พาร์กินสัน:ตอนที่ 4 คล้ายพาร์กินสัน แต่ไม่ใช่

พาร์กินสัน-4


กลุ่มอาการที่มีลักษณะคล้ายกับโรคพาร์กินสันนั้นมีหลายกลุ่มอาการ และได้ผลการรักษาแตกต่างกับโรคพาร์กินสัน บางกลุ่มโรคผลการรักษาไม่ดี บางกลุ่มโรคผลการรักษาดีมาก ดังนั้นเราต้องมาติดตามดูครับ ว่ามีกลุ่มอาการอะไรบ้างที่คล้ายกับโรคพาร์กินสัน แต่ไม่ใช่พาร์กินสัน

กลุ่มอาการที่คล้ายกับโรคพาร์กินสัน (parkinsonism) คือ กลุ่มอาการที่มีลักษณะอาการผิดปกติ เช่น สั่น ช้า แข็งเกร็ง เดินไม่สะดวก ล้มง่าย โดยอาจมีอาการเพียงสองอาการหรือหลายๆ อาการ และการดำเนินโรคอาจเป็นแบบทันทีทันใด หรือค่อยๆ เป็นก็ได้ นอกจากนี้อาจมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ผมจะยกตัวอย่างที่พบได้บ่อยและควรต้องทราบไว้ เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ

  1. กลุ่มอาการที่เกิดจากยา (drug induced parkinsonism) ได้แก่ ยาที่ใช้รักษาอาการทางจิต ยาคลายเครียด ยานอนหลับบางชนิด ยาแก้วิงเวียนศีรษะ ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทั้ง 2 ข้างของแขน ขา ตัวแข็ง เป็นค่อนข้างรวดเร็วหลังจากทานยาดังกล่าว จะช้าลง ตัวแข็ง ทำอะไรช้า เดินช้า อาการสั่นจะไม่ค่อยเด่นมาก ถ้าหยุดยาอาการก็มักจะดีขึ้น และหายเป็นปกติ แต่บางรายก็อาจมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่หายทั้งหมด
  2. กลุ่มอาการที่เกิดจากมีรอยโรคในสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นขึ้นมาอย่างเร็ว มีอาการตัวแข็ง ช้า สั่น ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียว บางรายที่ค่อยๆ เป็นอาจพบทั้ง 2 ข้าง กรณีเป็นสมองขาดเลือดจากโรคหลอดเลือดขนาดเล็ก (small vessel disease) หรือเป็นโรคของเนื้อสมองส่วนสีขาว (white matter disease)
  3. กลุ่มอาการที่เกิดจากโพรงน้ำในสมองโตชนิดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะปกติ (normal pressure hydrocephalus) ผู้ป่วยจะมีอาการสมองเสื่อม เดินเซ ปัสสาวะราด อาการค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเวลาประมาณ 3-6 เดือน บางรายอาจถึง 1 ปี
  4. กลุ่มอาการที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง (neurodegenerative disease) มีอาการกลุ่มอาการคล้ายกับโรคพาร์กินสัน ร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตตกลงเมื่อเปลี่ยนท่าทางจากนอน นั่งเป็นยืน อาการของสมองน้อย (cerebellar) มีอาการเซ สั่นเมื่อตั้งใจทำ ผิดเป้าหมาย (intention tremor) อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่มีความต้องการทางเพศ เป็นต้น ภาวะนี้พบได้น้อยมาก
  5. กลุ่มอาการที่เกิดจากรอยโรคในสมอง บริเวณสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว (basal ganglion) ผู้ป่วยจะมีอาการสั่น ตัวแข็ง ช้าลง อาการอาจเป็นอย่างรวดเร็ว หรือค่อยๆ เป็นก็ได้ เป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ แต่มักจะต้องตรวจพบความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย

จะเห็นได้ว่ากลุ่มอาการที่คล้ายกับโรคพาร์กินสันมีหลากหลายสาเหตุ กลุ่มอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ จากยาที่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนคล้ายกับกลุ่มอาการพาร์กินสัน ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติ ก็ต้องค่อยๆ มาพิจารณาอาการผิดปกติ การดำเนินโรค ประวัติการใช้ยา การตรวจร่างกายที่ดี ก็สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคพาร์กินสันหรือกลุ่มอาการที่คล้ายพาร์กินสันครับ