ความผิดปรกติเล็กน้อยในบางกรณี อาจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความผิดปรกติภายในที่ร้ายแรงกว่า

ความพิการแต่กำเนิด (Birth defect) เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้สำหรับกายสันฐาณที่ผิดรูปร่างมาแต่กำเนิด (Congenital malformation) ซึ่งมีนัยสำคัญมากพอที่จะถือว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะเป็นความบกพร่องของโครงสร้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อมีหลายๆ ส่วนของร่างกายที่ผิดรูปร่าง จะเป็นกลุ่มอาการ (Malformation syndrome) หากทราบลำดับของกลุ่มอาการดังกล่าว ก็เรียกว่า Sequence

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) เชื่อว่า โรคพิการแต่กำเนิดมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน อันได้แก่ กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของบิดาและมารดา แม้ว่าในบางกรณีอาจไม่ทราบสาเหตุสภาวะพิการแต่กำเนิด อาทิ ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft palate)

ในบางสภาวะ เป็นเรื่องของวิวัฒนการที่ผิดปรกติของเนื้อเยื่อ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การเจริญเติบโตผิดปรกติ (Dysplasia) เป็นความผิดปรกติของระดับอวัยวะ เพราะปัญหาจากวิวัฒนการของเนื้อเยื่อ หรือในบางสภาวะอาจเกิดขึ้นหลังจากเนื้อเยื่อเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (Deformation) เป็นสภาะที่เกิดจากกลไกความกดดันต่อเนื้อเยื่อปรกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และอาจเกิดจากสภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) หรือสภาวะเนื้อเยื่อปรกติฉีกขาด (Disruption)

แหล่งข้อมูล:

  1. เผยคนไทยพิการ 1.8 ล้านคน เด็กพิการแต่กำเนิด 2.4-4 หมื่นคนต่อปี http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1328268363 [2012, February 6].
  2. Congenital disorder. http://en.wikipedia.org/wiki/Congenital_disorder [2012, February 6].