พาร์กินสัน: ตอนที่ 2 รู้ได้อย่างไหรว่าเป็นพาร์กินสัน

พาร์กินสัน-2


“หมอครับ ผมสงสัยว่าพ่อผมจะเป็นโรคพาร์กินสัน ผมต้องพาพ่อไปตรวจเอมอาร์ไอหรือเปล่าครับ ผมกังวลใจ เพราะค่าตรวจก็แพงเป็นหมื่นๆ” ประโยคแบบนี้ ผมถูกถามเป็นประจำ คนไข้ก็สงสัยว่าหมอบอกเป็นพาร์กินสัน แต่ไม่เห็นหมอส่งตรวจเอมอาร์ไอเลย หรือลูกๆ ก็สงสัยว่าค่าตรวจแพงหรือเปล่า เพราะโรคสมองทุกโรคต้องส่งตรวจเอมอาร์ไอ จริงแล้วการบอกว่าใครเป็นโรคพาร์กินสันนั้น ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเลยครับ ลองติดตามเรื่องราวต่อไปนี้ครับ

บ่ายวันหนึ่งผมได้ออกตรวจผู้ป่วยระบบประสาทที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีผู้ป่วยรายหนึ่งถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง เพื่อให้แพทย์ระบบประสาทวินิจฉัยโรคที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว มีอาการมือสั่น ทำกิจกรรมต่างๆ ช้าลงไปมาก ในใบส่งตัวก็เขียนมาชัดเจนว่า “ต้องการปรึกษาการวินิจฉัยและแผนการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยต้องการพบแพทย์เฉพาะทาง” พอผมอ่านจดหมายส่งตัวแบบนี้ก็มีประเด็นครับ ประเด็นคือว่า ทำไมแพทย์ที่ส่งตัวต้องระบุว่า “ผู้ป่วยต้องการพบแพทย์เฉพาะทาง” แสดงว่าต้องมีอะไรที่เป็นประเด็นแน่ๆ ก่อนส่งตัวมา

ผมเริ่มขั้นตอนการสอบถามข้อมูล พบว่าผู้ป่วยมีประวัติของอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เป็นโรคพาร์กินสันแน่ชัดมาก คือ อาการมือสั่น ช้าลง เดินไม่สะดวกและเป็นเฉพาะข้างขวาเท่านั้น อาการค่อยๆ เป็นมาประมาณ 1 ปี ผู้ป่วยเองก็เคยมาพบแพทย์ที่คลินิกแพทย์เฉพาะทางแห่งหนึ่ง ก็บอกว่าเป็นโรคพาร์กินสัน เมื่อผู้ป่วยได้ทราบว่าเป็นพาร์กินสัน ก็ได้ยามาทานอาการก็ดีขึ้น แต่ได้หยุดยาไปเอง ไม่ได้รักษาต่อเนื่อง ต่อมาพบเพื่อนที่เป็นโรคพาร์กินสันเหมือนกัน เพื่อนจึงเล่าว่าได้มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์ได้ส่งตรวจเอมอาร์ไอ แล้วบอกว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ได้ยามาทานอาการดีขึ้นมาก ผู้ป่วยจึงกังวลใจว่าตนเองไม่ได้ตรวจเอมอาร์ไอ เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคพาร์กินสันจริงหรือไม่ จึงได้แจ้งกับแพทย์ที่ทำการรักษา เมื่อแพทย์ได้อธิบายแล้ว แต่ทางผู้ป่วยก็ยังยืนยันว่าจะตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและขอตรวจเอ็มอาร์ไอ จึงได้เกิดการส่งตัวผู้ป่วยมาพบผมในวันนี้

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ คือ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการวินิจฉัยโรค ซึ่งผมเองก็ว่าไม่แปลกครับ แต่ที่เป็นประเด็น คือ การไม่ยอมกลับไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเมื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ทั้งๆ ที่ได้แนะนำว่าการรักษาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาลใกล้บ้านก็เหมาะสมแล้ว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในหลายๆ ด้าน เช่น ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย เวลาในการเดินทาง รวมทั้งสูญเสียโอกาสในการใช้สิทธิ์การรักษา

ย้อนกลับมาที่วิธีการบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่นั้น สามารถทำการวินิจฉัยโดยการใช้ประวัติการเจ็บป่วยร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ก็สามารถบอกได้เลยครับ ไม่มีความจำเป็นต้องส่งตรวจเลือดหรือเอกซเรย์หรือเอ็มอาร์ไอเพิ่มเติมเลยครับ เมื่อให้การวินิจฉัยได้ ก็ให้การรักษาได้เลย ซึ่งการรักษาด้วยยาก็จะยังช่วยสนับสนุนว่าเป็นโรคพาร์กินสันจริงด้วย เพราะผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้นจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาดีมาก ดังนั้นถ้าเป็นโรคพาร์กินสันจริงๆ ก็จะตอบสนองดีมากๆ หลังจากได้ยาไป

เชื่อผมเถอะครับ การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันนั้นไม่ต้องตรวจเอมอาร์ไอครับ แค่เดินเข้ามาให้หมอตรวจก็ให้การรักษาได้เลยครับ